ก้าวข้ามความกลัว 'กล้าเลือก กล้าทำ'

ก้าวข้ามความกลัว 'กล้าเลือก กล้าทำ'

"ทุกๆคนย่อมต้องเผชิญกับความกลัว แต่มันไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวเพราะหากทำความเข้าใจ ถอดหน้ากากมันออกมา จับเอามาอยู่ในที่ ๆเหมาะ ความกลัวก็จะกลายเป็นเครื่องมือที่เป็นประโยชน์ไม่ใช่พลังร้ายที่มาลิดรอนเรี่ยวแรง"

คือคำแนะนำของ “แลร์รี สมิธ” ซึ่งโด่งดังจากรายการ TEDxTalk เขาเป็นอาจารย์ที่คอยชี้ทางอาชีพให้กับนักศึกษามหาวิทยาลัยวอเตอร์ลู ประเทศแคนาดามาตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี ข้อเท็จจริงก็คือ คนเก่งที่แม้จะเรียนจบจากมหาวิทยาลัยชั้นนำก็ยังไม่รู้ว่าก้าวต่อไปในชีวิตจะเป็นอย่างไร และโลกทุกวันนี้ก็ไม่ได้มีเส้นทางที่แน่ชัดที่คอยบอกว่าควรต้องทำอย่างไรด้วย 

การวางแผนอนาคตเพื่อสร้างชีวิตที่ดีมีอยู่หลายแนวทาง หนึ่งในนั้นว่าด้วยการเอาชนะความกลัวที่มักทำให้คนตัดสินใจล้มเลิก passion ไม่เลือกเดินบนเส้นทางที่ชอบ


อะไรคือความกลัวตัวป่วนที่ทำให้โอกาสต่างๆชะงักงัน ในหนังสือ “no fears no excuses” และสำนักพิมพ์เนชั่นบุ๊คส์นำมาแปลเป็นภาษาไทยว่า “กล้าเลือก กล้าทำ” บอกว่าหลัก ๆ มีดังนี้คือ กลัวเสียเวลา,กลัวเสียโอกาส,กลัวในสิ่งที่ตนไม่รู้,กลัวตั้งความหวังสูงเกินไป,กลัวล้มเหลว,กลัวไม่มีเงิน,กลัวอะไรก็ไม่รู้ และความกลัวที่น่ากลัวกว่า


กลัวเสียเวลา แลร์รี สมิธมีลูกศิษย์ชื่อ “เซบาสเตียน” มาปรึกษาเพราะกลัวว่าถ้าเลือกเรียนบริหารโรงแรมแล้วมารู้ภายหลังว่าไม่เหมาะก็อาจต้องเสียเวลาไปอย่างน้อย 2 ปี ไม่มีอะไรที่เป็นประโยชน์เลยหรือ? เมื่อเจอคำถามนี้เซบาสเตียนจึงเห็นว่าการเรียนทำให้ได้ความรู้เกี่ยวกับการเงิน และทำให้รู้วิธีทำให้แขกที่มาพักในโรงแรมมีความสุขและอยากกลับมาพักอีก ซึ่งสามารถนำเอาความรู้นี้ไปใช้ประโยชน์ในธุรกิบริการอื่นๆได้อีกมากมาย เช่น ธุรกิจประกันภัย ค้าปลีก การท่องเที่ยว เป็นต้น


กลัวเสียโอกาส ลูกศิษย์ของเขาชื่อ “วินสตัน” อยากทำงานสองอย่าง เพราะชอบทั้งเรื่องวิเคราะห์การเงินและการออกแบบเกมคอมพิวเตอร์ชั้นสูง แต่เวลานี้เขาทำงานด้านธุรกิจการเงิน และเกรงว่าถ้าขืนทำงานนี้อย่างเดียวโดยไม่ได้ทำงานออกแบบเกมก็จะไม่มีวันรู้เลยว่าได้เลือกสิ่งที่ดีกว่าให้ตัวเองแล้วหรือยัง แต่ถ้าทำพร้อมกันก็กลัวจะเสียโฟกัส แต่ที่สุดเขาก็ทดลองทำงานแบบคู่ขนาน (parallel processing) และพบว่าได้สร้างข้อได้เปรียบให้กับเขา


“ทำให้งานทั้งสองอย่างยิ่งน่าสนใจมากกว่าเดิม การทำงานแบบนี้ทำให้ผมรู้สึกสนุกตื่นเต้น ผมรู้สึกเหมือนเครื่องยนต์ในสมองแล่นเต็มสูบ ”


แลร์รี สมิธ ยอมรับว่าเขาชอบการทำงานแบบคู่ขนานเช่นกัน มองว่าช่วยให้รวม passion เข้าด้วยกัน ทั้งยังช่วยยืนยันให้รู้ว่าทางเลือกไหนดีกว่ากัน อาชีพไหนที่เหมาะกับเรามากกว่า ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมากเพราะจะทำให้เราสามารถก้าวต่อไปโดยไม่ต้องย้อนคิดหรือเสียใจในภายหลัง


กลัวในสิ่งที่ตนไม่รู้ เขายกกรณีลูกศิษย์ชื่อ “พอลลา” เธอทำงานเป็นผู้จัดการธุรกิจค้าปลีกแห่งหนึ่ง แต่รู้สึกเกลียดงานนี้ จึงมองหาข้อมูลตำแหน่งงานบริหารที่คิดว่าว่าน่าสนใจกว่า และเจองานบริหารโครงการซึ่งมีความก้าวหน้า แต่จะเกิดอะไรขึ้นหากทำแล้วพบว่าเธอเป็นผู้บริหารโครงการที่ไม่ได้เรื่อง แลร์รี สมิธจึงขอให้เธอเล่าให้ฟังว่างานบริหารโครงการเป็นอย่างไร จึงได้รู้ว่าเพราะเธอไม่มีความรู้จริงในงาน ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน ทุกอย่างเป็นความรู้เชิงวิชาการเท่านั้น เธอกลัวสิ่งที่เธอไม่รู้แต่โชคดีที่สุดท้ายก็ได้รู้ว่ากำลังกังวลในเรื่องอะไร และตัดสินใจได้อย่างถูกต้องบนพื้นฐานของข้อมูล


กลัวตั้งความหวังสูงเกินไป ลูกศิษย์ชื่อ “ทรูดี” เธอรักงานช่างไฟฟ้ามาก และอยากเปิดบริษัทรับเหมาทำงานด้านไฟฟ้าซึ่งจะรวมความชื่นชอบเรื่องเทคโนโลยีไฟฟ้ากับความฝันอยากจะมีธุรกิจเป็นของตัวเองเข้าด้วยกัน แต่จนแล้วจนรอดเธอก็ไม่ได้ทำเสียที เพราะกลัวว่าจะบินสูงเกินไป มันเป็นงานที่ไม่เคยทำมาก่อน เธอจึงควรสร้างความมั่นใจให้กับตัวเองด้วยการมองหาใครสักคนเป็นแบบอย่าง เขาจึงแนะนำให้ไปคุยกับเจ้าของธุรกิจในแวดวงเพื่อฟังคำแนะนำ แม้มีความหวั่นใจอยู่บ้างแต่สุดท้ายเธอก็เอาชนะความกลัวความลังเลใจได้


กลัวล้มเหลว แลร์รี สมิธบอกว่าเป็นความกลัวที่เขาพบบ่อยที่สุด และยกตัวอย่างลูกศิษย์ชื่อ “แซม” ที่ทำงานได้ดีในงานจุลชีววิทยาและยังได้งานในเมืองที่อยากอยู่อีกด้วย แต่กลับพบว่าเขาพยายามดูข้อเสียของงานเพื่อจะหาทางตอบปฏิเสธ เนื่องจากบริษัทที่รับเขามีชื่อเสียงจนทำให้เขารู้สึกไม่มั่นใจ


ทำไมเขาจึงกลัวความล้มเหลว? เพระแซมมาจากครอบครัวที่อบอุ่น เขาเป็นความภูมิใจและความสุขของทุกคนในครอบครัวเขาจึงกังวลว่าจะทำให้ครอบครัวผิดหวัง แต่ที่สุดเขาก็ตกลงรับงานเพราะแม้ว่าครอบครัวจะไม่รู้ว่าเขาได้งาน แต่ถ้าไม่ทำก็คงทำให้ทุกคนผิดหวังอยู่ดี


แต่ในกรณีของลูกศิษย์ชื่อ “ร็อกแซนน์” เธอคือดีไซน์เนอร์มือดีมีประวัติความสำเร็จมายาวนานแต่ระยะหลังหน้าที่การงานกลับไม่ก้าวหน้า เจ้านายของเธอประเมินว่าผลงานอยู่ในระดับพอใช้ เลือกทำแต่เฉพาะ “งานที่ต่ำกว่าความสามารถ” ไม่สอดคล้องกับความสำเร็จในอดีต


ทำไมปล่อยโอกาสที่จะท้าทายตัวเอง? เธอให้เหตุผลว่าเพราะรู้ตัวว่าถ้าเป็นงานธรรมดาผลงานจะออกมาดีมาก รู้ว่าเป็นงานที่ทำได้ดีอยู่แล้ว ทำให้รู้สึกปลอดภัย เธอไม่ได้คิดว่าจะออกแบบงานดีๆไม่ได้ แต่กลัวว่าจะทำได้ไม่ดีถึงระดับสุดยอดต่างหาก ที่ผ่านมาเธอบรรลุความสำเร็จจึงไม่อยากเอาความภาคภูมิใจไปเสี่ยงทำงานที่ไม่ถนัด


แลร์รี สมิธบอกว่า สิ่งที่ทุกคนต้องตั้งคำถามกับตัวเองก็คือ ไม่กล้าทำงานยากเพราะรู้สึกสบายกับงานที่ตัวเองถนัดอยู่หรือเปล่า ไม่กล้าเสี่ยงจะรับความล้มเหลวที่มาพร้อมกับโอกาสในการเติบโตอย่างแท้จริงหรือเปล่า การพยายามหนีอันตรายที่มาถึงตรงหน้า โดยไม่รู้ว่าอนาคตที่จะมาถึงน่ากลัวมากกว่า ดังนั้นควรเผชิญความกลัวนั้นนับตั้งแต่ตอนนี้


กลัวไม่มีเงิน แลร์รี สมิธบอกว่ามีลูกศิษย์หลายคนที่ทิ้ง passion โดยเลือกทำงานกับงานที่ทำรายได้สูงสุดเพราะ “กลัวจน” ทว่าการแข่งขันบนโลกใบนี้ผลักดันให้ต้องแข่งกันที่ passion เพราะความมั่นคงหรือเงินทองเป็นอะไรที่ไม่ยั่งยืน ถือเป็นความสำเร็จระยะสั้น ซึ่งที่ผ่านมาก็เห็นแล้วว่าแม้กระทั่งคนที่ทำงานในบริษัทยักษ์ใหญ่ ที่ดูเหมือนหน้าที่การงานจะมีความมั่นคง ก้าวหน้า ปลอดภัย แต่ก็ถูกเลิกจ้าง ทางที่ดีควรต้องมองระยะยาว ซึ่งการทำงานที่รักจะนำพาให้คนผลักดันตัวเองไปสู่ความสำเร็จได้ในที่สุด


กลัวอะไรก็ไม่รู้ ถือเป็นความกลัวที่แก้ไขได้ยากที่สุด เพราะไม่สามารถระบุหรือชี้ชัดได้ว่ากลัวอะไร เพราะการจะทำความเข้าใจความกลัวได้ก็ต่อเมื่อสามารถหาเหตุผลมาอธิบายความรู้สึกกังวลนั้นได้ ยิ่งอธิบายความกลัวได้ชัดเจนมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเข้าใจมันมากขึ้นเท่านั้น


“ความกลัวอันคลุมเครือเหมือนกับม่านหมอกที่มองทะลุได้ยาก ทำให้ทุกอย่างหยุดชะงัก แต่บอกได้ไหมว่ากำลังกลัวอะไรจะทำให้ทุกอย่างกระจ่างขึ้น ทว่ามันเป็นเรื่องที่พูดง่ายแต่ทำได้ยาก”


ความกลัวที่น่ากลัวกว่า คนเราอาจมีความกลัวหลายอย่างผสมกันอยู่ในเวลาเดียวกัน แต่ส่วนใหญ่คนเรามักกลัวอันตรายที่กำลังเกิดขึ้นแต่ไม่ค่อยกลัวอันตรายที่ยังไม่มาถึง


"มีความกลัวอย่างหนึ่งที่น่ากลัวมากกว่าเรื่องอื่นๆ ก็คือ กลัวว่าจะใช้ความรู้ความสามารถที่มีอยู่ไปในสิ่งที่ไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับตัวเอง กลัวว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากเส้นทางที่ไม่ได้เลือก ถ้าเป็นเส้นทางที่น่าจะเลือกแต่ไม่ได้เลือก ต้นทุนความเสียหายมันสูงจริงๆ"