ย้อนรอย ‘10 เหตุโจมตี’ ช็อกโลก! หลังประกาศสงครามต้านก่อการร้าย

ย้อนรอย ‘10 เหตุโจมตี’ ช็อกโลก! หลังประกาศสงครามต้านก่อการร้าย

7 ต.ค. 2544 เป็นวันที่สหรัฐประกาศสงครามกับกลุ่มก่อการร้ายเพื่อตอบโต้เหตุการณ์ “9/11” หรือ 11 กันยา เมื่อปี 2544 แต่หลังจากวันนั้น ทั่วโลกไม่เคยสงบอีกเลย เพราะยังเผชิญกับเหตุโจมตีที่เป็นผลพวงจากสงครามนี้ไม่จบไม่สิ้น

ย้อนไปเมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2544 สหรัฐและทั่วโลกเผชิญกับเหตุการณ์สะเทือนขวัญครั้งใหญ่ เมื่อสมาชิกกลุ่มก่อการร้าย 19 คน จี้เครื่องบินอเมริกันแอร์ไลน์และยูไนเต็ดแอร์ไลน์ 4 ลำ และบังคับเครื่องบินพุ่งเข้าชนตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์กลางนครนิวยอร์ก และอาคารส่วนหน้าของศูนย์บัญชาการเพนตากอน (กระทรวงกลาโหมสหรัฐ) ในรัฐเวอร์จิเนีย

ในภายหลังมีการระบุว่า ผู้ก่อการร้ายเป็นสมาชิกกลุ่ม “อัลกออิดะห์” และทำให้ผู้นำกลุ่มที่ชื่อ “โอซามา บิน ลาเดน” กลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

เหตุการณ์ 9/11 นี้คร่าชีวิตประชาชนเกือบ 3,000 คน และยังสร้างบาดแผลฝังลึกในใจชาวอเมริกันจนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ จอร์จ ดับเบิลยู บุช ประธานาธิบดีสหรัฐในขณะนั้น ประกาศทำสงครามต่อต้านกลุ่มก่อร้ายเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2544 ผ่านมาเกือบ 20 ปี สหรัฐและทั่วโลกกลับไม่ได้อยู่อย่างสงบสุข มิหนำซ้ำยังเผชิญเหตุโจมตีรุนแรงจากน้ำมือของสมาชิกกลุ่มหัวรุนแรงที่เป็นผลพวงจากเหตุการณ์ 9/11 กรุงเทพธุรกิจชวนย้อนดู 10 เหตุโจมตีก่อการร้ายครั้งใหญ่ที่คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์ไปจำนวนมาก หลังสหรัฐประกาศสงครามต้านกลุ่มก่อการร้าย

 

  • 11 มี.ค. 2547

ช่วงเช้าวันที่ 11 มี.ค. 2547 ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสเปนเพียง 3 วัน เกิดเหตุระเบิดรถไฟโดยสารในกรุงมาดริด ขณะรถไฟกำลังจะเข้าจอดเทียบท่าที่สถานีอาโตชาโดยอยู่ห่างจากสถานี 500 เมตร ระเบิดลูกแรกก็ทำงานตามมาด้วยระเบิดอีก 14 ลูก ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 192 คน และผู้ได้รับบาดเจ็บอีกกว่า 2,000 คน นับเป็นเหตุวินาศกรรมครั้งใหญ่ที่สุดในสเปน

160207384528

 

  • 7 ก.ค. 2548

เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 7 ก.ค. 2548 เกิดเหตุระเบิดกลางกรุงลอนดอนของอังกฤษ 4 ครั้ง โดย 3 ครั้งระเบิดที่รถไฟใต้ดิน 3 ขบวน และอีก 1 ครั้งระเบิดที่รถบัสสองชั้น นับเป็นการโจมตีระบบขนส่งมวลชนครั้งใหญ่ของอังกฤษ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 52 คน และได้รับบาดเจ็บอีกกว่า 700 คน

160207396252

 

  • 11 ก.ค. 2554

แม้แต่ นอร์เวย์ ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศสงบก็ประสบเหตุก่อการร้ายเช่นกัน โดยเกิดขึ้น 2 ครั้งในเวลาห่างกันไม่กี่ชั่วโมงในกรุงออสโล ด้วยน้ำมือของชายอุดมการณ์ขวาจัดเพียงคนเดียวที่ชื่อ อันเดอร์ส เบห์ริง เบรวิก โดยเขาวางระเบิดสถานที่ราชการหลายแห่งในกรุงออสโล ทำให้มีผู้เสียชีวิต 8 คนและผู้บาดเจ็บกว่า 200 คน

160207433130

จากนั้น เบรวิกก็ปลอมตัวเป็นตำรวจเข้าไปกราดยิงเยาวชนในค่ายพรรคแรงงานที่เกาะอูเตอยา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 70 คนและบาดเจ็บอีกกว่า 100 คน

 

  • 15 เม.ย. 2556

เกิดระเบิดสนั่นในงานวิ่งมาราธอนที่เมืองบอสตันของสหรัฐ ขณะที่นักวิ่งหลายพันคนกำลังวิ่งเข้าเส้นชัยบนถนนบอยล์สตัน จากนั้นก็เกิดระเบิดลูกที่สองในระยะเวลาห่างกันเพียง 12 วินาที จุดที่สองอยู่ห่างจากจุดแรกเพียง 180 เมตร ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 คน และบาดเจ็บอีก 264 คน

160207437182

ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าว ตำรวจบันทึกภาพมือวางระเบิดเป็นสองพี่น้องชื่อ ทาเมอร์ลัน ซาร์นาเยฟ วัย 26 ปี และโจการ์ ซาร์นาเยฟ วัย 19 ปี ซึ่งเป็นชาวเชเชนที่อพยพเข้ามาอยู่ในสหรัฐ โดยคนพี่เสียชีวิตหลังถูกวิสามัญฆาตกรรมขณะยิงต่อสู้กับตำรวจ ส่วนคนน้องถูกศาลชั้นต้นตัดสินประหารชีวิต แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาโทษใหม่ในชั้นศาลอุทธรณ์ โดยระหว่างการพิจารณาคดี เขาจะยังถูกคุมขังในเรือนจำไปจนตลอดชีวิตที่เหลืออยู่

 

  • 7 ม.ค. 2558

หลังจากที่ “ชาร์ลี เอบโด” หนังสือพิมพ์ล้อเลียนและเสียดสีของฝรั่งเศส ตีพิมพ์ภาพการ์ตูนล้อเลียนศาสดามูฮัมหมัดของศาสนาอิสลาม ทำให้เกิดกระแสไม่พอใจหนักในหมู่ชาวมุสลิม เพราะถือเป็นการดูหมิ่นศาสนาอย่างรุนแรง จากนั้นมีคนร้าย 2 คนสวมหน้ากากและถืออาวุธสงครามบุกเข้ายิงสำนักงานของชาร์ลี เอบโด ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 12 คน โดยหนึ่งในนั้นคือ สเตฟาน ชาร์บอนีเย บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ดังกล่าว

160207375219

จากเหตุการณ์นี้ทำให้เกิดกระแส “Je suis Chalie” หรือ “ฉันคือชาร์ลี” (#JeSuisCharlie) บนโลกออนไลน์กันอย่างกว้างขวาง เพื่อแสดงจุดยืนสนับสนุนหนังสือพิมพ์และให้กำลังใจเหยื่อเหตุร้ายนี้

 

  • 10 ต.ค. 2558

เหตุโจมตีครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ตุรกี เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2558 เมื่อเกิดระเบิด 2 จุดโดยมือระเบิด 2 คนที่นอกสถานีรถไฟอังการา เซ็นทรัล คร่าชีวิตพลเรือนไป 103 คน

160207452729

แม้ไม่มีกลุ่มใดออกมาอ้างความรับผิดชอบ แต่มือระเบิดทั้ง 2 คนมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มรัฐอิสลามอิรักและเลแวนต์ (ISIL) ซึ่งรัฐบาลตุรกีโทษว่าอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์นี้

 

  • 13 พ.ย. 2558

เหตุการณ์ใหญ่ช่วงปลายปี 2558 เมื่อมือปืนบุกยิงผู้บริสุทธิ์ในกรุงปารีส เริ่มจากในโรงละครบาตากล็อง ซึ่งกำลังจัดคอนเสิร์ตวง Eagles of Death Metal จากสหรัฐ ต่อด้วยการบุกยิงที่ร้านอาหารหลายแห่ง และที่บริเวณหน้าสนามกีฬา สตาด เดอ ฟรองซ์ ที่กำลังจัดฟุตบอลกระชับมิตรระหว่างทีมชาติฝรั่งเศสกับเยอรมนี

160207470580

รายงานระบุว่า มีผู้เสียชีวิตมากถึง 130 คนซึ่งรวมถึง 89 คนในโรงละคร และผู้บาดเจ็บอีกเกือบ 370 คน ขณะที่ผู้ก่อเหตุ 7 คนเสียชีวิตหลังยิงต่อสู้กับตำรวจ

 

  • 22 มี.ค. 2559

เช้าวันที่ 22 มี.ค. 2559 เกิดเหตุระเบิดฆ่าตัวตายโดยกลุ่มผู้ก่อการร้ายบริเวณเคาน์เตอร์เช็คอินของสายการบินอเมริกันแอร์ไลน์ในสนามบินกรุงบรัสเซลส์ของเบลเยียม ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 11 คน และบาดเจ็บอีกกว่า 80 คน

160207482683

จากนั้นไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง เกิดระเบิดที่สถานีรถไฟใต้ดินมาลบีคในกรุงบรัสเซลส์ มีผู้เสียชีวิต 15 คน และบาดเจ็บ 55 คน ซึ่งเหตุระเบิดครั้งที่สองเกิดใกล้กับสำนักงานใหญ่สหภาพยุโรป (EU) ด้วย โดยหลังเกิดเหตุ กลุ่ม ISIL ออกมาอ้างความรับผิดชอบ

 

  • 14 ก.ค. 2559

ช่วงค่ำวันที่ 14 ก.ค. 2559 ซึ่งเป็นวันชาติฝรั่งเศส คนร้ายขับรถบรรทุกน้ำหนัก 19 ตันพุ่งชนฝูงชนที่กำลังเฉลิมฉลองวันชาติในเมืองนีซ มีผู้เสียชีวิต 89 คนและบาดเจ็บอีกว่า 430 คน

160207487031

ผู้ก่อเหตุซึ่งชื่อว่า โมฮัมหมัด ลาฮุย บูห์เลล ถูกตำรวจยิงเสียชีวิตขณะยิงต่อสู้ในที่เกิดเหตุ หลังเกิดเหตุดังกล่าวมีกลุ่มก่อการร้าย 2 กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับ ISIL ออกมาแสดงความรับผิดชอบ

 

  • 22 พ.ค. 2560

ในเมืองแมนเชสเตอร์ของอังกฤษเผชิญกับเหตุระเบิดฆ่าตัวตายที่แมนเชสเตอร์ อารีนา ซึ่งกำลังจัดคอนเสิร์ต “อาเรียนา แกรนเด” ศิลปินสาวชาวอเมริกัน ท่ามกลางผู้ชมจำนวนมาก ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 22 คน รวมถึงเด็กวัย 8 ขวบคนหนึ่ง และผู้บาดเจ็บอีกเกือบ 120 คน

160207497969

ผู้ก่อเหตุชื่อ ซัลมาน อาเบดี วัย 22 ปี และเจ้าหน้าที่เผยว่า ก่อนก่อเหตุเขาอยู่ในกลุ่มต้องสงสัยว่าทำงานในเครือข่ายก่อการร้าย จากนั้นกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ออกมาอ้างความรับผิดชอบ แต่ทางการอังกฤษเชื่อว่าอาเบดีก่อเหตุเองโดยไม่เกี่ยวกับไอเอส

 

  • เหยื่อก่อการร้ายลดลงใน 4 ปีหลัง

แม้ทั่วโลกยังผจญกับเหตุก่อการร้ายแทบทุกปี แต่ความสูญเสียมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ โดยปลายปีที่แล้ว สถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ (Institute for Economics & Peace: IEP) เผยแพร่ “ดัชนีก่อการร้ายโลก” (Global Terrorism Index: GTI) ประจำปี 2562 พบว่า จำนวนผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายลดลงเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน หลังจากพุ่งสูงสุดในปี 2557 โดยจำนวนผู้เสียชีวิตจากก่อการร้ายทั่วโลกลดลง 52% จาก 33,555 คนในปี 2557 เป็น 15,952 คนในปี 2561

นอกจากนี้ จำนวนผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายในปี 2562 ลดลงกว่า 15% เทียบกับปี 2561 โดยลดลงมากที่สุดในอิรักและโซมาเลีย ผลจากความพ่ายแพ้ของกลุ่ม ISIL ในอิรัก และการที่กองทัพสหรัฐโจมตีทางอากาศถล่มกลุ่มอัลชาบับในโซมาเลีย

ขณะที่คะแนนการก่อการร้ายยังดีขึ้นใน 98 ประเทศ และแย่ลงใน 40 ประเทศ นับว่าประเทศที่คะแนนดีขึ้นเมื่อเทียบรายปีมีจำนวนมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2547

160207508945

อย่างไรก็ตาม แม้ความรุนแรงของการก่อการร้ายจะลดลง แต่ความแพร่หลายของการก่อการร้ายกลับเพิ่มมากขึ้น โดย 71 ประเทศมีรายงานผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายอย่างน้อย 1 คน เพิ่มจาก 67 ประเทศในปี 2561 ซึ่งถือว่าสูงสุดเป็นอันดับ 2 นับตั้งแต่ปี 2545

ในอเมริกาเหนือ ยุโรปตะวันตก และโอเชียเนีย การก่อการร้ายทางการเมืองโดยกลุ่มขวาจัดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอด 5 ปี และมี 19 ประเทศที่ได้รับผลกระทบในช่วงเวลาดังกล่าว โดยการโจมตีของกลุ่มขวาจัดในภูมิภาคเหล่านี้พุ่งขึ้นถึง 320% ในช่วงปี 2557-2561 และแนวโน้มดังกล่าวยังดำเนินต่อไปในปี 2562

นับตั้งแต่ต้นปีที่แล้วจนถึงสิ้นเดือน ก.ย. 2562 มีผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายของกลุ่มขวาจัด 77 คน โดยในปี 2561 ไม่มีผู้ก่อการรายใดออกมาอ้างว่าเป็นสมาชิกของกลุ่มก่อการร้ายจึงทำให้หน่วยงานรักษาความปลอดภัยป้องกันการโจมตีได้ยาก

ส่วนในยุโรป จำนวนผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายลดลงเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน จากกว่า 200 คนในปี 2560 ลงมาอยู่ที่ 62 คนในปี 2561 และมีการโจมตีเพียง 2 ครั้งที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 5 คนขึ้นไป

 

  • ก่อการร้ายกระทบเศรษฐกิจ

ข้อมูลจากดัชนีก่อการร้ายโลก ปี 2562 ระบุด้วยว่า การก่อการร้ายที่ลดลงทำให้ผลกระทบของการก่อการร้ายที่มีต่อเศรษฐกิจโลกลดลงตามไปด้วย โดยคิดเป็นมูลค่า 3.3 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2561 ลดลง 38% จากปีก่อนหน้า

160207509942

ขณะเดียวกัน ต้นทุนที่เกิดจากการก่อการร้ายมีสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับต้นทุนที่เกิดจากความรุนแรงในรูปแบบอื่น ๆ เช่น ฆาตกรรม ความขัดแย้งทางอาวุธ และปฏิบัติการทางทหาร โดยมีต้นทุนราว 14.1 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2561

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่แท้จริงของการก่อการร้ายที่มีต่อเศรษฐกิจโลกน่าจะสูงกว่านี้มาก เพราะตัวเลขนี้ยังไม่รวมผลกระทบทางอ้อมที่มีต่อธุรกิจ การลงทุน และต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความปลอดภัยและต่อต้านการก่อการร้าย