ศาลไต่สวน 'สายสีส้ม' วันนี้ BTS-รฟม. สู้ไม่ถอย

ศาลไต่สวน 'สายสีส้ม' วันนี้ BTS-รฟม. สู้ไม่ถอย

โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)

เอกชนผู้ชนะจะได้รับสิทธิ์ในการก่อสร้างงานโยธา ฝั่งบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมฯ หรือที่เรียกว่าฝั่งตะวันตก ยิ่งไปกว่านั้นจะได้รับสิทธิ์ในการบริหารงานเดินรถ ตลอดเส้นทางบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมฯ ระยะทาง 35.9  กิโลเมตร ระยะเวลา 30 ปี รวมมูลค่าโครงการสูงถึง 1.2 แสนล้านบาท

นับเป็นการประมูลโครงการรถไฟฟ้าอีกหนึ่งเส้นทางที่ต้องจับตามองมากที่สุดในขณะนี้ เพราะไม่เพียงมูลค่าโครงการที่สูง แต่หมายถึงการเปิดศึกของเอกชนเพื่อชิงสัมปทานเดินรถไฟฟ้า เชื่อมต่อยุทธศาสตร์ขนส่งทางรางในจุดสำคัญของกรุงเทพมหานคร สามารถขนผู้โดยสารจากฝั่งตะวันออก และฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ เข้ามายังพื้นที่ชั้นในได้

แต่แล้วศึกโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม วันนี้เรียกได้ว่าวันนี้เกิดขึ้นก่อนกำหนดเปิดรับซองประมูลเสียอีก เมื่อ รฟม.เจ้าของโครงการ ประกาศเปลี่ยนหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชน กลางคัน !! ภายหลังปิดขายซองข้อเสนอโครงการ หรือ RFP เมื่อวันที่ 24 ก.ค.2563 ผลปรากฏว่ามีเอกชนซื้อซองเอกสารรวม 10 ราย

โดยหลังจากนั้น 21 ส.ค. 2563 คณะกรรมการตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562 ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี มีมติอนุมัติให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การพิจารณาให้นำคะแนนข้อเสนอด้านเทคนิคมาเป็นเกณฑ์ประเมินรวมกับการเงินด้วยในสัดส่วน 30% ปรับจากเดิมที่กำหนดหลักเกณฑ์ประเมินด้านการเงิน 100%

ด้วยเหตุของการเปลี่ยนหลักเกณฑ์กลางคันเช่นนี้ นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส หนึ่งในเอกชนผู้ซื้อเอกสาร RFP ได้ออกมาเปิดเผยว่า บีทีเอสเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวสร้างความไม่เป็นธรรมและตั้งข้อสังเกต 2 เรื่อง คือ

  • 1.ไม่แน่ใจว่าการดำเนินการของคณะกรรมการตาม ม.36 ที่เปลี่ยนเกณฑ์ตัดสิน ในทางกฎหมายสามารถทำได้หรือไม่ เนื่องจากโครงการนี้ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว
  • 2.การเปลี่ยนหลักเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกเอกชนภายหลังขายซองแล้ว เมื่อเอกชนทุกรายทราบว่ามีคู่แข่งรายใดเข้าซื้อซองก็เกิดเป็นข้อได้เปรียบเสียเปรียบ และขณะนี้จะหาพันธมิตรเพิ่มเพื่อแข่งขันก็ลำบาก

นอกจากนี้ ใน RFP ยังมีการกำหนดส่วนสำคัญ คือผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องมีคุณสมบัติมีประสบการณ์ขุดเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้ารัศมีไม่ต่ำกว่า 5 เมตร รวมทั้งยังมีหมายเหตุระบุด้วยว่า ผลงานและประสบการณ์ในไทย จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ ซึ่งหาก รฟม.ใช้หลักเกณฑ์เดิม คือผ่านและไม่ผ่าน ก็จะไม่เกิดข้อได้เปรียบเสียเปรียบ แต่หากมีการกำหนดคะแนน บีทีเอสก็เกรงว่าจะเกิดข้อได้เปรียบเสียเปรียบ เพราะในไทยมีเอกชนที่มีประสบการณ์ตรงขุดเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้า โดยเฉพาะอุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยาไม่กี่ราย

โดยบีทีเอสได้ยื่นหนังสือต่อศาลปกครองเพื่อขอคุ้มครองฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา ในกรณีที่ รฟม.เปลี่ยนเงื่อนไขหลักเกณฑ์และขอให้กลับมาใช้หลักเกณฑ์เดิม เพื่อความโปร่งใสและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

ด้านนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ให้เหตุผลของการปรับหลักเกณฑ์ครั้งนี้ว่า เนื่องด้วยโครงการนี้มีแนวเส้นทางผ่านจุดอ่อนไหวอย่างการข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา และพื้นที่ในเมืองที่ผ่านเขตเมืองเก่า ดังนั้น รฟม.มีความจำเป็นต้องพิจารณาให้คะแนนด้านเทคนิค เพื่อความปลอดภัยของงานก่อสร้าง และยืนยันว่าผู้รับเหมางานโยธาไม่จำเป็นต้องซื้อซอง ดังนั้นเอกชนสามารถจ้างผู้รับเหมาช่วง (ซับคอนแทรค) ได้ 

160217407030

อย่างไรก็ดี รฟม.ยืนยันถึงการปรับหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชนในครั้งนี้ เป็นสิทธิ์ที่คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 สามารถดำเนินการได้ และเป็นไปตามข้อกำหนดใน พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 โดยจากการปรับหลักเกณฑ์ครั้งนี้ ดำเนินการก่อนเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอ และยังไม่ส่งผลเสียหายต่อเอกชนรายใด ไม่ก่อให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ

“เรามั่นใจว่าจะชนะคดีนี้ เนื่องจากตามปกติแล้ว ศาลจะพิจารณาจากผู้ที่ได้รับความเสียหาย แต่ในกรณีนี้บีทีเอสยังไม่ได้เป็นผู้เสียหาย เพราะยังไม่ได้มีการยื่นประมูล”

จากคำกล่าวของผู้บริหารทั้งสองฝ่าย กระบวนการศาลเท่านั้นที่จะเป็นผู้ตัดสินชี้ขาด โดยวันนี้ (14 ต.ค.) ศาลปกครองกลาง ได้นัดไต่สวนทั้งฝ่ายผู้ฟ้องคดี (บีทีเอส) และฝ่ายผู้ถูกฟ้องคดี (รฟม.) ซึ่งหากกระบวนการศาลตัดสินให้โครงการเดินหน้า รฟม.ก็เผยถึงความพร้อมด้วยว่า จะเปิดรับข้อเสนอ 9 พ.ย.นี้ เริ่มเปิดศึกประมูล ..

สำหรับเอกชนซื้อเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุนฯ จำนวนทั้งสิ้น 10 ราย ดังนี้ 

  1. บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
  2. บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
  3. บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)
  4. บริษัท ซิโน–ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)
  5. บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)
  6. บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
  7. บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน)
  8. บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)
  9. ซิโนไฮโดร คอร์ปอเรชั่น ลิมิเต็ด
  10. บริษัท วรนิทัศน์ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด