เจาะความสวย 'หุ้น SK' เข้าตารายใหญ่
ส่องแผนโต 'ศิรกร (SK)' น้องใหม่ไอพีโอ เข้าตลาดหลักทรัพย์ mai 8 ต.ค.นี้ ราคาหุ้นละ 0.80 บาท เหตุใดนักลงทุนรายใหญ่ อย่าง'หมอยรรยง พันธุ์วงศ์กล่อม' ถึงซื้อ 5 ล้านหุ้น !!
ทำไม! นักลงทุนรายใหญ่อย่าง 'หมอยรรยง พันธุ์วงศ์กล่อม' (หมอยง) ถึงสนใจ หุ้น ศิรกร หรือ SK ผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์คอนกรีตอัดแรง และให้บริการรับเหมาก่อสร้างสายส่งและสายจำหน่ายไฟฟ้าและงานรับเหมาก่อสร้างโยธา ที่กำลังจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (MAI) ในวันที่ 8 ต.ค. 2563 จำนวน 115.35 ล้านหุ้น โดยเสนอขายหุ้นละ 0.80 บาท มูลค่าที่ตราไว้(พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท
โดย 'หมอยง' ได้สิทธิซื้อหุ้นไอพีโอ SK จำนวน 5 ล้านหุ้น ! ที่เหลือเป็นนักลงทุนสถาบันในประเทศ และนักลงทุนรายย่อย...
บมจ.ศิรกร หรือ SK ธุรกิจเติบโตตามจากนโยบายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐบาล ! โดยลูกค้าหลัก นั่นคือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ด้วยประสบการณ์ยาวนานกว่า 30 ปีในธุรกิจธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์คอนกรีตอัดแรงและให้บริการรับเหมาก่อสร้างสายส่งและสายจำหน่ายไฟฟ้าและงานรับเหมาก่อสร้างโยธา
โดยมีโรงงานผลิตและจัดจำหน่ายคอนกรีตอัดแรง 6 แห่ง อาทิ กาฬสินธุ์ ชลบุรี ชัยนาท ลำปาง สุราษฎร์ธานี และสงขลา ถือเป็นจุดแข็งที่ได้เปรียบ เพราะแสดงให้เห็นเห็นถึงศักยภาพในการผลิตและจัดจำหน่ายที่ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ
ด้วยความโดดเด่นดังกล่าว อาจจะเป็นหนึ่งใน 'จุดเด่น' ที่นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนรายใหญ่สนใจหุ้น SK
'ที่สำคัญธุรกิจของบริษัทอิงกับการเติบโต จากนโยบายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐบาล ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าวสะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อหุ้น SK'
ปัจจุบัน SK ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์คอนกรีตอัดแรง คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 60-70% และรับเหมาก่อสร้างโยธา สายส่งและสายจำหน่ายไฟฟ้า คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 30-40%
'ภากร ตั้งนุกูลกิจ' ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายงานขายและการตลาด บมจ. ศิรกร หรือ SK เล่าแผนธุรกิจให้ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ฟังว่า วางเป้าแผนธุรกิจ 3 ปีข้างหน้า (2564-2566) ผลักดัน 'ธุรกิจให้บริการรับเหมาก่อสร้างสายส่งและสายจำหน่ายไฟฟ้า' ขึ้นแท่น 'พระเอกคนใหม่' โดยคาดว่าปี 2564 จะมีโอกาสเห็นสัดส่วนรายได้ดังกล่าวแตะ 50% สะท้อนผ่านแผนธุรกิจที่บริษัทจะสามารถเข้าร่วมในการประมูลงานรับเหมาระบบสายส่ง ขนาด 230 KV ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ หลังจากที่โครงการ Consortium เสร็จสิ้นในปลายปี 2563 ซึ่งในแต่ละปีการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีการขยายสายส่งไฟฟ้า ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติในการพัฒนาประเทศด้านพลังงาน (PDP) มูลค่านับ 'หมื่นล้านบาท'
นอกจากนี้ บริษัทยังตั้งเป้าการรับงานสายส่งไฟฟ้าที่มีขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นเป็น 500 KV ในอีก 2 ปีหน้า พร้อมกันนี้บริษัทยังมองหาโอกาสในการขยายช่องทางการลงทุน เพื่อเพิ่มศักยภาพและต่อยอดความแข็งแกร่งทางธุรกิจในอนาคต
'หุ้น SK ถือเป็นบริษัทที่มีการวางกลยุทธ์ที่ดี สำหรับการกระจายความเสี่ยงด้านการกระจุกตัวของรายได้ แม้ว่าที่ผ่านมารายได้ส่วนใหญ่จะมาจากการขายผลิตภัณฑ์คอนกรีตอัดแรง แต่บริษัทได้พยายามเพิ่มสัดส่วนรายได้จากธุรกิจให้บริการรับเหมาก่อสร้างสายส่งและสายจำหน่ายไฟฟ้า ซึ่งที่ผ่านมาสัดส่วนรายได้ดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี'
ภากร ตั้งนุกูลกิจ
สะท้อนให้เห็นจากผลการดำเนินงานย้อนหลัง 3 ปี (2560-2562) โดยมี 'กำไรสุทธิ' อยู่ที่ 35.35 ล้านบาท 28.81 ล้านบาท และ 50.26 ล้านบาท ขณะที่ 'รายได้' อยู่ที่ 521.29 ล้านบาท 637.30 ล้านบาท และ 677.07 ล้านบาท ตามลำดับ และไตรมาส 2 ปี 2563 บริษัทมีรายได้ 274.58 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 9.29 ล้านบาท
โดย 3 ปีที่ผ่านมาบริษัทมีรายได้เติบโตเฉลี่ย 15% และคาดว่าอนาคตบริษัทจะพยายามรักษาการเติบโตในระดับ 15-20% ต่อเนื่อง แบ่งเป็นการับรู้รายได้ประเภทงานรับเหมาก่อสร้างโครงการสายส่งไฟฟ้าที่ตามแผนปี 2564 จะเข้าประมูลรับงานขนาด 230 KV ที่มีมูลค่า 300 ล้านบาทขึ้นไป และอีก 2 ปีข้างหน้ารับงานขนาด 500 KV ที่มีมูลค่าพันล้านบาทขึ้นไป รวมไปถึงการเข้ารับงานก่อสร้างโครงการสถานีไฟฟ้า (Substation) ที่มีมูลค่าอย่างน้อย 300 ล้านบาท
สำหรับไตรมาส 2 ที่ผ่านมา บริษัทมีงานรับเหมาก่อสร้าง ที่รอการส่งมอบอีกกว่า 10 โครงการ คิดเป็นมูลค่างานในมือ (Back log) อีกกว่า 157.22 ล้านบาท และคาดว่าจะทยอยรับรู้เกือบทั้งหมดภายในปีนี้ ซึ่งโดยธรรมชาติในธุรกิจของ SK แล้ว จะเป็นโครงการระยะสั้นที่มีการประมูลปีต่อปีเป็นส่วนใหญ่
ทั้งนี้ แผนเข้าประมูลงานใหม่บริษัทตั้งเป้าได้รับงานเข้ามาเพิ่มอีกมูลค่ากว่า 300 ล้านบาทเป็นงานประเภทวางระบบสายส่งไฟฟ้าเหนือดินและใต้ดินของ กฟภ. และ กฟน. เพื่อเข้ามาเสริมความมั่นคงของการเติบโตรายได้ปีต่อไป โดยบริษัทนำเงินที่ได้จากการะดมทุนในครั้งนี้ เพื่อเสริมศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ พร้อมสร้างความแข็งแกร่งด้านเงินทุน และต่อยอดโอกาสในการขยายธุรกิจในอนาคต ตามนโยบายการขยายธุรกิจรับเหมาก่อสร้างสายส่งและสายจำหน่ายไฟฟ้าตามแผนยุทธศาสตร์ชาติในการพัฒนาประเทศ ซึ่งบริษัทมีแผนจะเข้าประมูลงานรับเหมาก่อสร้างสายส่งและสายจำหน่ายไฟฟ้า และงานรับเหมาก่อสร้างโยธาทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชนเพิ่มขึ้น
อีกทั้งยังมีแผนที่จะลงทุนเครื่องจักร อุปกรณ์ และรถขนส่ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตรองรับโอกาสในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นในอนาคต และเพื่อเพิ่มศักยภาพของธุรกิจจำหน่ายผลิตภัณฑ์คอนกรีตและการขนส่งสินค้าให้กับลูกค้า
เขา แจกแจงว่า ปัจจุบันโครงสร้างศักยภาพทำกำไรแต่ละธุรกิจ ประกอบด้วย ธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายคอนกรีตอัดแรงเสาไฟฟ้าที่มีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 20-25% คิดเป็นสัดส่วน 60-70% ของรายได้รวม โดยกำไรที่ได้รับจากธุรกิจดังกล่าวปัจจุบันสามารถชดเชยกับค่าใช้จ่ายในการขายและการบริหาร (SG&A) ของบริษัทได้ทั้งหมด
ขณะที่ธุรกิจงานรับเหมาก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าและงานโยธาที่มีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 15% กำไรของ 2 ธุรกิจดังกล่าวจะเป็นตัวแปรชี้วัดผลกำไรของบริษัทได้เป็นอย่างดี ส่งผลให้ปัจจุบันอัตรากำไรสุทธิบริษัทเฉลี่ยอยู่ที่ 5-8% เชื่อว่าในอนาคตหากรายได้บริษัทเพิ่มมากขึ้นควบคู่ไปกับแผนลดต้นทุนด้านต่างๆ ก็จะช่วยเพิ่มศักยภาพทำกำไรได้อย่างแน่นอน
'ความโดดเด่นของบริษัทคือการจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นในอัตราสูงเพราะแม้ว่านโยบายการจ่ายเงินปันผลเป็นสัดส่วน 50% ของกำไรสุทธิหลังจากหักภาษี สำรองตามกฎหมาย และสำรองต่างๆทั้งหมด แต่จากสถิติในอดีตบริษัทจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นมาตลอดและมากกว่าเกณฑ์นโยบายกำหนด อย่างไรก็ตามภายหลังจากได้รับเงินระดมทุนไปแล้วมีโอกาสรับงานขนาดใหญ่ช่วยสร้างการเติบโตในอนาคตได้อีกมาก'
ท้ายสุด 'ภากร' ปัจจุบันใช้อัตราการผลิตเฉลี่ยเพียง 60-70% ดังนั้น บริษัทยังมีความสามารถในการขยายกำลังผลิตเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับความต้องการใช้ของลูกค้าในอนาคตได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) หากมีความคืบหน้าบริษัทก็มองว่าเป็นโอกาสที่จะสร้างการเติบโตได้ในอนาคต
'คนละครึ่ง' ลงทะเบียน 20 ม.ค.นี้ ใครไม่มีสิทธิ์รับเงิน 3,500 บาทบ้าง?
‘เราชนะ’ วันนี้ลุ้น! ครม. อนุมัติหลักเกณฑ์จ่าย 'เงินเยียวยา' 31 ล้านคน
‘เราชนะ’ ลุ้นวันนี้! เงื่อนไขสำคัญ ลงทะเบียน www.เราชนะ.com รับเงินเยียวยาโควิดรอบใหม่
'คนละครึ่งเฟส 2' รอบเก็บตก เคยถูกตัดสิทธิ 14 วัน ลงได้อีกหรือไม่?
'ตลาดหุ้น' ที่ไหนจะรุ่ง ที่ไหนจะร่วง ในปี 2021
เปิดเหตุผล 'เราชนะ' จ่ายเยียวยา โควิดรอบใหม่กระทบพื้นที่เศรษฐกิจ 75%