พัฒนาปฐมวัยด้วยกระบวนทัศน์ใหม่ ‘ผู้นำในตัวฉัน’

พัฒนาปฐมวัยด้วยกระบวนทัศน์ใหม่ ‘ผู้นำในตัวฉัน’

พ่อแม่หลายคนความคาดหวังให้ลูกในวัยอนุบาล ไปโรงเรียนอย่างมีความสุข มีความรับผิดชอบ กล้าแสดงออก มีวินัย และเอื้อเฟื้อ ซึ่งจุดสำคัญที่จะทำให้เด็กมีทักษะดังกล่าว คือการทำให้เด็กรู้สึกถึงการมีภาวะการเป็นผู้นำในตัวเอง

อุปสรรคและความท้าท้ายในการพัฒนาเด็ก คือ หลายครั้งที่ครูไม่มีโอกาสปลดปล่อยศักยภาพที่มี เนื่องจากต้องรอผู้อำนวยการ ขณะที่ความเข้าใจของผู้ปกครองยังต้องการให้เด็กอ่านออกเขียนได้ แต่ความจริงแล้ว ใน 0-6 ปี เป็นช่วงเวลาที่สมองกำลังฟอร์มตัวซึ่งต้องพัฒนาตัวเองไปยัง 4 มิติของชีวิต แต่ก็ใช่ว่าวิชาการจะไม่สำคัญเสียทีเดียว

ยุวเรศ ภูมิวัฒน์ ที่ปรึกษาอาวุโส บริษัทแพคริม เอ็ดดูเคชั่น จำกัด และผู้เชี่ยวชาญกระบวนการ Leader in me  กล่าวในงานเสวนาออนไลน์ “พัฒนาปฐมวัยด้วยกระบวนทัศน์ใหม่-ผู้นำในตัวฉัน (Leader in Me)” ว่า Stephen R.Covey ผู้เขียนหนังสือ 7 habits of highly effective people (7 อุปนิสัย สำหรับผู้ทรงประสิทธิผลยิ่ง) ได้ให้ความหมายของภาวะผู้นำว่า เป็นเรื่องวิสัยทัศน์ที่จะนำพาทุกคนไปถึงเป้าหมาย เป็นการสร้างความไว้ใจ การสื่อให้ผู้อื่นเห็นว่าเขาคือคนที่มีศักยภาพในตัวเองอย่างชัดเจน จนรู้ว่าตัวเองมีคุณค่า นักเรียนทุกคน เป็นผู้นำได้ มีศักยภาพ และเปลี่ยนแปลงได้ด้วยตัวเอง

ดังนั้น ในการพัฒนาเด็ก ครูควรปล่อยให้นักเรียนสามารถแสดงศักยภาพด้วยตัวเอง และพัฒนาสมอง ร่างกาย จิตใจ จิตวิญญาณ ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ต้องอาศัย “7 อุปนิสัย” (7 habits) เพื่อก้าวสู่ศตวรรษที่ 21

7 อุปนิสัย สู่การพัฒนาภาวะผู้นำ

  • อุปนิสัยที่ 1 นักเรียนเลือกได้ และต้องมีความรับผิดชอบ
  • อุปนิสัยที่ 2 นักเรียนมีเป้าหมาย และวางแผนอย่างเป็นระบบ ในการมาโรงเรียน
  • อุปนิสัยที่ 3 มีวินัย จัดลำดับความสำคัญ เด็กอนุบาลสามารถบอกได้ว่าใส่ถุงเท้าก่อนใส่รองเท้า ทำการบ้านก่อนค่อยเล่น ส่วนครู สามารถวางแผนอย่างเป็นระบบ เป็นการจัดการให้แข็งแรง
  • อุปนิสัยที่ 4 การทำงานร่วมกับผู้อื่น ชนะไปด้วยกัน ด้วยการช่วยเหลือ เช่น ให้เพื่อนยืมยางลบ ช่วยครูได้ หรือช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน
  • อุปนิสัย 5 มีความเคารพผู้อื่น กล้าหาญ เข้าอกเข้าใจผู้อื่น
  • อุปนิสัยที่ 6 มีความคิดสร้างสรรค์ ร่วมมือ ทำงานร่วมกันเป็นทีม
  • อุปนิสัยที่ 7 เติมพลังให้ตัวเอง พัฒนาต่อเนื่อง

ในด้าน โรงเรียน หากองค์กรแข็งแรง มีวัฒนธรรมที่ส่งเสริมภาวะผู้นำ จะทำให้ทักษะชีวิตแข็งแรง และทักษะวิชาการแข็งแรงเช่นกัน  ทั้งนี้ หลักกระบวนผู้นำในตัวฉัน ไม่เพียงแต่ใช้ในเด็กอนุบาลเท่านั้น แต่สามารถนำไปปรับใช้ได้ในทุกระดับ ตั้งแต่เตรียมอนุบาลจนถึงขั้น CEO ปัจจุบัน มีโรงเรียนที่นำกระบวนการผู้นำในตัวฉันไปใช้กว่า 31 แห่งในประเทศไทย และ 6,500 แห่งทั่วโลก ทั้งเอกชนและรัฐบาล

  • โรงเรียนต้นแบบ Leader in Me

โรงเรียนสหวิทย์พิมานเชียงใหม่ อ.หางดง จ.เชียงใหม่ โรงเรียนอนุบาลเอกชน สังกัด สช. มีครูไทย 14 คน ต่างชาติ 6 คน นักเรียน 148 คน ถือเป็น 1 ใน 31 โรงเรียนที่ได้นำกระบวนทัศน์ใหม่-ผู้นำในตัวฉัน (Leader in Me) ไปใช้ภายในโรงเรียน ในปี 2561 ด้วยวิสัยทัศน์ ที่มุ่งสร้างผู้นำและเรียนรู้สองภาษา

ครูพรพิมล พิสุทธิพันธ์พงศ์” ผู้บริหารโรงเรียนสหวิทย์พิมานเชียงใหม่ กล่าวว่า การศึกษาในรดับอนุบาลเปรียบเสมือนการลงเสาเข็มให้กับลูกในอนาคต ดังนั้น เราต้องการนวัตกรรมเพื่อพัฒนาเด็กให้มีสรรถณะใหม่ สดใส ร่าเริง และรู้จักตัวเองตั้งแต่เล็กๆ รู้จักวิธีวางเป้าหมาย มีความสุข กล้า เชื่อมั่นในตัวเองในการบอกความต้องการ

นำมาซึ่งการใช้กระบวนทัศน์ Leader in Me ด้วยมีเป้าหมายในการสร้างโรงเรียนอนุบาลยุคใหม่ เนื่องจากพบว่าปัจจุบันเรามีความท้าทายอุปสรรคหลายอย่าง การบริหารยากขึ้นด้วยปริมาณนักเรียนลดลง การเปลี่ยนแปลงสภาพสังคม เชียงใหม่ในวันนี้เจริญมาก สภาพรอบข้าง ผู้คน มีความต้องการเปลี่ยนแปลงไป รวมถึงการบริหารทรัพยากรในโรงเรียน

สิ่งสำคัญที่สุดของการเข้าสู่หลักสูตร Leader in me คือ การปรับมายเซ็ตของผู้บริหาร และ ครู ผ่านกรอบแนวคิด 5 ข้อ คือ 1. ทุกคนสามารถเป็นผู้นำได้ แต่ก่อนเราไม่ค่อยเชื่อ เราจะเห็นว่าเด็กในห้องที่เก่ง ได้ทำงานช่วยครู ครูเรียกทำกิจกรรม แต่หลังจากเรียนรู้เรารู้ว่าทุกคนเป็นผู้นำ หากเราให้โอกาส 2. ทุกคนมีความสามารถเฉพาะตัว เด็กมีความเก่งต่างกัน หากเรารู้และให้โอกาสเขาแสดงออก ทุกคนในห้องจะมีความสุขเพราะเขาได้รับโอกาส

3. การเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นที่ตัวเรา เป็นเรื่องสำคัญ เป็นวัฒนธรรมที่เราเปลี่ยนทั้ง ผอ. ครู และเด็ก ตั้งใจช่วยกันเพื่อโรงเรียนของเรา พลังของทุกคนยิ่งใหญ่ 4. การปลดปล่อยศักยภาพ ให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ให้โอกาสเด็กเรียนรู้ ทั้งกิจกรรมหน้าเสาธง ให้เด็กบริหารจัดการเอง โดยมีครูดูอยู่ห่างๆ ฝึกคิด ระดมความคิด และ 5. พัฒนาศักยภาพของนักเรียนอย่างรอบด้าน เพราะคำว่าวิชาการของอนุบาล เป็นการพัฒนาทุกอย่างตั้งแต่เข้ามาในโรงเรียนจนกลับบ้านทั้งด้านร่างกาย ส่งเสริมความคิด แก้ปัญหา ความสัมพันธ์ และคุณธรรม

ทั้งนี้ กระบวนการพัฒนาภาวะผู้นำให้สำเร็จและยั่งยืน ในการดำเนินงาน ต้องทำ 3 ด้าน คือ สอนหลักการภาวะผู้นำ เรียนรู้ 7 อุปนิสัย ทั้งครู พ่อแม่ แม่ครัว คนงาน ต้องทำความเข้าใจร่วมด้วย ถัดมา คือ สร้างวัฒนธรรมภาวะผู้นำ จัดบรรยากาศ ให้ทุกคนระลึกถึง 7 อุปนิสัย ด้วยการจัดป้ายในห้องเรียนและบริเวณโรงเรียน สร้างต้นแบบ พี่ๆ อนุบาล 2 และ อนุบาล 3 ให้กับน้องๆ และเพื่อนๆ รวมถึงครูต้นแบบ ช่วยกันเดินหน้าในเป้าหมายเดียวกัน และสุดท้าย คือ สอดคล้องกับการเรียน เด็กอนุบาลเรียนรู้เกี่ยวกับกิจกรรมในห้อง การเคลื่อนไหว กิจกรรมตามหน่วยประสบการณ์ โดยบูรณาการ “7 อุปนิสัย” ในทุกกิจกรรม ทำให้เด็กรักที่จะมาโรงเรียน เกิดการพัฒนาในการเรียนรู้ทุกด้าน

“การเปลี่ยนแปลง ที่ผ่านมา ณ วันนี้ มีความเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ นักเรียนของเราซึ่งเป็นเป้าหมายหลักในการเปลี่ยนแปลง วันนี้เราเห็นว่าเขาได้แสดงออก เรียนรู้ภาวะผู้นำในตัว รู้หน้าที่ของตนเอง ภาวะผู้นำที่เราคิดว่าเป็นเรื่องนามธรรม แต่วันนี้เป็นรูปธรรมให้ได้เห็นและชื่นใจ”

“ในส่วนของครู ทุกคนมีคุณค่า รักโรงเรียน รู้เป้าหมายของโรงเรียน ไม่ว่าจะชั้นเตรียมอนุบาล ถึงอนุบาล 3 ทุกคนพูดภาษาเดียวกัน และให้โอกาสเด็กแสดงออก ช่วยกันวางโครงการ ในส่วนของ ผู้ปกครอง ซึ่งวันนี้เข้าใจการจัดโรงเรียนยุคใหม่ ทำให้การสร้างเด็กๆ สำเร็จ” ผู้บริหารโรงเรียนสหวิทย์พิมานเชียงใหม่ กล่าว