โดนหักอก 'เยียวยาใจ' นานแค่ไหนถึงจะหาย

โดนหักอก 'เยียวยาใจ' นานแค่ไหนถึงจะหาย

มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งบอกว่า คนเราใช้เวลาเกือบ 3 เดือน "เยียวยาใจ" ในการฟื้นตัวหลังจากโดนหักอก กลับมามีชีวิตปกติได้ แต่อย่างไรก็ตามไม่มีสูตรสำเร็จในเรื่องนี้

เวลาคนอกหัก มักจะได้รับคำปลอบใจว่า เวลาจะช่วยรักษาแผลใจให้เอง

แต่เคยสงสัยกันบ้างไหมครับว่า คนเราใช้เวลามากน้อยเพียงใดในการ “เลียแผลใจ” หลังจากโดนหักอก จากประสบการณ์ส่วนตัวของแต่ละคน เราใช้เวลามากหรือน้อยกว่าคนทั่วๆ ไปแค่ไหนกัน มีงานวิจัยอะไรทำนองนี้อยู่บ้างหรือไม่

ฝรั่งบางคนมีความเชื่อแปลกๆ เช่น เวลาที่ต้องใช้เยียวยาใจจะต้องยาวเป็นครึ่งหนึ่งของเวลาที่ใช้สร้างสัมพันธภาพ (ยาวตายชักเลยบางที!) ส่วนบางคนก็เชื่อว่าแค่เดือนเดียวทุกอย่าง ก็จบแล้ว

เรื่องพวกนี้มีความจริงอยู่บ้างหรือไม่ และจะแปลกใจไหมครับ ถ้าผมบอกว่า นักวิจัยระบุเวลาได้เลยว่า คนเราส่วนใหญ่อกหักอยู่นานแค่ไหน?

เรื่องหนึ่งที่ไม่ต้องทำวิจัย แต่ก็น่าจะมั่นใจได้คือ แต่ละคนอาจจะใช้เวลารักษาหัวใจไม่เท่ากันหรอกครับ โดยเฉพาะยุคนี้มีเฟซบุ๊ค มีอิสตาแกรม ฯลฯ เห็นแฟนเก่าไปเที่ยวไหนต่อไหนกับแฟนใหม่ มันทิ่มตำใจซ้ำซาก ให้หายยากขึ้นไปอีก

มีงานวิจัยชิ้นหนึ่ง (The J. Positvie Psych. (2007), 2(1), 40-54) ที่ทำในนักศึกษาระดับปริญญาตรีรวม 155 คน ซึ่งเพิ่งอกหักมาหมาดๆ พบว่า มีอยู่ราว 71 เปอร์เซ็นต์ที่ใช้เวลา 11 สัปดาห์หรือราวๆ เกือบ 3 เดือน ในการฟื้นตัวหลังจากโดนหักอก กลับมามีชีวิตประจำวันตามปกติได้

วิธีการวัดว่า หายอกหักแล้ว ก็คือ วัยรุ่นพวกนี้ตอบแบบสอบถามแสดงให้เห็นมุมบวกในชีวิต และแสดงความพร้อมจะเดินก้าวหน้าต่อไป

แต่อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันหรืออาจจะยิ่งกว่าตัวเลข 11 สัปดาห์ ที่สรุปได้จากงานวิจัยชิ้นเดียวกันนี้ ก็คือ คนที่บอกเลิกก็ใช้เวลาในการทำใจนาน 11 สัปดาห์เหมือนกัน เรียกว่าบาดเจ็บกันและเสียหายไปเท่าๆ กันไปทั้งสองฝ่าย แต่อันนี้คงไม่นับคนบอกเลิกที่มีคนใหม่รออยู่แล้ว และคบซ้อนมาก่อนหน้านั้นนะครับ

เพราะกรณีหลังนี่ อาจจะกระดี้กระด้า จนไม่มีเวลามานั่งเสียใจ

แต่รู้แบบนี้ไป ก็ยังมีประโยชน์น้อยมาก เรื่องที่ควรรู้อาจจะเป็นว่า มีวิธีการอย่างไรหรือไม่ ที่จะทำให้ตั้งหลักชีวิตได้เร็วขึ้น เพราะเรื่องหนึ่งที่รู้กันทั่วไปและยอมรับกันแล้วก็คือ พวกที่มีปัญหาต้องแยกกันอยู่หรือหย่าร้าง จะนำไปสู่ปัญหาเรื่องสุขภาพตามมา?

มีการทดลองที่น่าสนใจ (Clin. Psych. Sci. (2013), 1(2), 120-134) ที่ทดลองในชายหญิงรวม 90 คน (เป็นชาย 32 คน) ที่เพิ่งแยกทางกับคู่ของตัวเอง โดยนักวิจัยบอกให้ผู้เข้าร่วมทดลองเขียนบันทึกบรรยายเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตประจำวัน โดยกลุ่มควบคุมจะให้เขียนบันทึกแห้งๆ เกี่ยวกับชีวิตประจำวันว่า ทำอะไรบ้างเท่านั้น เช่น กินอะไรเป็นอาหารเช้า ต้องออกไปตักหิมะ กรอกข้อมูลเสียภาษี ฯลฯ ไม่ให้บรรยายหรือรำพึงรำพันอะไรมากมาย

หลังจากผ่านไป 9 เดือน นักวิจัยพบว่า คนที่มีแนวโน้มที่จมอยู่กับปัญหา คิดซ้ำๆ เรื่องความทุกข์ยากของตัวเอง หากกล่าวถึงเรื่องการแยกทางของตัวเองก็จะเขียนบรรยายอย่างว้าวุ่นใจมากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างเห็นได้ชัด

จึงมีคำแนะนำว่า ให้เลิกคิดซ้ำซากกับเรื่องในอดีตเสีย และอยู่กับเหตุการณ์ต่างๆ ในปัจจุบันให้มากขึ้น วิธีการแบบนี้เองที่จะช่วยรักษาแผลใจให้สมานรวดเร็วมากยิ่งขึ้นได้

แต่นี่อาจไม่ใช่คำตอบแบบเดียว หรือเป็นเรื่องง่ายๆ ที่ทำได้ทุกคน ยังมีคำแนะนำที่สวนทางกับแบบนี้อยู่อีกวิธีหนึ่ง กล่าวคือ งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง (Soc. Psych. & Person. Sci (2015), 6(4), 399–406) จากคณะนักวิจัยกลุ่มเดียวกัน กลับแสดงว่าการพูดคุยเพื่อปลดปล่อยความโศกเศร้าเสียใจ หากทำมากกว่าจะช่วยเรื่องจิตใจมากกว่า

การทดลองมีวิธีการแตกต่างออกไปดังนี้ครับ เค้าเลือกผู้เข้าทดลองเป็นหนุ่มสาวที่เพิ่งแยกทางรวม 210 คน โดยทุกคนจะต้องเข้าไปพูดคุยและทำแบบประเมินต่างๆ กับทางคณะนักวิจัยรวม 4 ครั้งในรอบ 9 สัปดาห์ สิ่งที่พบก็คือ ในกลุ่มที่ใช้เวลาในการพูดคุยปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องการแยกทางมากกว่า จะเกิดความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นมากกว่ากลุ่มที่ทำน้อยกว่า

กล่าวคือคนที่มาปรึกษา 4 ครั้งและใช้เวลารวมกันราว 3.5 ชั่วโมง จะมีอาการดีขึ้นอย่างชัดเจน เมื่อเทียบกับอีกกลุ่มหนึ่งที่มีโอกาสมาได้แค่ 2 ครั้ง รวมเวลาเฉลี่ยแค่ 45 นาที

สรุปสั้นๆ ว่าคนที่ยิ่งมาพบเพื่อทำแบบประเมินและคุยปรึกษา จะยิ่งรู้สึกเปล่าเปลี่ยวน้อยกว่าและทำใจได้ พร้อมจะพัฒนาความสัมพันธ์ครั้งใหม่มากกว่า

บางคนอาจจะสงสัยว่า ผลการทดลองทั้ง 2 เรื่องที่เล่ามาดูเหมือนจะขัดๆ กันอยู่ เรื่องแบบนี้จะเป็นไปได้อย่างไร?

คณะนักวิจัยอธิบายว่า นี่เป็นผลจากความแตกต่างด้านอุปนิสัยใจคอของผู้เข้าร่วมการทดลอง คนที่วันๆ เอาแต่ถามตัวเองซ้ำซากว่า ทำไม ทำไม ทำไม การจมจ่อมอยู่กับการคิดเรื่องอดีตย่อมไม่ช่วยอะไรแน่ ในกรณีนี้ก็ให้หาอะไรทำ แล้วพยายามจดจ่อกับสิ่งนั้นแทน

ส่วนคนอีกพวกหนึ่งนั้น หากได้พูดคุยและปรึกษาแบบตรงไปตรงมาและเป็นกลาง แต่ไม่พยายามใส่อารมณ์ดราม่ากับเหตุการณ์ที่ผ่านไปแล้ว ก็อาจจะตั้งหลักคิดได้และหาทางฟื้นฟูตัวเอง โดยไม่ต้องทำตัวจ่อมจมอยู่กับความคิดและอารมณ์ในด้านลบได้เช่นกัน

การเยียวยาหัวใจจากอาการอกหัก จึงอาจจะไม่มีสูตรสำเร็จเพียงสูตรเดียวที่ดีสำหรับทุกคน

แต่ให้จำไว้ว่ายิ่งหายจากรักคุดเร็วเท่าใด ก็ยิ่งดีกับตัวคุณเองมากขึ้นเท่านั้น!