พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร 62 ดันตลาดสมุนไพรโต

พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร 62 ดันตลาดสมุนไพรโต

พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร 62 ซึ่งมีผลบังคับใช้ เมือ่วันที่ 29 มิ.ย.62 ถือเป็นอีกหนทาง กระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มรายได้เกษตรกร ทางเลือกประชาชน ทดแทนการนำเข้ายา และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากต่างประเทศ

พระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร 2562 ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2562 ปรับปรุงวิธีการอนุญาตขึ้นทะเบียนยาให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น จะได้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยที่มีคุณภาพ ปลอดภัยมากขึ้น ทดแทนการนำเข้ายาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากต่างประเทศ เพิ่มโอกาสการแข่งขันกับตลาดต่างประเทศส่งเสริมการพึ่งพาตนเอง เกิดประโยชน์ย้อนกลับสู่เกษตรกรนำสมุนไพรไทยมาแปรรูปเป็นสินค้า ทั้งยา อาหารเสริม เครื่องสำอางประชาชนมีทางเลือกทางดูแลสุขภาพจะช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศเพิ่มขึ้นได้

ข้อดี พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร 2562 ที่มองเห็นชัดเจนและจะส่งผลดีต่อวงการสมุนไพรตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ คือ.ผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุขอื่นนอกเหนือจากผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทย สามารถจ่ายผลิตภัณฑ์สมุนไพรและยาแผนไทยบางรายการแก่ผู้ป่วยของตนเพื่อการดูแลสุขภาพได้

อีกประเด็นคือผู้ที่มีตำรับยาจากสมุนไพรของตนเอง สามารถขอขึ้นทะเบียนตำรับยาได้โดยตรง โดยไม่จำเป็นต้องมีใบอนุญาตผลิตหรือสถานที่ผลิตยาก่อน เมื่อได้ทะเบียนตำรับยาแล้ว สามารถจ้างสถานที่ผลิตยาที่ได้มาตรฐาน ผลิตยาที่ได้ขึ้นทะเบียนและจัดจำหน่ายต่อไปได้ และ.แพทย์แผนไทย/ แพทย์แผนไทยประยุกต์ แบ่งบรรจุ จ่ายยา ขายยาแผนไทยแก่ผู้ป่วยของตนได้โดยไม่ต้องขออนุญาตตามกฎหมายนี้ 

ซึ่งปัจจุบันมีผู้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสาขาการแพทย์แผนไทยรวม 4 สาขา คือ เวชกรรมไทย เภสัชกรรมไทย การผดุงครรภ์ไทย และการนวดไทย ประมาณ 37,000 รายผู้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์รวม 4,100 คน

“พท.ป.ศิริกันยา สยมภาค” อาจารย์สาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ วิทยาลัยการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กล่าวว่า ผลดีของการเกิดพระราชบัณญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร 2562 จะมีคณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติ กำหนดนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ด้านผลิตภัณฑ์สมุนไพรแห่งชาติ มีคณะกรรมการผลิตภัณฑ์สมุนไพรกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อควบคุมและกำกับดูแลผลิตภัณฑ์สมุนไพร ด้วยระบบการอนุญาต การขึ้นทะเบียน การแจ้งรายละเอียด และการจดแจ้ง ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ตลอดจนมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการส่งเสริมให้มีการพัฒนา ผลิตภัณฑ์สมุนไพรอย่างเป็นระบบและครบวงจร ซึ่งจะทำให้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย มีความปลอดภัย มีคุณภาพและมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากลรวมทั้งเพิ่มมูลค่าในการส่งออกไปยังต่างประเทศให้มากยิ่งขึ้น พระราชบัญญัติดังกล่าว ยังมีความสอดคล้องต่อการส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ สมุนไพรซึ่งเป็นไปตามแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560-2564

จากเดิมไม่มีกฎหมายควบคุมและกำกับดูแลผลิตภัณฑ์สมุนไพรเป็นการเฉพาะ ทำให้ต้องนำบทบัญญัติตามกฎหมายว่าด้วยยาและกฎหมายว่าด้วย อาหารมาใช้บังคับ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวยังไม่เหมาะสมกับการควบคุมและกำกับดูแลผลิตภัณฑ์สมุนไพร รวมทั้งไม่สอดคล้องต่อการส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพร การมีพระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร 2562 จะส่งผลดีต่อตลาดสมุนไพร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำได้

อาจารย์สาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ วิทยาลัยการแพทย์แผนไทย อธิบายว่ากฎหมายฉบับนี้จะเป็นการทำให้การพัฒนาสมุนไพรที่เป็นยาหรือเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพมีความยืดหยุ่นมากขึ้น แล้วก็จะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมสมุนไพรในประเทศตั้งแต่ระดับการผลิตวัตถุดิบสมุนไพรแล้วก็เอามาทำให้เป็นผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ มีการส่งเสริม เกษตรกร และผู้ผลิตที่เป็นรายเล็กในระดับชุมชนด้วยจึงเป็นโอกาสทองสำหรับเกษตรกรไทยที่จะปรับตัวการผลิตให้ตรงกับความต้องการของตลาด 

   

ทั้งนี้การพัฒนา Products Champion กับสมุนไพรไทย 12 ชนิด ตามแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย 2560-2564  ครบวงจร ตั้งแต่การศึกษาวิจัยจนถึงการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ อาทิ ยารักษาโรค เวชสำอาง อาหารเสริม เครื่องดื่ม รวมทั้งได้ร่วมกันคัดเลือกสมุนไพรนำไปวิจัยต่อยอดในเชิงพาณิชย์ เป็นที่ต้องการของตลาดเป็น Products Champion ทั้งหมด 12 ชนิด คือกวาวเครือ กระชายดำ ขมิ้นชัน บัวบก มะขามป้อม กระชาย พริก ไพล ฟ้าทะลายโจร กระเจี๊ยบแดง ว่านหางจระเข้ และหญ้าหวานในปี 2560 ได้ทำการคัดเลือกให้กระชายดำ ขมิ้นชัน บัวบก และไพล เป็นสมุนไพรเชิงเศรษฐกิจ ต่อยอดผลิตหลายรูปแบบ ทั้งเวชสำอาง อาหารเสริม เครื่องดื่ม เป็นต้น

“นายแพทย์ศิริชัย ลิ้มสกุล” ผู้อำนวยการบริษัทผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย จำกัด กล่าวว่า การมีพ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร 2562 จะทำให้ตลาดสมุนไพรเติบโตมากขึ้น และหากเป็นไปได้ในการรักษาอาการเจ็บป่วยต่างๆ ควรมีการใช้ผสมผสานร่วมกันระหว่างการแพทย์แผนปัจจุบันกับการแพทย์สมุนไพรมากขึ้น จะเป็นการส่งเสริมให้ตลาดสมุนไพรไทยกว้างมากขึ้นไปด้วย

อย่างไรก็ตามในการผลิตสมุนไพร ตั้งแต่ต้นน้ำ เกษตรกรควรปรับกระบวนการเพาะปลูกให้เป็นอินทรีย์ หรือปลอดสารพิษเพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่สมุนไพร ส่วนผู้ประกอบการจะต้องมีการรวมกลุ่มเพื่อสร้างความเข้มแข็ง และให้ความสำคัญต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน และตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ทั้งตลาดภายในประเทศและตลาดส่งออก ที่สำคัญควรจะเน้นการบอกเล่าเรื่องราวและคุณประโยชน์ของสมุนไพรไทยว่าดีอย่างไร เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจและเพิ่มความต้องการบริโภคสมุนไพรไทยเพิ่มขึ้น

“หากสามารถทำให้ทุกคนเข้าถึงได้ง่ายและทั่วถึง ในราคาที่เป็นธรรม ก็จะเป็นประโยชน์มากขึ้น ที่สำคัญหากสามารถนำสมุนไพรมาใช้ร่วมในการป้่องกัน บำบัด ดูแล และรักษาร่วมกันกับแพทย์แผนปัจจุบันได้ก็จะเป็นการดีมากขึ้นด้วยเช่นกัน และมีบางสถานพยาบาลใช้ทั้ง 2 ศาสตร์ร่วมกันแล้ว ยกตัวอย่างเช่นแพทย์แผนปัจจุบันวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย แต่ผู้ป่วยเลือกแนวทางการรักษาทางเลือกโดยใช้สมุนไพรบำบัดแทนการฉายรังสี เป็นต้น” นายแพทย์ศิริชัย กล่าว

สำหรับบริษัทผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย จำกัด ก่อตั้งเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2538 เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างองค์การเภสัชกรรมและภาคเอกชนเพื่อสนองต่อนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการใช้สมุนไพรอย่างกว้างขวางและเป็นการทดแทนการนำเข้ายาแผนปัจจุบัน โดยมีองค์การเภสัชกรรมเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ภายใต้ชื่อผลิตภัณฑ์ “ไฟโต แคร์” “ไฟโต โกลด์” และ “ไทยเฮิร์บ” ล่าสุดได้รางวัลผลิตภัณฑ์สมุนไพรดีเด่นระดับชาติ ปี 2562 และ 2563, รางวัลผลิตภัณฑ์สมุนไพรคุณภาพ 2561 และ 2563,

  • ข้อดีพ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร 2562

- ส่งเสริมให้มีการผลิต จำหน่ายผลิตภัณฑ์สมุนไพรสอดคล้องภูมิปัญญาการแพทย์ดั้งเดิม ความรู้พื้นบ้าน วิทยาศาสตร์การแพทย์ และการแพทย์ทางเลือก

- ส่งเสริมผลิตภัณฑ์สมุนไพรทั้งในระดับชุมชนและระดับประเทศคำนึงถึงคุณภาพและความปลอดภัยที่จะส่งผลต่อผู้บริโภค

- มีคณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติจัดทำแผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการพัฒนาสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรระดับประเทศ

- อนุมัติผลิตภัณฑ์เพื่อผลิต นำเข้า และจำหน่ายตามระดับความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่ความเสี่ยงสูงปานกลาง และต่ำ ตามหลักเกณฑ์กฎหมายลูกในนอนาคต

- แพทย์แผนไทยปรุงยา แบ่งบรรจุ จ่ายยา ขายยาแผนไทยแก่ผู้ป่วยของตนได้โดยไม่ต้องขออนุญาตตามกฎหมายนี้

- ผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุขอื่นนอกเหนือจากแพทย์แผนไทยสามารถจ่ายผลิตภัณฑ์สมุนไพรและยาแผนไทยบางรายการแก่ผู้ป่วยของตนเพื่อการดูแลสุขภาพได้

- ผู้ที่มีตำรับยาจากสมุนไพรของตนเอง สามารถขอขึ้นทะเบียนตำรับยาได้โดยตรง โดยไม่จำเป็นต้องมีใบอนุญาตผลิตหรือสถานที่ผลิตยาก่อน เมื่อได้ทะเบียนตำรับยาแล้ว สามารถจ้างสถานที่ผลิตยาที่ได้มาตรฐาน ผลิตยาที่ได้ขึ้นทะเบียนและจัดจำหน่ายต่อไปได้