'ธนาธร' เสนอไอเดียท่องเที่ยวแบบเชื่อมโยงกระตุ้นเศรษฐกิจ

'ธนาธร' นำทีม 'ก้าวหน้า' ลงพื้นที่อุบลราชธานี มั่นใจใช้ท่องเที่ยวแบบเชื่อมโยงกระตุ้นเศรษฐกิจได้ผล

เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ที่ จ.อุบลราชธานี นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า นายไกลก้อง ไวทยการ กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า พร้อมด้วยทีมผูสมัครองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุบลราชธานี นำโดย นายเชษฐา ไชยสัตย์ ผู้สมัครนายก อบจ. อุบลราชธานี   ได้เดินทางไปยังอุทยานธรณีผาชัน-สามพันโบก เพื่อศึกษาเส้นทางและพัฒนานโยบายต่อยอดเส้นทางการท่องเที่ยว

ทั้งนี้ อุทยานธรณีผาชัน-สามพันโบก มีสถานที่ท่องเที่ยวที่โด่งดังอย่าง ‘สามพันโบก’ หลุม แอ่ง โขดหิน ที่เกิดจากการกัดเซาะชายฝั่งของแม่น้ำโขงที่กั้นระหว่างประเทศไทยและ สปป.ลาว สามพันโบก เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความสนใจจากพี่น้องประชาชนจำนวนมาก แต่เนื่องจากปัญหาการเดินทางระหว่างอำเภอ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในการเดินทางไปยังอุทยาน ทำให้เกิดความยากลำบากในการพัฒนาพื้นที่ในฐานะสถานที่ท่องเที่ยวหลักของอุบลราชธานี ซึ่งปัจจุบันเส้นทางจากอำเภอเมืองอุบลราชธานี มายังสามพันโบก ใช้ระยะทางมากถึง 100 กว่ากิโลเมตร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการเยี่ยมชมพื่นที่ดังกล่าว นายธนาธร ได้เสนอแนวคิดเชื่อมโยงพี่น้องประชาชน นักท่องเที่ยว ระหว่างเมืองและสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังริมฝั่งโขง ตั้งแต่สามพันโบก ผาชนะได ผาแต้ม ฯลฯ ผ่านเส้นทางสามเส้น ได้แก่ สายที่หนึ่ง เขมราฐ- สามพันโบก - ผาชนะได - ผาแต้ม - โขงเจียม,  สายที่สอง ภายในอุทยานธรณี เช่น ถ้ำมืด - ถ้ำปาฏิหารย์ เป็นต้น เพื่อทำเป็น one day trip และเส้นทางที่สาม อำเภอเมืองอุบล - ตระการพืชผล - ศรีเมืองใหม่ เพื่อเป็นจุดต่อรถเพื่ออำนวยความสะดวกแก่พี่น้องประชาชนที่อยากจะเดินทางเที่ยวเส้นทางธรรมชาติริมฝั่งโขงและอุทยานธรณี 

ด้าน นายเชษฐา กล่าวว่า พร้อมนำเสนอนโยบายการพัฒนาแบบฉบับคณะก้าวหน้า โดยเฉพาะแนวคิดการปรับปรุงเส้นทาง 3 เส้นทางหลักดังกล่าว เพื่อดึงเอาศักยภาพและสร้างเม็ดเงินให้กับท้องถิ่นในอนาคต และนอกจากเส้นทาง 3 เส้นที่ต้องการพัฒนาและปรับปรุง ตนยังมีเป้าหมายหลักในการผลักดันให้อุทยานธรณีผาชัน-สามพันโบก เป็นอุทยานธรณีระดับโลก ภายใต้การรับรองของ UNESCO 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นนายธนาธรและคณะ ได้เดินทางต่อไปยังสถานีขนส่งเพื่อสอบถาม พูดคุยกับพี่น้องประชาชนผู้ใช้บริการที่ผ่านไปผ่านมา พบว่า ปัญหาระบบขนส่งสาธารณะของจังหวัดยังมีปัญหาอยู่มาก การเดินทางระหว่างอำเภอ การเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยว ก็ยังมีอยู่อย่างจำกัดมาก ถัดจากนั้นธนาธรได้แวะไปดูปัญหา ศูนย์ OTOP ประจำจังหวัด พบว่ายังมีช่องโหว่ในการพัฒนาอีกหลายด้าน ที่สามารถแก้ไขได้ด้วยโดยใช้งบประมาณไม่มาก ปรับเปลี่ยนจากศูนย์ OTOP ที่ซบเซา ให้กลายเป็นร้านค้าคึกคัก สร้าง working space และปรับปรุงภูมิทัศน์ ดึงพี่น้องประชาชนและนักเรียน นักศึกษาบริเวณใกล้เคียงมาใช้บริการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของพ่อค้าแม่ขายในศูนย์ OTOP