'ธนาคารยูโอบี' ส่องเทรนด์การลงทุนมาแรงหลังโควิด

'ธนาคารยูโอบี' ส่องเทรนด์การลงทุนมาแรงหลังโควิด

ตลาดหุ้นทั่วโลกประสบกับภาวะที่ตกต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาเนื่องมาจากการระบาดของโควิด -19 และแม้ว่าปัจจุบันตลาดเริ่มฟื้นตัวจากระดับต่ำสุดในเดือนมี.ค.

แต่เศรษฐกิจในหลายประเทศกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย นักลงทุนควรจัดการอย่างไรต่อสภาวการณ์เหล่านี้

วิกฤติโควิด -19 ได้ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างทางเศรษฐกิจและไลฟ์สไตล์ เช่น การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของอีคอมเมิร์ซ และวิถีการจับจ่ายของผู้คนไปสู่ออนไลน์แพลตฟอร์ม มาตรการกักตัวในหลายประเทศและการหยุดชะงักของธุรกิจในรูปแบบดั้งเดิมส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกและประเทศต่างๆ โดยเฉพาะกับประเทศที่ยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ เพื่อลดความเสียหายทางเศรษฐกิจ รัฐบาลของแต่ละประเทศรวมถึงธนาคารกลางจึงได้อัดฉีดงบประมาณจำนวนมากในการบรรเทาทุกข์และลดอัตราดอกเบี้ยจนเกือบเป็นศูนย์

คำถามสำคัญที่หลายคนสงสัยคือ “ เรากำลังเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยหรือไม่”

มีการคาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ทั่วโลกจะลดลง 4.9 เปอร์เซ็นต์ในปี 2563 และการว่างงานในหลายประเทศจะมีอัตราสูงสุดนับตั้งแต่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ตามรายงานขององค์การเพื่อเศรษฐกิจและความร่วมมือและการพัฒนา

สำหรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของทวีปเอเชียอาจยังดูไม่แน่นอน แต่นักวิเคราะห์หลายคนกล่าวว่า ช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดจบลงแล้ว โดยจีนคาดว่าน่าจะเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญต่อการฟื้นตัวของทั้งภูมิภาค การเติบโตของ GDP ในภูมิภาคในช่วงครึ่งหลังของปี อาจดิ่งถึงจุดต่ำสุดนับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2510 และคาดว่าน่าจะค่อยๆ ฟื้นตัว เว้นแต่จะมีการปิดประเทศอีกระลอก

มาตรการควบคุมการแพร่กระจายของเชื้ออย่างมีประสิทธิภาพและการพัฒนาวัคซีนเป็นกุญแจสำคัญของการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ซึ่งทีมนักวิจัยจากทั่วโลกกำลังเร่งขั้นตอนการทดสอบและพัฒนาเพื่อให้สามารถผลิตวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการใช้งานกับมนุษย์

เทรนด์ที่มีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นผลพวงจากสถานการณ์โควิด-19  

อย่างที่ทราบกันดีว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก ทำให้เกิดวิถีชีวิตรูปแบบใหม่หรือ New Normal มาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมทำให้การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลพุ่งสูงขึ้น  จากผลการวิจัยล่าสุดเกี่ยวกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภค[1] ของธนาคารยูโอบี พบว่าปัจจุบันคนไทยมั่นใจในการชำระเงินแบบไร้เงินสดมากขึ้น แต่อยากให้ร้านค้ามีตัวเลือกในการชำระเงินที่หลากหลายและเพิ่มความปลอดภัยในช่องทางการชำระเงินผ่านระบบดิจิทัลมากขึ้น

นอกจากนี้พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคยังเปลี่ยนไป จากข้อมูลบัตรเครดิตของธนาคารยูโอบีในประเทศไทยพบว่า ปริมาณธุรกรรมที่ใช้ในการซื้อสินค้าออนไลน์ของลูกค้าบัตรเครดิตของทางธนาคารในเดือนมี.ค.ถึงพ.ค. 2563 เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 85 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเรายังเชื่อว่าการใช้จ่ายออนไลน์จะยังคงเป็นประเภทของธุรกรรมที่จะเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เพื่อเป็นการจำกัดการแพร่กระจายของไวรัส สถานที่ทำงานหลายแห่งปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานเป็นการทำงานจากที่บ้าน ผ่านเทคโนโลยีการประชุมทางวิดีโอ และคาดว่ารูปแบบการทำงานนี้จะแพร่หลาย และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดความต้องการด้านดิจิทัลที่รวดเร็วขึ้น

เทรนด์เรื่องโลกาภิวัตน์จะเปลี่ยนไป โรงงานผู้ผลิตในหลายประเทศกำลังเร่งปรับโครงสร้างระบบการจัดการห่วงโซ่อุปทานใหม่ เพื่อแก้ปัญหายอดขายที่ตกและการส่งมอบสินค้าที่ล่าช้าในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เราอาจจะเห็นการย้ายฐานการผลิตบางส่วน หรือแม้แต่การออกแบบระบบห่วงโซ่การผลิตใหม่ทั้งหมดเพื่อให้มีส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ที่มาจากหลากหลายแหล่งมากขึ้น เตรียมพร้อมสำหรับวิกฤติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

เทรนด์ที่มีแนวโน้มถดถอยจากโควิด-19

แม้ว่าแนวโน้มที่เกิดจากการแพร่ระบาดจะนำไปสู่โอกาสด้านอีคอมเมิร์ซและธุรกิจขนส่งสินค้า (โลจิสติกส์) แต่ก็ยังมีความท้าทายเนื่องจากผลกระทบจาก COVID-19

ประการแรกคือเศรษฐกิจหมุนเวียนซึ่งตั้งอยู่บนหลักของการลดมลภาวะด้วยการรีไซเคิล ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จากความกลัวในการแพร่กระจายของไวรัส ที่อาจเกิดขึ้นจากการนำวัสดุที่ใช้ซ้ำ ประการที่สองโครงการที่เกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียนในประเทศกำลังพัฒนา มีการคาดการณ์ว่าจะเกิดความล่าช้าเนื่องจากราคาน้ำมันลดลง ประการที่สามโครงการขนส่งขนาดใหญ่ ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จล่าช้าเช่นเดียวกัน เนื่องจากเศรษฐกิจยังคงอ่อนแอและภาครัฐมีแนวโน้มที่จะทุ่มงบประมาณจำนวนมากเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และประการสุดท้าย คือ เศรษฐกิจแบบแบ่งปัน หรือแนวคิดการทำธุรกิจแบบ Peer to Peer (P2P) โดยเป็นการจับคู่ระหว่างผู้ให้บริการที่มีทรัพย์สินหรือสิ่งของ อาจได้รับผลกระทบในทางลบเนื่องจากมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม

สิ่งที่นักลงทุนควรพิจารณาตอนนี้มีอะไรบ้าง?

แม้ว่าเราจะเห็นภาพตลาดที่ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ประกอบกับสภาพคล่องที่มีออกมามากมายยังสนับสนุนตลาดไว้ แต่การลงทุนยังต้องให้ความระมัดระวัง เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงยังมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแพร่ระบาดรอบ 2 ความไม่แน่นอนจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ สงครามการค้าและความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับจีน การลงทุนในระยะข้างหน้าจะยังคงมีความผันผวนอยู่ ดังนั้นนักลงทุนควรให้ความสำคัญกับการปกป้องความเสี่ยงขาลงในการลงทุน ผ่านการลงทุนในตราสารหนี้ ในตราสารหนี้คุณภาพดี (Investment Grade Credit) หรือการกระจายการลงทุนเพื่อลดความผันผวนของพอร์ตโดยรวม ธนาคารยูโอบีมีมุมมองที่ดีต่อการลงทุนใน AI (Artificial intelligence) และ นวัตกรรม (Innovation) รวมไปถึงกลุ่มหุ้นสุขภาพ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีโอกาสเติบโตในระยะยาว ตามเทรนด์ของโลกที่เปลี่ยนไป โดยรวมเรายังมองเห็นโอกาสการลงทุน แต่สิ่งสำคัญคือการลงทุนที่เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่สามารถยอมรับได้

สำหรับนักลงทุนที่สามารถรับความเสี่ยงที่สูงขึ้นในระยะยาว สามารถพิจารณาสร้างพอร์ตการลงทุนที่มีแนวโน้มจะเติบโตจากบริษัทที่มีการนำเอานวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจหรือเพื่อเพิ่มผลผลิต

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือนักลงทุนควรลงทุนตามความเสี่ยงที่ตนเองรับได้ ธนาคารยูโอบี เป็นธนาคารที่มุ่งเน้นให้นักลงทุนเข้าใจความเสี่ยงในการลงทุน ประเมินระดับความเสี่ยงที่ท่านยอมรับได้ และพิจารณาความเสี่ยงของการลงทุนก่อนผลตอบแทน