'เกย์ดาร์' (การหยั่งรู้รสนิยมทางเพศ) ของ AI ดีกว่าคน

'เกย์ดาร์' (การหยั่งรู้รสนิยมทางเพศ) ของ AI ดีกว่าคน

ในยุคที่ AI เก่งกว่าคน (บางเรื่อง)ถ้าจะให้ประเมินแยกแยะว่า คนไหนเป็นเกย์ เป็นไบเซ็กชวล หรือรักต่างเพศ เจ้าเครื่องจักรกลอัจฉริยะ มันทำได้...ลองอ่านเรื่องนี้ในมุมวิทยาศาสตร์บวกกับพฤติกรรมบางอย่างที่ใช้ประเมินผล

 ระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา เอไอ (AI) หรือปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ทำสิ่งที่ฟังดูเหลือเชื่อได้มากมายเต็มไปหมด ในด้านเกมการแข่งขัน นอกจากจะเอาชนะนักหมากรุกแชมป์โลกได้แล้ว เกม “โกะ” ที่เชื่อกันว่า จะเป็นปราการด่านสุดท้ายของเกมแบบนี้ที่ AI ยากจะเอาชนะได้ ก็ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า เป็นแค่ความเชื่อที่ผิด

แม้แต่รายการตอบปัญหาความรู้รอบตัวแข่งกัน AI ก็ล้มแชมป์ชาวโลกได้แล้วเช่นกัน

พวกสายอาชีพก็ใช่ว่าจะนิ่งนอนใจได้ แม้แต่แข่งขันวินิจฉัยโรคแข่งกันกับทีมแพทย์ AI ก็เพิ่งเอาชนะไปได้หมาดๆ เช่นกัน แล้วพวกที่ว่าต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์สูง อย่างการเขียนข่าว แต่งนิยาย แต่งเพลง วาดภาพ น่าจะรอดไปได้อีกนาน ก็...ไม่จริงอีก เพราะ AI ทำที่ว่ามาทั้งหมดได้แล้ว

และเมื่อถามกรรมการที่เป็นมนุษย์ ก็แยกแยะไม่ได้เลยว่าอันไหนเป็นผลงานจากปัญญาประดิษฐ์ อันไหนจากคนจริงๆ แม้แต่งานเจรจานัดหมายเวลาให้เจ้านายแทนเลขาตัวจริง โปรแกรมแช็ตบอตอย่าง Google Assistant ก็ทำได้เนียนสุดๆ อย่างเหลือเชื่อ

ไม่น่าแปลกใจนะครับว่า นักวิทยาศาสตร์อย่าง สตีเฟน ฮอว์คิง และนักเทคโนโลยีระดับแนวหน้าของโลกอย่าง อีลอน มัสก์ มอง AI อย่างไม่ไว้วางใจเสมอมา

ในสังคมไทยที่แม้จะเปิดเผยเรื่องเพศภาพที่แท้จริงมากขึ้น แต่ก็มีคนไม่น้อยที่ไม่อยากเปิดเผยตัวตนที่แท้จริง เลยมักจะแซวๆ กันว่า หากอยากจะรู้ว่าใครเป็นเกย์หรือไม่ ก็ให้คนที่เป็นเกย์ มาดู มาฟัง มาวิเคราะห์ ทำนอง “ผีเห็นผีด้วยกัน” (คำพูดนี้ฟังเค้ามาอีกที ไม่ได้คิดเองนะครับ)

พวกฝรั่งก็มีเรื่องแบบนี้เหมือนกัน ถึงกับมีศัพท์เฉพาะเรียกว่า “เกย์ดาร์ (gaydar)” เลียนแบบเรดาร์

หากวันหนึ่งมี AI ที่สามารถแยกแยะผู้คน โดยอาศัยแค่เพียงรูปถ่ายว่า เขาหรือเธอเป็นพวกรักร่วมเพศหรือไม่จะเกิดอะไรขึ้น? ถึงวันนี้คำถามนี้ไม่ได้เป็นแค่คำถามเล่นๆ ลับสมองนะครับ แต่กลายเป็นเรื่องจริงขึ้นมาแล้ว

นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด ดร.ไมเคิล โคซินสกี (Michal Kosinski) และลูกศิษย์ชื่อ ยี่หลุน หวัง (Yilun Wang) ตีพิมพ์ผลการวิจัย (Journal of Personality and Social Psychology (2018) 114 (2), 246-257) ที่มีเนื้อหาระบุว่า ใบหน้ามีข้อมูลเกี่ยวกับเพศสภาพมากเกินกว่าสมองของคนเราจะรับรู้และประมวลผลออกมาได้หมด แต่ AI ทำสิ่งนี้ได้ดีกว่ามาก

เมื่อให้ AI วิเคราะห์ภาพใบหน้าทั้งชายและหญิงจำนวนมากกว่า 35,000 ภาพ โดยดึงภาพเหล่านั้นมาจากเวบไซต์หาคู่ในสหรัฐอเมริกา อาศัยฐานข้อมูลใบหน้าขนาดใหญ่ (คู่กับข้อมูลด้านเพศสภาพ) และระบบทางคณิตศาสตร์ที่ออกแบบมาเป็นพิเศษ ทำให้สามารถเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลได้แม่นยำน่าทึ่งทีเดียว

กล่าวคือ หากใช้เพียงภาพเดียวต่อคนแต่ละคน จะสามารถระบุด้วยความถูกต้องราว 81เปอร์เซ็นต์ ในผู้ชาย และ 74 เปอร์เซ็นต์ ในผู้หญิงว่า คนไหนเป็นชายจริงหญิงแท้ คนไหนเป็นพวกชอบเพศเดียวกัน (เทียบกับผลที่ใช้คนวิเคราะห์ที่ได้ระดับความแม่นยำ 61 เปอร์เซ็นต์ สำหรับผู้ชาย และ 54 เปอร์เซ็นต์ สำหรับผู้หญิง หรือเท่าๆ กับเดาสุ่มนั่นเอง)

แต่จะยิ่งน่าทึ่งมากยิ่งขึ้นไปอีก หากรูปใช้รูปใบหน้าเพิ่มขึ้นเป็น 5 รูป แทนที่จะใช้เพียงรูปเดียว โดยผลจะกระโดดไปอยู่ที่ 91เปอร์เซ็นต์ สำหรับผู้ชาย และ 83 เปอร์เซ็นต์ สำหรับผู้หญิง!

นักวิจัยอธิบายว่า ที่เป็นเช่นนั้น เพราะมีลักษณะบางอย่างของใบหน้าที่ไม่ตรงกับเพศทางชีววิทยาของชายและหญิงทั่วไป เช่น เกย์จะมีกรามที่แคบกว่า มีจมูกที่ยาวกว่า และหน้าผากที่ใหญ่กว่าผู้ชายที่ชอบผู้หญิง ส่วนผู้หญิงที่ชอบเพศเดียวกันก็จะมีกรามที่ใหญ่กว่าเฉลี่ยและหน้าผากที่แคบกว่าเฉลี่ยหญิงสาวโดยทั่วไปที่ชอบเพศตรงกันข้าม

ลักษณะที่ซอฟต์แวร์วิเคราะห์ได้นี้ ละเอียดยิบย่อยเกินกว่าที่สายตาและสมองคนทั่วไปจะวิเคราะห์ได้อย่างแม่นยำและเที่ยงตรง

เรื่องนี้มีหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องซึ่งน่าสนใจ หากโครงสร้างมีความแตกต่างระดับที่สังเกตได้เช่นนี้จริง ก็แสดงว่าเพศทางใจที่ไม่ตรงกับเพศทางชีววิทยา น่าจะมาจากปัจจัยทางร่างกายโดยตรง และไม่ใช่เรื่องที่คนเหล่านั้น “เลือกที่จะเป็น” หรือผลมาจากวัฒนธรรมหรือการเลี้ยงดู หากเป็นเช่นนั้นจริง แสดงว่าภาวะรักร่วมเพศ (อย่างน้อยก็ในคนกลุ่มหนึ่ง) เป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้

ความรู้แบบนี้จะไปรุกล้ำความเป็นส่วนตัวของใครต่อใครมากเพียงใด ลองคิดเล่นๆ ถ้าแฟนกันหรือคู่แต่งงานจะลองเอาหน้าสามีหรือภรรยาไปลองใส่เข้าไปในโปรแกรมแบบนี้จะยุ่งวุ่นวายเพียงใด วัยรุ่นที่อยากรู้เพศสภาพตัวเองหรือของเพื่อน จะเป็นแค่เรื่องขำๆ หรือจะส่งผลกระทบร้ายแรงอะไรได้บ้าง

อันที่จริง ดร.โคซินสกี ที่เป็นคนทำวิจัยเรื่องนี้ ก็เคยโด่งดังมาจากผลงานที่ทำกับมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เกี่ยวกับการดึงข้อมูลคนจากโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊คมาใช้ประโยชน์ ซึ่ง AI แบบเดียวกันนี้เองที่ทีมงานของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ใช้ดึงคนที่ยังไม่ตัดสินใจให้หันมาลงคะแนนให้ในตอนเลือกตั้งประธานาธิบดีที่ผ่านมา

และเป็น AI ทำนองเดียวกับที่ใช้ทำนายผลการลงคะแนนออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษหรือ “เบร็กซิต (Brexit)” ได้อย่างแม่นยำอีกด้วย

แน่นอนว่าในแง่กฎหมายคงจะต้องมีการถกเถียงกันอีกหลายแง่หลายมุม ถึงการใช้ประโยชน์และผลกระทบที่ไม่ต้องการจากความสามารถทำนองนี้ของ AI

แต่แค่คิดก็หนาวแล้วนะครับ เพราะคำว่า “รู้หน้าไม่รู้ใจ” จะไม่ถูกต้องอีกต่อไป อย่างน้อย...ก็ในเรื่องเพศสภาพและความชอบส่วนตัวเรื่องนึงละครับ!