'เพื่อไทย-ธนาธร' โบกมือลา 'ม็อบ 3 นิ้ว' ถูกทิ้งกลางถนน

'เพื่อไทย-ธนาธร' โบกมือลา 'ม็อบ 3 นิ้ว' ถูกทิ้งกลางถนน

ถึงจะไม่มีสัญญาณชัดเจน แต่ทั้ง "ก้าวหน้า-เพื่อไทย" ต่างเริ่มถอยห่างจากการเมืองข้างถนน เพื่อรักษาฐานของตัวเอง ฝ่ายหนึ่งพุ่งเป้าเลือกตั้งท้องถิ่น อีกฝ่ายก็ขอสนใจการเมืองในสภา

การนัดหมายชุมนุมใหม่ครั้งต่อไป ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในวันที่ 14 ต.ค. ของ "แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม" รวมถึง "กลุ่มประชาชนปลดแอก" และบรรดาแนวร่วมเครือข่ายต่างๆ นับว่าเป็นเรื่องน่าสนใจในมุมของการบริหารจัดการการชุมนุม รวมถึงทิศทางการเคลื่อนไหวต่อไป จะออกมาในรูปแบบใด

พลันที่ "พรรคเพื่อไทย" เขย่าโครงสร้างครั้งล่าสุด พร้อมกับบัญชาจากเจ้าของพรรคให้ส.ส.ในสังกัดซึ่งแนบแน่นเป็นเนื้อเดียวกันกับมวลชนคนเสื้อแดงนั้น ฉีกตัวหรือออกห่างจาก "ม็อบ3นิ้ว" นั่นเพราะประเด็นการเคลื่อนไหวที่สุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะปรากฎการณ์การชุมนุมเมื่อ 19-20 ก.ย.ที่ผ่านมา ชัดเจนว่ามวลชนจำนวนไม่น้อยในวันนั้น เป็นคนเสื้อแดงเป็นกำลังหลัก ที่ทำให้ม็อบดูมีพละกำลังในแง่จำนวนมวลชน

ส.ส.ฝั่งรัฐบาลหลายคนต่างรับรู้กันดีว่า การชุมนุมในวันนั้น ใครเป็นตัวตั้งตัวตี ขนคนเข้าเมืองหลวง รู้ขนาดว่าท่อน้ำเลี้ยงมาจากไหน ไหลเร็วแรง หรือไหลเอื่อย หรือไหลคดเคี้ยว ออกมาเต็มเม็ดเต็มหน่วยหรือไม่อย่างไร เมื่อบทบาทมวลชนจัดตั้งดูแนวโน้มจะลดน้อยถอยลง จึงเป็นความท้าทายของแกนนำที่จะปลุกแนวร่วมให้ออกมาบนถนนให้มากที่สุดในการชุมนุมครั้งถัดไป ท่ามกลางปัจจัยที่อาจทำให้คนจำนวนไม่น้อยขยาดหรือไม่ กับการที่แกนนำหลายคนปราศรัยเอาดุดันเข้าว่า โดยจ้องจะทะยานให้ทะลุเพดานอยู่เรื่อยๆนั้น อาจมีส่วนทำให้แนวร่วมค่อยๆ หดหายไปทีละน้อย

ต่างจากช่วงการชุมนุมของ "เยาวชนปลดแอก" ก่อนหน้านี้ ที่มีการประกาศจุดยืน 3 ข้อ โดยล็อกเป้า โฟกัสเฉพาะตัวรัฐบาลว่าเป็นปัญหา จนสามารถดึงแนวร่วมออกมาชุมนุมได้อย่างกว้างขวาง และว่ากันว่าการชุมนุมครั้งนั้นสร้างแรงกระเพื่อมได้อย่างมหาศาล เห็นได้จากการตอบรับของ "รัฐบาล" ในเรื่องการ "แก้ไขรัฐธรรมนูญ" ทำให้เห็นความแตกต่างของการชุมนุมที่นำโดยคนอีกกลุ่มชัดเจน

สถานการณ์เช่นนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่ามวลชนจำนวนไม่น้อย ตั้งความหวังให้ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ"  และ ‘ปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า ออกมานำมวลชนด้วยตัวเอง  เพราะตัวของ "ธนาธร" ถือเป็นแม่เหล็กดึงดูดผู้คนได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้เขาจะเคยให้สัมภาษณ์ไว้ทำนองว่า เหตุผลที่ตัวเองไม่ลงมาร่วมเป็นแกนนำการชุมนุม เพราะมีแกนนำที่เป็นคนรุ่นใหม่ทำหน้าที่ได้ดีอยู่แล้ว และไม่เห็นว่าการที่ตัวเองจะไปร่วมนำนั้น จะสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับการชุมนุมได้อย่างไร

บทบาทดังกล่าวของ "ธนาธร" จึงอาจเป็นเพียงภาพฝันของบรรดาแฟนคลับหรือไม่ เพราะตั้งแต่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 10 ปี "ธนาธร" หันไปให้ความสำคัญกับการเลือกตั้ง "นายกอบจ." อย่างเต็มตัว ในนามของ "คณะก้าวหน้า" เดินสายพบปะชาวบ้านทุกภาค หมายมั่นปั้นมือจะยึดหัวหาดการบริหารงานท้องถิ่นใหญ่ให้ได้ในหลายจังหวัด

ที่สำคัญ แม้ 'ธนาธร-ปิยบุตร' จะมาปรากฎตัวภายในพื้นที่ชุมนุมเมื่อเดือนก.ย. แต่ก็เป็นลักษณะของการมาเช็คเรตติ้งของตัวเองเสียมากกว่า และเดินทางกลับ โดยไม่ได้ร่วมหัวจมท้ายเท่าไหร ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงอาการ "กั๊ก" และการสงวนท่าทีอยู่ไม่น้อย เพราะรู้ดีว่าการสู้แบบ 'แรง-เร็ว' เหมือนที่พรรคอนาคตใหม่เคยทำมาก่อนนั้นลงเอยอย่างไร

ดังนั้น เมื่อทั้ง "เพื่อไทย" และ "ธนาธร" ต่างมีเป้าหมายของตัวเอง ขบวนการของ "ม็อบ3นิ้ว" ต่อจากนี้จะดำเนินไปอย่างไร จะขับเน้นประเด็นที่คิดว่าเป็นปัญหาด้วยแนวทางเดิมหรือไม่ และตามที่แกนนำบางคนเคยประกาศไว้ว่าจะปักหลักชุมนุมยืดเยื้อ 7 วัน7คืน จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ คำตอบอาจจะได้เห็นในวันที่ 14ตุลาฯ