สภาพร้อมบรรจุร่างรธน.ภาคประชาชน

สภาพร้อมบรรจุร่างรธน.ภาคประชาชน

สภาพร้อมบรรจุร่างรธน.ภาคประชาชน เหลือแค่กระบวนการตรวจสอบรายชื่อ

ที่รัฐสภา นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร แถลงถึงความคืบหน้าการตรวจสอบความถูกต้องของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับไอลอว์ที่มีประชาชนเข้าชื่อ101,827 คนว่า หลังจากที่สภาผู้แทนราษฎรได้รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจากไอลอว์ เมื่อวันที่ 23 ก.ย.2563 ได้ใช้เวลา 6วัน ตรวจสอบความถูกต้องของรายชื่อ 101,827 คนพบว่ามีเอกสารถูกต้องครบถ้วน 101,450 คน จึงส่งต่อเรื่องให้กรมการปกครองตรวจสอบเรื่องการเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยถูกต้องหรือไม่ ปรากฏว่า มีรายชื่อที่มีหลักฐานครบถ้วนถูกต้อง 98,824 คน ถือว่าเพียงพอในการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ใช้รายชื่อประชาชน 50,000คน 

นพ.สุกิจ กล่าวว่า หลังจากนี้สภาฯจะทำหนังสือไปยังประชาชน 98,824คน เพื่อสอบถามจะมีใครคัดค้าน เนื่องจากถูกแอบอ้างชื่อหรือไม่ ใช้เวลาดำเนินการ 30 วัน จะเสร็จสิ้นในวันที่ 9พ.ย.2563 ส่วนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6ฉบับของพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านนั้น จะครบกำหนด30 วันในการศึกษาของคณะกรรมาธิการศึกษาร่างแก้ไขรัฐ ธรรมนูญ ก่อนลงมติรับหลักการ ในวันที่ 23ต.ค.นี้ จึงเชื่อว่าหลังจากเปิดสมัยประชุมสภาในวันที่ 1พ.ย.นี้ ร่างแก้ไขรัฐ ธรรมนูญ 6ฉบับและร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับไอลอว์ มีโอกาสจะนำเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาพร้อมกันในวาระที่ 1 ส่วนวันเวลาจะเป็นเมื่อใด ขึ้นอยู่กับวิป3ฝ่าย จะไปหารือกันอีกครั้ง

ด้าน นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ และ กรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่..) พุทธศักราช..ก่อนรับหลักการ กล่าวถึงการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญว่า ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญพ.ศ.2550 ทั้งฉบับจะต้องมีการทำประชามติก่อน แต่รัฐธรรมนูญพ.ศ.2560 ได้มีบทบัญญัติชัดเจนว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต้องทำประชามติ ดังนั้น การไปแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญจะต้องมีการทำประชามติก่อนอยู่แล้ว 

"การทำประชามตินอกจากจะเป็นการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญแล้วจะทำให้ได้รับการยอมรับจากประชาชนว่าเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และดำเนินการจัดทำรัฐธรรมนูญทั้งฉบับโดยส.ส.ร.ต่อไป ซึ่งถือว่าเป็นกระบวนการทำประชามติก่อน และเมื่อมีการยกร่างรัฐธรรมนูญและรัฐสภาไม่ให้ความเห็นชอบก็ต้องมีการทำประชามติอีกครั้งหนึ่งเหมือนกับแนวทางที่เคยจัดทำร่างรัฐธรรมนูญพ.ศ.2540"