ชวนรู้จัก 'กฐินหลวง' และ 'กฐินพระราชทาน' แตกต่างกันอย่างไร

ชวนรู้จัก 'กฐินหลวง' และ 'กฐินพระราชทาน' แตกต่างกันอย่างไร

ถัดจาก "วันออกพรรษา" ก็เข้าสู่ฤดูกาลแห่งงานทอด "กฐิน" หรือการถวาย "ผ้ากฐิน" แด่พระสงฆ์ ซึ่งเป็นการทำทานให้พระสงฆ์มีผ้าไตรจีวรสำหรับนุ่งห่มอย่างเพียงพอ โดยกำหนดให้ทอดกฐินได้ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12

ตามประเพณีของชาวพุทธหลังจาก  "วันออกพรรษา"  ก็จะเข้าสู่ฤดูกาลการทำบุญครั้งใหญ่อย่างการถวาย "ผ้ากฐิน" แด่พระสงฆ์ เพื่อให้พระสงฆ์มีผ้าไตรจีวรหุ่งห่มอย่างพอเพียง โดยลักษณะของกฐินก็มีอยู่หลายประเภท โดยเฉพาะ "กฐินหลวง" และ "กฐินพระราชทาน" ที่กำลังจะเกิดขึ้นทั่วประเทศในช่วงเดือนตุลาคม 2563 นี้ เชื่อว่าคนไทยหลายคนอาจจะยังไม่รู้จักกฐินทั้งสองประเภทนี้มากนัก

วันนี้ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ มีเรื่องราวน่ารู้เกี่ยวกับความสำคัญและที่มาของประเพณี "ทอดกฐิน" รวมถึงลักษณะเฉพาะของ "กฐินหลวง" และ "กฐินพระราชทาน" ว่ามีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรบ้าง? ตามมาดูทางนี้..

  • ทำไมต้อง "ทอดกฐิน" หลังวันออกพรรษา? 

หากย้อนกลับไปดูในพุทธประวัติและพุทธบัญญัติต่างๆ ของพระพุทธเจ้า จะพบว่าการถวาย "กฐิน" นั้นเป็นการบริจาคทานที่ถูกสืบทอดกันมายาวนาน เป็นการถวายทานที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ในคัมภีร์พระวินัยปิฎก ชื่อมหาวัคค์ เรื่อง กฐินขันธกะ (หมวดว่าด้วยกฐิน)

160215786121

มีตำนานเล่าว่า  ครั้งหนึ่งมีภิกษุจากเมืองปาฐา จำนวน 30 รูป เดินทางมาแรมไกล หวังว่าจะเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าซึ่งประทับอยู่ ณ พระเชตวัน เมืองสาวัตถี ระหว่างทางขณะที่ถึงเมืองสาเกตุ  (อีก 6 โยชน์จะถึงเมืองสาวัตถี)  ก็ถึงกาลเข้าพรรษา จึงต้องอยู่จำพรรษา ณ เมืองสาเกตุ ไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ ในระหว่างจำพรรษาอยู่นั้นก็มีความกระวนกระวายในการอยากจะเข้าเฝ้า

ครั้นเมื่อออกพรรษา ก็รีบเดินทางไปยังเมืองสาวัตถีเพื่อเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคทันที ทำให้โคลนตมเปรอะเปื้อนจีวรในระหว่างเดินทาง เมื่อภิกษุเหล่านั้นได้เข้าเฝ้า  พระพุทธองค์ก็ได้ทรงปฏิสันถารด้วยภิกษุเหล่านั้น และทรงทราบถึงความลำบากของภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น จึงทรงยกเป็นเหตุมีพระพุทธานุญาตให้ "กรานกฐิน" และโปรดให้เป็นสังฆกรรมสำหรับภิกษุทั้งหลายทั่วไป ในระยะเวลาภายหลังวันออกพรรษาแล้ว 1 เดือน (ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12)

  • "ผ้ากฐิน" คืออะไร?

ผ้ากฐิน เป็นผ้าใหม่ก็ได้ ผ้ากลางเก่ากลางใหม่ก็ได้ ผ้าเก่าหรือผ้าบังสุกุลก็ได้ แต่ผ้าเหล่านี้จะต้องมีพอที่จะทำไตรจีวรผืนใดผืนใดผืนหนึ่ง (ผ้าไตรจีวร ของพระสงฆ์มี  3 ผืน คือ สบง = ผ้านุ่ง, จีวร =  ผ้าห่ม, และสังฆาฏิ  =  ผ้าซ้อนห่ม หรือผ้าพาด) ผ้านี้คือผ้าองค์กฐิน ส่วนสิ่งของอื่นๆ ไม่ใช่องค์กฐิน แต่เป็นบริวารกฐิน บริวารกฐินนี้จะมีมากหรือน้อยก็ได้ไม่มีกำหนด แล้วแต่ตามศรัทธาของผู้ถวาย

160215786043

  • ลักษณะของ "กฐิน" มีกี่ประเภท? อะไรบ้าง?

สำหรับลักษณะของกฐินนั้นมีอยู่ด้วยกัน 3 ประเภท คือ กฐินหลวง  กฐินพระราชทาน และกฐินราษฎร์ (กฐินทั่วไป) โดยแต่ละประเภทมีลักษณะแตกต่างกัน ดังนี้

1. กฐินหลวง

เป็นพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นพุทธมามกะและเอกอัครพุทธศาสนูปถัมภก พระองค์จะเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินด้วยพระองค์เอง หรือทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระราชินี พระราชโอรส  พระราชธิดา เสด็จพระราชดำเนินทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์

รวมทั้งพระกฐินที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ ราชสกุล องคมนตรี หรือผู้ที่ทรงพระราชดำริเห็นสมควรให้เสด็จฯ แทนพระองค์นำไปถวายยังพระอารามหลวงสำคัญ 16 พระอาราม ที่สงวนไว้ไม่ให้มีการขอพระราชทาน ได้แก่

1. วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

2. วัดอรุณราชวราราม

3. วัดราชโอรสาราม

4. วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม

5. วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม

160215786087

6. วัดบวรนิเวศวิหาร

7. วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

8. วัดสุทัศนเทพวราราม

9. วัดราชาธิวาส

10. วัดมกุฏกษัตริยาราม

11. วัดเทพศิรินทราวาส

12. วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ จังหวัดนครปฐม 

13. วัดพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม

14. วัดนิเวศธรรมประวัติ อำเภอบางปะอิน

15. วัดสุวรรณดาราราม ราชวรวิหาร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

16. วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก

160215786093           ที่มาภาพ: www.m-culture.go.th

2. กฐินพระราชทาน

เป็นพระกฐินที่มี ผ้าพระกฐิน บริขาร และบริวารกฐิน เป็นของหลวง แต่เปิดโอกาสให้ส่วนราชการ องค์กร  หรือบุคคลที่สมควร  ขอรับพระราชทานอัญเชิญไปถวายยังพระอารามหลวงต่างๆ นอกจากพระอารามหลวงสำคัญ  16 แห่งข้างต้น พระอารามดังกล่าวรัฐบาลโดยกรมการศาสนาเป็นผู้จัดหาผ้าพระกฐิน และบริวารพระกฐิน (ปัจจุบันมีจำนวน 265 พระอาราม มีรายชื่อตามบัญชีพระอารามหลวง)

ซึ่งส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ สมาคม บริษัทห้างร้าน และบุคคลทั่วไป จะต้องยื่นความจำนงขอพระราชทานผ่านไปยังกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม และเมื่อถึงกำหนดกฐินกาลก็ติดต่อขอรับ ผ้าพระกฐินและบริวารพระกฐินจาก กองศาสนูปถัมภ์ กรมการศาสนา  เพื่อนำไปทอดกฐิน  ณ พระอารามที่ขอรับพระราชทานไว้

เมื่อทอดถวายเรียบร้อยแล้วผู้ขอรับพระราชทานจะต้องจัดทำบัญชีรายงานถวายพระราชกุศลในการถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน  ส่งไปยัง กรมการศาสนา  เพื่อจะได้จัดทำบัญชีรายชื่อผู้ขอรับพระราชทานผ้าพระกฐิน ส่งไปยัง สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เพื่อแจ้งให้สำนักราชเลขาธิการนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท เพื่อถวายพระราชกุศลในการที่หน่วยงาน องค์กร หรือบุคคลทั่วไป อัญเชิญผ้าพระกฐินไปถวาย  ณ  อารามนั้น

160215786131       ที่มาภาพ : culture.ssru.ac.th

3. กฐินราษฎร์ (กฐินทั่วไป)

เป็นการถวายผ้ากฐินที่พุทธศาสนิกชนทั่วไป มีความประสงค์จะนำไปถวายแด่พระสงฆ์ที่จำพรรษาถ้วนไตรมาส ณ วัดใดวัดหนึ่งที่เป็นวัดราษฎร์ (ไม่ใช่พระอารามหลวง) ซึ่งผู้ที่มีความประสงค์จะทำบุญทอดกฐิน ณ  วัดใดวัดหนึ่ง (แต่ถ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ถวายผ้าพระกฐิน แด่พระสงฆ์ที่จำพรรษาถ้วนไตรมาส ในวัดราษฎร์ จะเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “พระกฐินต้น”)  

160215786017

----------------------

อ้างอิง : 

www.dmcr.go.th

www.m-culture.go.th