รฟม.มั่นใจชนะคดีรื้อประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ศาลนัดไต่สวน 14 ต.ค.นี้

รฟม.มั่นใจชนะคดีรื้อประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ศาลนัดไต่สวน 14 ต.ค.นี้

รฟม.ยันแก้ทีโออาร์รถไฟฟ้าสายสีส้ม ยังไม่เกิดผู้เสียหาย 14 ต.ค.นี้ เตรียมแจงทุกประเด็น มั่นใจชนะคดี พร้อมเดินหน้าขั้นตอนประมูลทันที เปิดรับข้อเสนอ 9 พ.ย.นี้ ระบุคำร้อง "บีทีเอส" ยื่นศาลไม่มีเงื่อนไขขอเงินชดเชย จบประเด็นรัฐจ่อเสียค่าโง่

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยถึงกรณีการปรับหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) โดยระบุว่า รฟม.ยืนยันถึงการปรับหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชนในครั้งนี้ เป็นสิทธิ์ที่คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 สามารถดำเนินการได้ และเป็นไปตามข้อกำหนดใน พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 อีกทั้ง จากการปรับหลักเกณฑ์ครั้งนี้ ดำเนินการก่อนเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอ และยังไม่ส่งผลเสียหายต่อเอกชนรายใด ไม่ก่อให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ

"คำฟ้องของบีทีเอส ที่ไปยื่นต่อศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา มีคำขอท้ายฟ้องระบุว่า 1.ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการปรับปรุงวิธีการประเมินและการขยายระยะเวลายื่อข้อเสนอตามที่ รฟม.ดำเนินการ และ 2.ขอให้ศาลเพิกถอนเอกสารประกาศเพิ่มเติม อีกทั้งยังมีคำขอท้ายคำร้องด้วยว่า ให้ศาลระงับการคัดเลือกเอกชนจนกว่าศาลจะมีคำสั่งพิจารณาตัดสินคดีนี้"

160197761592

อย่างไรก็ดี จากคำร้องและคำฟ้องของบีทีเอส รฟม.เตรียมข้อมูลคัดค้านต่อศาลปกครองกลาง ตามกำหนดนัดไต่สวนวันที่ 14 ต.ค.นี้ โดยจะชี้แจงในทุกประเด็นตามคำฟ้อง เรื่องการดำเนินการของ รฟม.ที่ทำตามกฎหมายหรือไม่ และการกำหนดข้อสงวนสิทธิ์ในเอกชนยื่นข้อเสนอโครงการ (RFP) ซึ่งประเด็นนี้ รฟม.มีข้อมูลพร้อมชี้แจงว่าเป็นการดำเนินการตามอำนาจของคณะกรรมการตาม ม.36 และดำเนินการอย่างรอบคอบ อีกทั้งภายในคณะกรรมการ ม.36 ยังประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่หลากหลาย เชื่อถือได้ เช่น ตัวแทนจากอัยการ ตัวแทนด้านกฎหมาย และผู้เชี่ยวชาญในระบบขนส่งมวลชน เป็นต้น

นอกจากนี้ จะชี้แจงในประเด็นของความเป็นผู้เสียหาย ซึ่งขณะนี้ รฟม.ยืนยันว่า การปรับหลักเกณฑ์ดังกล่าว จัดทำก่อนการยื่นข้อเสนอ อีกทั้งยังขยายเวลาให้เอกชนทุกรายได้ปรับข้อเสนอ โดยมีเวลาเตรียมตัวมากกว่า 70 วัน ดังนั้นยังไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่เอกชนรายใด ส่วนประเด็นของการนำคะแนนด้านเทคนิคมารวมในการพิจารณาคัดเลือกนั้น ก็เป็นการดำเนินการตามข้อสงวนสิทธิ์ที่ รฟม.ระบุไว้ใน RFP และยืนยันว่ากรณีของการปรับหลักเกณฑ์ จะไม่ทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ เพราะ RFP ไม่ได้กำหนดผู้รับเหมางานโยธาต้องซื้อซอง ดังนั้นสามารถรับเหมาช่วง (ซับคอนแทรค) ได้

นายภคพงศ์ กล่าวต่อว่า รฟม.มั่นในว่าจะชนะคดีนี้ เนื่องจากตามปกติแล้ว ศาลจะพิจารณาจากผู้ที่ได้รับความเสียหาย แต่ในกรณีนี้บีทีเอสยังไม่ได้เป็นผู้เสียหาย เพราะยังไม่ได้มีการยื่นประมูล แต่อย่างไรก็ดี คงต้องรอฟังคำตัดสินของศาล ว่าจะมีคำสั่งยกคำร้องหรือคุ้มครอง ซึ่ง รฟม.ยืนยันว่าดำเนินการทุกอย่างตามกฎหมาย และไม่มีส่วนใดขัดต่อมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) อีกทั้งการปรับเกณฑ์นี้เป็นประโยชน์ต่อภาพรวม

"ถ้ามีคำสั่งคุ้มครอง หรือยกคำร้อง คู่ความทั้งสองฝ่ายก็มีสิทธิ์ยื่นคุ้มครอง รฟม.ก็มีสิทธิ์อุทธรณ์คำร้องคุ้มครอง คงต้องดูไปตามรูปคดีก่อน แต่เรามั่นใจว่าคดีนี้จะไม่ยืดเยื้อ เพราะเรายังไม่เห็นว่าผู้ฟ้องคดีเสียหายอะไร"

ขณะที่ รฟม.เองก็ยังไม่ได้เกิดความเสียหาย แม้เหตุการณ์นี้จะเป็นเหตุทำให้สาธารณชนเกิดข้อสงสัยกับ รฟม. เป็นผลกระทบต่อภาพลักษณ์องค์กร แต่ในฐานะที่ รฟม. เป็นหน่วยงานรัฐ ต้องมุ่งดำเนินโครงการ ไม่ได้เน้นค้าความ จึงขอรอดูคำตัดสินของศาลก่อนว่าจะดำเนินคดีทางแพ่งหรือไม่อย่างไร

ทั้งนี้ หากศาลปกครองกลางมีคำสั่งยกคำร้อง รฟม. มีกำหนดจะเปิดรับข้อเสนอเอกชนในวันที่ 9 พ.ย.นี้ หลังจากนั้นจะใช้เวลาประชุมคณะกรรมการ ม.35 เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ย่อย พิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิค อาทิ เทคนิคการก่อสร้างที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน มีแผนความปลอดภัยต่ออาคารข้างเคียง แผนก่อสร้างต่อจุดอ่อนไหวอย่างการข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา และพื้นที่ในเมืองที่ผ่านเขตเมืองเก่า รวมไปถึงการสร้างสถานีในพื้นที่อนุรักษ์ จะต้องเชี่ยวชาญอย่างมาก เพราะมีความจำเป็นต้องขุดดินในความลึก 20-30 เมตร

โดยภายหลังจัดทำข้อกำหนดหลักเกณฑ์ย่อยแล้วเสร็จ รฟม.จึงจะเปิดซองข้อเสนอที่ 1 ด้านคุณสมบัติ ใช้เวลาพิจารณารายละ 1 สัปดาห์ หากมีผู้ยื่นข้อเสนอมากรายก็จะใช้เวลามาก เมื่อประเมินคุณสมบัติ หากเอกชนผู้ผ่านคุณสมบัติจึงจะได้รับสิทธิ์เปิดซองข้อเสนอซอง 2 ด้านเทคนิค และซอง 3 ด้านการเงิน โดย รฟม.จะเปิดทั้งสองซองข้อเสนอพร้อมกันเพื่อพิจารณารวมคะแนนตามเกณฑ์ตัดสิน ด้านเทคนิค 30 คะแนน และด้านการเงิน 70 คะแนน ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าภายในเดือน พ.ย.นี้ จะประกาศเอกชนผู้ผ่านการพิจารณาซอง 1 ด้านคุณสมบัติ และประกาศผู้ชนะการประมูลภายในต้นปี 2564

สำหรับโครงการรถไฟสายสีส้ม ที่เปิดประมูลครั้งนี้ ผู้ชนะการประมูลจะต้องก่อสร้างงานโยธา ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร และได้สิทธิ์ติดตั้งระบบรถไฟฟ้าและการเดินรถตลอดเส้นทางสายสีส้ม (มีนบุรี-บางขุนนนท์) ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร รวมมูลค่าโครงการ 142,789 ล้านบาท โดย รฟม.จะจ่ายเงินอุดหนุนงานโยธา วงเงินราว 9.6 หมื่นล้านบาท เบื้องต้นมีรูปแบบการจ่ายเงินอุดหนุน หลังเริ่มงานก่อสร้างแล้ว 2 ปี หรือเริ่มจ่ายในปีที่ 3 รวมระยะเวลาจ่าย 7 ปี ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของสำนักงบประมาณ เพื่อลดอัตราดอกเบี้ย

นายภคพงศ์ เผยด้วยว่า กรณีที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ยื่นหนังสือร้องทุกข์ต่อสำนักนายกรัฐมนตรี โดยเป็นห่วงในกรณีหาก รฟม.แพ้คดีครั้งนี้ อาจทำให้รัฐบาลต้องเสียค่าโง่แก่เอกชนเพราะต้องชดเชยความเสียหาย โดยเรื่องนี้ รฟม.ขอชี้แจงว่าไม่อาจเกิดขึ้นได้ เนื่องจากตามคำฟ้องและคำร้องของบีทีเอส ไม่มีการระบุถึงการเรียกร้องข้อเสียหาย อีกทั้ง รฟม.ปรับเกณฑ์คัดเลือกนี้ ดำเนินการเปิดรับข้อเสนอ ดังนั้นยังไม่มีเอกชนรายใดได้รับความเสียหายที่ต้องจ่ายเป็นเงินชดเชย