"กมธ.ปราบโกง" ใส่เกียร์เดินหน้าตรวจสอบ ชี้ คำวินิจฉัยศาลรธน.ไม่มีผลกระทบ

"กมธ.ปราบโกง" ใส่เกียร์เดินหน้าตรวจสอบ ชี้ คำวินิจฉัยศาลรธน.ไม่มีผลกระทบ

หลังศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย การใช้คำสั่งเรียกของกมธ. และบทลงโทษผู้ไม่ให้ความร่วมมือ ว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ กมธ.ปราบโกง สภาฯ ได้หารือและสรุปเดินหน้าทำงานเต็มที่ ไม่ด้อยประสิทธิภาพ

              นายจารึก ศรีอ่อน ส.ส.จันทบุรี พรรคพลังท้องถิ่นไท  ฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่าในการประชุมกมธ.ฯ วันนี้ (8 ตุลาคม) ได้หารือต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ให้ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา พ.ศ.2554   จำนวน 3 มาตรา คือ มาตรา 5 ว่าด้วยอำนานจของกมธ.ออกคำสั่งเรียกเอกสารจากบุคคลหรือให้บุคคลแถลงข้อเท็จจริงหรือความเห็น,  มาตรา 8 ขั้นตอนการออกคำสั่งเรียก และมาตรา 13 บทกำหนดโทษผู้ที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกของกมธ.   มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 129  โดยที่ประชุมเห็นร่วมกันว่า อำนาจของกมธ.ฯ​ต่อการเชิญบุคคล หรือขอเอกสารตรวจสอบนั้นยังทำได้ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 129 เพียงแต่การเชิญบุคคลหรือขอเอกสารนั้นไม่มีสภาพบังคับ ทำให้อาจไม่ได้รับความร่วมมือต่อการชี้แจงข้อเท็จจริงภายในกมธ.ฯ  เพราะบทลงโทษตามที่เขียนไว้ในพ.ร.บ.คำสั่งเรียกไม่สามารถใช้บังคับได้ และกมธ.ฯ​เห็นร่วมกันว่า การทำงานของกมธ.ฯ ยังเดินหน้าตรวจสอบได้ต่อไปได้ทุกเรื่อง

              นายจารึก กล่าวด้วยว่าการทำงานของกมธ.​ที่ผ่านมาไม่เคยมีการขอมติกมธ.เพื่อใช้คำสั่งเรียกบุคคลชี้แจงกับที่ประชุม แม้จะเคยมีกรณีที่พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย ฐานะประธานกมธ.ฯ​จะขอมติจากที่ประชุมใช้ม เรียก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แต่ส.ส.ฝั่งรัฐบาลไม่ยินยอม ทำให้เรื่องดังกล่าวไม่เคยเกิดขึ้น และการทำงานของกมธ.ที่ผ่านมา ได้รับความร่วมมือจากส่วนราชการ หน่วยงานต่างๆ เป็นอย่างดี จึงเชื่อว่าการทำงานต่อจากนี้ด้านการตรวจสอบหน่วยงานรัฐจะไม่เป็นปัญหา แต่สำหรับการเชิญเอกชนที่เป็นคู่สัญญาจากรัฐ อาจจะมีปัญหาเพราะไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดบังคับให้เขาใหัความร่วมมือกับกมธ.ฯ ได้ 
            
 

              “กมธ. ยังเดินหน้าตรวจสอบภาครัฐ หน่วยงานรัฐ การจัดซื้อจัดจ้างที่ปฏิบัติมิชอบได้ รวมถึงสอบจริยธรรม คุณธรรม ของบุคคลต่างๆ รวมถึง ส.ส.ได้ แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยให้ บทลงโทษในพ.ร.บ.คำสั่งเรียก ไม่มีผลใช้บังคับ แต่เชื่อว่าจะไม่ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของกมธ. ลดลง อีกทั้งการตรวจสอบเรื่องต่างๆ หากหน่วยงานรัฐไม่มาชี้แจง เท่ากับว่าไม่สามารถแก้ข้อกล่าวหาได้ กมธ.ฯ​จึงมีสิทธิส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบได้ หรือกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่ใหัความร่วมมือ กมธ.มีสิทธิทำเรื่องถึงประธานสภาฯ แจ้งไปยังผู้บังคับบัญชาให้ดำเนินการตรวจสอบพฤติกรรมได้” นายจารึก กล่าว

              ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในที่ประชุม ได้มอบหมายให้ นายอรัญ พันธุมจินดา เลขานุการประจำกมธ.ฯ ทำบทสรุปของอำนาจกมธ. ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับอำนาจ โดยสรุป ว่า คำวินิจฉัยยของศาลรัฐธรรมนูญไม่มีผลกระทบต่ออำนาจ และการทำงานของกมธ.ฯ​ต่อการเรียกบุคคลหรือขอเอกสารจากหน่วยงานรัฐยังสามารถทำได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 129 และมีบทบังคับให้รัฐมนตรีที่เป็นผู้บังคับบัญชาเจ้าหน้าที่รัฐที่กมธ.ฯ ทำหนังสือเชิญชี้แจงหรือขอเอกสาร ต้องสั่งการให้เจ้าหน้าที่ทำคำชี้แจงหรือส่งเอกสารให้ตรวจสอบ และการใช้อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติเพื่อตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจของฝ่ายบริหารตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 129 ยังมีผลสมบูรณ์ทุกประการ 
              ขณะที่มาตราอื่นๆ ของพ.ร.บ.คำสั่งเรียกฯ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้วินิจฉัยว่ามีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ​ยังมีผลใช้บังคับ เช่น มาตรา 15 ว่าด้วยการลงโทษบุคคลที่ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของกมธ.ฯ ที่ให้จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ   ยังมีผลใช้บังคับ.