จรัส Light สัญจร : จุดไฟ’ศิลป์’ให้สงขลาเมืองเก่าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์

จรัส Light สัญจร : จุดไฟ’ศิลป์’ให้สงขลาเมืองเก่าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์

จรัส Light สัญจร สงขลาเมืองเก่า : นิทรรศการศิลปะและโครงการนำร่องพลังงานทางเลือกในชุมชนเมืองเก่าสงขลา ที่สะท้อนภาพความเชื่อมโยงประวัติศาสตร์ (เก่า) กับ เทคโนโลยีพลังงานทางเลือก (ใหม่)ได้อย่างมีศิลปะ

ผลงานศิลปะพลังงานแสงอาทิตย์กับเมืองเก่าเข้ากันได้อย่างไม่น่าเชื่อ

“ใจกลางเมือง” ผลงานประติมากรรมของ กฤช งามสม ที่เกิดจากการนำไฟท้ายรถยนต์ทุกยี่ห้อที่มีในเมืองไทยนำมาประกอบร่างใหม่ในรูปทรงหัวใจ แล้วติดปีกให้โบยบินได้พร้อมกับแสงไฟวิบวับสีแดงวูบวาบที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์  โดดเด่นดึงดูดสายตาเมื่อมาติดตั้งอยู่บริเวณลานท่าน้ำศักดิ์สิทธิ์พิทักษ์ ริมทะเลสาบสงขลา

160208321273

"ดั่งสายรุ้ง" ศิลปิน : นพไชย อังควัฒนะพงษ์

บ้านสงครามโลก ตึกเก่าที่รอดพ้นระเบิดจากสงครามโลกครั้งที่ 2 อาคารประวัติศาสตร์ที่ดูขึงขัง วันนี้กลับเต็มไปด้วยสีสันสดใส เมื่อมีผลงาน “ดั่งสายรุ้ง” ของ นพไชย อังควัฒนะพงษ์ แต่งแต้มแสงสีหลายหลากสมชื่องานจากด้านหน้าอาคารเชื่อมต่อเข้าไปยังด้านใน ใครจะคิดว่าศิลปะจะเปลี่ยนแปลงบรรยากาศและอารมณ์ของผู้คนได้ขนาดนี้ ที่สำคัญยังมีผลงานศิลปะที่สะกิดอารมณ์ขันที่แม้มีชื่อว่า “ไม่มีชื่อ” แต่เราถือวิสาสะเรียกว่าศาลพระภูมิเสี่ยงโชคสานฝันก็แล้วกัน  หวังว่าศิลปิน วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ คงไม่ว่ากระไร

160208324792

"ไม่มีชื่อ" ศิลปิน : วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์

ประติมากรรมแสงทั้ง 3 ชิ้น เป็นผลงานศิลปะในนิทรรศการ จรัส Light สัญจร: สงขลาเมืองเก่าส่วนหนึ่งของ โครงการ จรัส: แสงสร้างสรรค์ ริเริ่มและดำเนินการโดย หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เกี่ยวกับพลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์ผ่านงานศิลปะ โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก กองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)

160208341634

กฤช งามสม และผลงาน "ใจกลางเมือง"

กฤช งามสม ตัวแทนของ 3 ศิลปิน กล่าวถึงการสัญจรมาแสดงงานศิลปะในสงขลาเมืองเก่าว่า

“ตอนแรกที่ได้โจทย์ให้ทำงานศิลปะโดยใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ รู้สึกตื่นเต้นและกังวลไปพร้อมกัน เพราะไม่แน่ใจว่าพลังงานแสงอาทิตย์จะผลิตพลังงานไฟฟ้าได้กำลังเพียงพอหรือไม่ แต่พอได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านโซล่าร์เซลล์ ก็รู้สึกว่าแค่เราเปิดใจก็สามารถใช้งานได้แล้ว”

ผลงานชิ้นนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากสีแดงของไฟท้ายรถยนต์ยามค่ำคืนที่พบเห็นบริเวณสี่แยกปทุมวัน ดังนั้นศิลปินจึงนำเอาไฟท้ายรถยนต์มาประกอบเข้าด้วยกัน และติดปีกด้านข้างของหัวใจด้วยแผงโซล่าร์เซลล์เป็นตัวส่งพลังงานให้มีแสงสว่างและโบยบินได้

“จัดแสดงครั้งแรกที่ลานหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ตรงสี่แยกปทุมวัน เป็นพื้นที่แวดล้อมไปด้วยพลังงานไม่สะอาด แต่ตัวงานก็ยังตั้งอยู่ได้ เมื่อย้ายมาติดตั้งที่สงขลาเมืองเก่า สิ่งที่เห็นชัดเจน คือ พลังงานแสงอาทิตย์จากเดิมที่กรุงเทพฯต้องใช้เวลาเกือบทั้งวันกว่าแบตเตอรี่ที่เก็บกักพลังงานจะเต็ม แต่มาที่นี่สิบเอ็ดโมงเช้าแบตเตอรี่ก็เต็มแล้ว เป็นสัญญาณว่าถ้าคนในชุมชนต้องการนำพลังงานแสงอาทิตย์มาปรับใช้ในชีวิตประจำวันก็ไม่ยากแล้ว”

160208351246

อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ ธีรพจน์ จรูญศรี ฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที ลักขณา คุณาวิชยานนท์ และ ดนัย โต๊ะเจ ในวันเปิดนิทรรศการ ‘จรัส Light สัญจร สงขลาเมืองเก่า’ ณ บ้านสงครามโลก 

ดนัย โต๊ะเจ เจ้าของบ้านในนคร บูติกโฮเต็ล และผู้จัดการสวนแบ่งปันชุมชนมัสยิดบ้านบน

กล่าวในวงเสวนาหัวข้อ ‘ศิลปะ ชุมชน กับพลังงานทางเลือกหนึ่งในกิจรรม จรัส Light สัญจร: สงขลาเมืองเก่า ว่า

“การที่มีศิลปะใหม่ๆเข้ามาในเมืองเก่า พร้อมกับพลังงานทางเลือกทำให้เมืองมีความเคลื่อนไหว  โดยเฉพาะในช่วงค่ำเมืองจะค่อนข้างมืด  การเข้ามาของ จรัส Light ทำให้เห็นความวูบวาบของแสงไฟ ท่ามกลางความมืดของเมือง และจุดประกายความคิดต่อไปว่าถ้ามีศิลปินมาช่วยออกแบบแสงให้กับอาคารเก่าในสงขลา โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ จะทำให้เมืองสวยงามขึ้นไปอีก และดึงนักศึกษาด้านศิลปะของสงขลาเข้ามามีส่วนร่วมด้วย ก็จะเป็นการแบ่งปันประสบการณ์ที่ดี”

160208403969

บรรยากาศวงเสวนาบริเวณท่าน้ำศักดิ์สิทธิ์พิทักษ์

ในขณะที่ สืบสกุล ศรีสุข ผู้อำนวยการภาคีคนรักเมืองสงขลา กล่าวถึง หัวใจหลักของสงขลา คือ ความรักของพี่น้อง 3 วัฒนธรรม พุทธ มุสลิม และจีน  “ในเมืองเก่าของเรามีสถาปัตยกรรมที่มีทั้งแบบไทย จีน มุสลิม และยุโรป ในอนาคตหากมีการนำพลังงานแสงอาทิตย์มาช่วยก็จะทำให้เมืองมีความสวยงาม ทั้งนี้การช่วยกันผลักดันให้เมืองสงขลาเป็นมรดกโลกนั้น เป็นการสร้างความมั่นคงที่ไม่ต้องใช้อาวุธดูแล”

160208440066

160208445298

160208459248

บ้านสงครามโลก และท่าน้ำศักดิ์สิทธิพิทักษ์ เป็นสองจุดที่นักท่องเที่ยวแวะเวียนมาเช็คอิน

จากเดิมที่ชวนมองอยู่แล้ว เมื่อนำงานประติมากรรมแสงที่ส่องสว่างด้วยพลังงานแสงอาทิตย์มาจัดวาง ไม่เพียงเพิ่มแสงสว่างให้กับอาคารสถานที่ยามค่ำที่เคยมืดมิดแล้ว  ยังจุดประกายให้เห็นว่าศิลปะ เมืองเก่า และพลังงานทางเลือก สามารถส่งเสริมกันได้ในหลายมิติ  ไม่ว่าจะเป็นศิลปะ สิ่งแวดล้อม ความยั่งยืนทางสังคม และความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการพัฒนางานสร้างสรรค์และการพัฒนาเมืองเก่า สำหรับปัจจุบันและอนาคตต่อไป

‘จรัส Light สัญจร: สงขลาเมืองเก่า’ เปิดให้ชมฟรีทุกวัน ระหว่าง 11 กันยายน - 11 ตุลาคม 2563 ทุกวันยกเว้นวันจันทร์ เวลา 10.00 – 20.00 น. ณ บ้านสงครามโลก ถนนนครนอก และ ลานทางเดิน ท่าน้ำศักดิ์สิทธิ์พิทักษ์ อ.เมือง สงขลา

ติดตามข่าวสารและกิจกรรมที่จะตามมาของ ‘จรัส Light สัญจร’ ได้ที่ www.bacc.or.th และ FB: baccpage

160208449386