'ทัวร์ลง'

'ทัวร์ลง'

ปรากฏการณ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งในแวดวงของ Social Media ในประเทศไทยในระยะหลังนี้ก็คือสิ่งที่เรียกกันว่า “ทัวร์ลง” ซึ่งก็คือการที่ผู้เล่นหรือผู้ใช้สื่อดิจิทัลสมัยใหม่โดยเฉพาะในทวิตเตอร์จำนวนมากเข้ามาโพสต์และ/หรือมาดู รูป วีดิโอ และเขียนความคิดเห็น

ปรากฏการณ์ “ทัวร์ลง” ในแง่ของสังคมนั้นทำให้คนที่ “ตัวเล็ก” ซึ่งรวมถึงประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้มีเงินทองหรือมีอำนาจในสังคม สามารถที่จะ “ต่อสู้” หรือป้องกันตัวจากการข่มเหงของคนที่ “ตัวโต” กว่าซึ่งรวมถึงคนที่มีเงินหรือมีอำนาจทั้งในและนอกระบบ ตัวอย่างที่เกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ก็คือการที่คนมีเงินมากระดับมหาเศรษฐีที่ทำผิดแต่สามารถหลีกเลี่ยงไม่ต้องรับโทษได้เป็นเวลานานจน “หมดอายุความ” แต่แล้ว เมื่อประเทศไทยเข้าสู่ยุค “สื่อสังคมสมบูรณ์แบบ” ในช่วงโควิด-19 “ทัวร์” ก็เริ่มลง และเมื่อมันลงแล้ว คนตัวโตก็อาจจะหนีไม่พ้น และต่อจากนี้ผมคิดว่า สังคมไทยอาจจะมีความ “เท่าเทียม” กันมากขึ้น

ความเหลื่อมล้ำที่เป็นเรื่องของเศรษฐกิจในประเทศไทยนั้นค่อนข้างสูง “ติดอันดับโลก” มานานมาก เช่นเดียวกับความเหลื่อมล้ำทางด้านสังคมที่ผมคิดว่าเมืองไทยก็น่าจะติดอันดับโลกเหมือนกันเพียงแต่ว่าไม่มีหน่วยงานไหนระดับโลกที่จะมีดัชนีชี้วัดค่านี้ เหตุผลอาจจะเป็นเพราะว่ามันเป็นเรื่องที่กว้างมาก คนรวยทำผิดไม่ติดคุก แต่คนจนแค่เก็บเห็ดเพราะไม่รู้ว่าผิดกลับถูกลงโทษรุนแรง นี่เป็นความเหลื่อมล้ำทางสังคม แต่ครูลงโทษนักเรียนด้วยการทำร้ายร่างกายหรือจิตใจ ผู้ใหญ่ตีเด็ก สามีทำร้ายภรรยาหรือมีการคบหาหญิงอื่น เรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ถือเป็นความเหลื่อมล้ำทางสังคมหรือเป็นเรื่องทางวัฒนธรรม? ในอดีตเราไม่ค่อยมีปัญหา เพราะความคิดแบบดั้งเดิมสอนให้ทุกคนยอมรับ แต่สำหรับ “คนรุ่นใหม่” ซึ่งรวมถึงเด็กหรือคนที่เพิ่งจะเข้าสู่การเป็นผู้ใหญ่และคนสูงอายุที่มี “ความคิดใหม่” นั่นเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ คนที่จะเท่าเทียมกันนั้นต้องแปลว่าทั้งสองฝ่ายหรือทุกฝ่ายต่างก็มีสิทธิที่จะได้รับการปฏิบัติเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นคนอายุน้อยหรือสูงอายุ คนที่มีตำแหน่งในสังคมสูงหรือต่ำ คนที่มีเงินมากหรือน้อย และคนที่มีรสนิยมทางเพศหรือความคิดทางการเมืองแบบอื่น ต่างก็ต้องได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกันตามกฎหมาย ความเคารพนับถือนั้นต้องไม่ใช่การบังคับ แต่ต้องมาจากจิตใจของคนหนึ่งต่ออีกคนหนึ่ง สิ่งนี้กำลังเกิดขึ้นด้วยพลังของสื่อสังคมรุ่นใหม่

สุดท้ายก็คือเรื่องของการเมืองจริง ๆ ที่ตอนนี้เกิดการ “ต่อสู้” กันระหว่าง “คนรุ่นใหม่” กับ “คนรุ่นเก่า” โดยเฉพาะใน “โลกเสมือน” อย่างรุนแรง ซึ่งแน่นอนว่าในที่สุดก็จะลงมาสู่ “โลกจริง” ว่าที่จริงการต่อสู้ในโลกจริงก็เริ่มขึ้นแล้วหลายครั้งนั่นก็คือ “ม็อบ” ของคนหลายกลุ่มที่เริ่มขยายตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ ผมเองไม่แน่ใจว่าคนที่เกี่ยวข้องซึ่งรวมถึงฝ่ายรัฐที่ถืออำนาจอยู่จะตระหนักไหมว่า โลกกำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว หลายคนนั้นเวลาพูดถึงพลังของฝ่ายที่อยากจะเปลี่ยนแปลงก็จะพูดถึง “จำนวนคนที่ไปม็อบ” นี่อาจจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องในโลก “ยุคเก่า” แต่ในโลกยุคใหม่นั้น จำนวนคนที่เข้าไปดูหรือคอมเมนท์ในทวิตเตอร์อาจจะเป็น “ตัวชี้วัด” ที่ถูกต้องกว่า และถ้ามองแบบนี้ ผมก็คิดว่า เรากำลังมีปัญหาทางการเมืองค่อนข้างรุนแรง และในมุมมองของนักลงทุนในตลาดหุ้น ประเทศไทยอาจจะมีความเสี่ยงทางการเมืองที่สูง ซึ่งจะกระทบต่อตลาดหุ้นในอนาคต ดังนั้น การลงทุนก็ต้องนำเรื่องนี้มาวิเคราะห์ประกอบด้วย