จุดยืนใหม่ "เพื่อไทย"  โดดเดี่ยว"ก้าวไกล"

จุดยืนใหม่ "เพื่อไทย"  โดดเดี่ยว"ก้าวไกล"

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับพรรคเพื่อไทย ไม่เพียงแต่มีผลภายในพรรคเท่านั้น แต่ยังทำให้จุดยืนของฝ่ายค้านเปลี่ยนไปด้วย นั่นคือ การโดดเดี่ยวพรรคก้าวไกล

การปรับโครงสร้าง และเปลี่ยนจุดยืนใหม่ของพรรคเพื่อไทย อย่างปัจจุบันทันด่วน เรียกได้ว่าเป็นเรื่องไม่ปกติในการเมืองไทย ซึ่งคนนอกพรรคอาจดูตื่นเต้นกับปรากฎการณ์ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ลาออกจากตำแหน่งสำคัญในพรรคเพื่อไทยและไม่ได้กลับเข้ามา ขณะที่ สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคอีกสมัย ออกเป็นพิธีแล้วกลับเข้ามาใหม่ แต่สำหรับคนในแล้ว กลับมองในมุมแตกต่างออกไป เพราะต่างรู้ดีว่าเหตุการณ์แบบนี้ย่อมจะต้องมาถึงไม่ช้าก็เร็ว

ก่อนอื่นต้องยอมรับว่า สภาพของพรรคเพื่อไทยภายใต้การนำของ 'สมพงษ์-สุดารัตน์' ไปไม่รอดอย่างแท้จริงตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นชัดเจนที่สุด คือ การแพ้เลือกตั้งซ่อมในทุกสนาม ทั้งที่สนามที่เป็นแชมป์เก่าและสนามที่ต้องไปชิงกับคู่แข่ง แต่นั่นอาจยังไม่เท่ากับงานในสภาฯ ของพรรคเพื่อไทยที่ ส.ส.ของพรรคยังไม่มีความเป็นเอกภาพชัดเจนมากนัก โดยเฉพาะการเน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ

หลายต่อหลายครั้ง พรรคเพื่อไทยพยายามจะใช้เวทีสภา เพื่ออภิปรายทำลายความชอบธรรมของรัฐบาล แต่ผลกับเป็นตรงข้าม เนื่องจากพรรคเพื่อไทยไม่ได้มีข้อมูลใหม่มานำเสนอต่อประชาชนผ่านสภา

ในทางกลับกัน มีแต่การนำข้อมูลเก่าเพื่อมาดิสเครดิตรัฐบาล ทำให้พรรคเพื่อไทยถูกมองว่ากลายเป็นพรรคไม่มีของ โดยส่วนหนึ่งของการทำที่สะเปะสะปะเช่นนี้ มาจากการไม่มีอำนาจเด็ดขาดในพรรคของแกนนำทั้งสองคน

เมื่อทุกอย่างมาผสมกัน ส่งผลให้พรรคเพื่อไทยภายใต้โครงสร้างแบบนี้ไม่อาจเดินต่อไป

หากไม่เปลี่ยนแปลงตอนนี้ย่อมจะส่งผลถึงการเลือกตั้งในอนาคต ดังนั้น การลาออกของ 'สุดารัตน์-สมพงษ์' จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพื่อให้เกิดทางเลือกใหม่

แต่ถึงกระนั้นการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดกับพรรคเพื่อไทยนั้น ด้านหนึ่งอาจส่งผลไปถึง "พรรคก้าวไกล" อย่างมีนัยสำคัญด้วย

สถานการณ์ของ "พรรคก้าวไกล" เวลานี้เริ่มถูกโดดเดี่ยวจากพรรคร่วมฝ่ายค้านมากขึ้น ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นผลมาจากท่าทีของ ส.ส.พรรคก้าวไกล ที่สนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมอย่างชัดเจน ซึ่งระยะหลังกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ เริ่มเคลื่อนไหว ยกระดับทะลุเพดานเกินกว่าที่พรรคร่วมฝ่ายค้านอื่นๆ จะรับไหว

การขอเดินถอยออกมาจากจุดนั้น จึงน่าเป็นแนวทางที่ดีที่สุด ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากการที่พรรคเพื่อไทยไปตั้งเตนท์ร่วมสังเกตการณ์ชุมนุมเมื่อวันที่ 19 ก.ย.แค่วันเดียว ทั้งที่กิจกรรมของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯมีถึงสองวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่ 20 ก.ย.ซึ่งเป็นวันที่กลุ่มผู้ชุมนุมประกาศเคลื่อนไหว แต่ปรากฎว่าไม่ปรากฎ ส.ส.ที่เตนท์ของพรรคเพื่อไทยแต่อย่างใด

ไม่เพียงเท่านี้ กิจกรรมของพรรคเพื่อไทยที่ไปร่วมแสดงออกในวันที่ 19 ก.ย.ก็เป็นแค่การร่วมสนทนาและแสดงความคิดเห็นในทำนองรำลึกถึงเหตุการณ์การชุมนุมของคนเสื้อแดงเท่านั้น

การที่ม็อบนักศึกษาเล่นแรง ทำให้พรรคเพื่อไทย ซึ่งรู้ทิศทางลม หรือเรียกง่ายๆ ว่า "อยู่เป็น" จึงเลือกที่ไม่เล่นเกมนี้ไปกับพรรคก้าวไกลด้วย เพราะมองว่า เสี่ยงเกินไป

ยิ่งไปกว่านั้นการโละตำแหน่งประธานยุทธศาสตร์พรรคของ 'สุดารัตน์' ที่ทำให้หมดอำนาจการนำในเพื่อไทย จะยิ่งมีผลให้ระยะห่างของพรรคฝ่ายค้านใหญ่ทั้งสองพรรคมีมากขึ้น

เพราะไม่ต้องลืมว่า เมื่อครั้งเริ่มเดินสายรณรงค์แก้รัฐธรรมนูญ สุดารัตน์ ทำหน้าที่เป็นแกนนำร่วมกับพรรคอนาคตใหม่ขณะนั้น ต่อเนื่องมาถึงวันนี้ ที่ร่วมด้วยช่วยกับพรรคก้าวไกล (รวมไปถึงคณะก้าวหน้า) กรณีมีกลุ่มนักศึกษาถูกตำรวจควบคุมตัว จากเหตุแสดงออกทางการเมืองนั้น ได้นำ ส.ส.พรรคเพื่อไทย มาร่วมสังเกตการณ์ที่ สน.บางเขนมาแล้ว ซึ่งเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในตอนนั้นว่า พรรคเพื่อไทยเห็นด้วยกับการขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เมื่อโซ่ข้อต่อ อย่างคุณหญิงสุดารัตน์ขาดลง สายสัมพันธ์ระหว่าง 'เพื่อไทย-ก้าวไกล' ก็น่าจะเปราะบางลงอีก อีกทั้งกลุ่มแคร์ ที่กำลังกลับเข้าพรรคเพื่อไทย ก็ไม่แคร์พรรคก้าวไกล 

การปรับจุดยืนของพรรคเพื่อไทย ที่จะไม่ออกนอกเส้นไปเล่นการเมืองบนถนน ย่อมส่งผลให้พรรคก้าวไกล ถูกโดดเดี่ยว

ความสัมพันธ์ในขั้วฝ่ายค้าน ที่เหมือนเส้นด้ายรอวันขาดเช่นนี้ ยากเกินกว่าจะทำให้ "สองพรรคใหญ่" กลับมาเหนียวแน่นดังเดิม และจะมีผลต่อศึกใหญ่ "อภิปรายไม่ไว้วางใจ" ในสมัยประชุมสภาหน้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และนั่นอาจเป็นการตอกย้ำว่า ฝ่ายค้านมีสภาพ ไร้น้ำยาอย่างแท้จริง!