ธุรกิจการบิน prepare for landing

Cabin Crew prepare for landing ! คำประกาศก่อนที่เครื่องบินจะลงจอดที่สนามบิน ที่หลายอาจต้องย้อนนึกว่าได้ยินครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ และเมื่อไหร่จะได้ยินอีกครั้ง

Cabin Crew prepare for landing ! คำประกาศก่อนที่เครื่องบินจะลงจอดที่สนามบิน ที่หลายอาจต้องย้อนนึกว่าได้ยินครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ และเมื่อไหร่จะได้ยินอีกครั้ง แม้ปัจจุบันการบินในประเทศจะทำได้แล้วแต่ความเสียหายต่อธุรกิจการบินจากพิษโควิด-19นั้น สร้างความเสียหายมากกว่าที่คิดเรียกได้ว่า ธุรกิจการบินขณะนี้กำลังลงจอดแบบไรวี่แววการกลับมา Take off อีกครั้ง 

เมื่อเร็วๆนี้มีการสัมมนา“อนาคตของอุตสาหกรรมการบินของชาติ วิกฤติ จุดเปลี่ยน และโอกาส” ที่จัดขึ้นโดย คณะกรรมาธิการการคมนาคม วุฒิสภาร่วมกับสมาคมนักบินไทย มีข้อมูลที่สามารถพยากรณ์อนาคตธุรกิจการบินของไทยได้

ข้อมูลจากสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไออาตา) ประเมินว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ทำให้การเดินทางและการขนส่งทางอากาศทั่วโลกลดลงรวม 52.9% ตสาหกรรมการบินทั่วโลก สูญรายได้มากถึง 3.14 แสนล้านดอลลาร์ หรือราว 9.94 ล้านล้านบาท และคาดว่าการเดินทางระหว่างประเทศจะฟื้นตัวเพียงครึ่งเดียวในไตรมาส 4 ของปีนี้

ส่วนกระทรวงคมนาคมคาดการณ์ว่าการฟื้นตัวของธุรกิจการบินจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป อาจใช้เวลาอีกอย่างน้อย 2 – 3 ปีและอาจใช้เวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี คือประมาณปี 2568 จึงจะเข้าสู่สภาวะปกติ 

จุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เชื่อว่าสายการบินจะเริ่มปรับตัวได้ในช่วงกลางปีหน้า ซึ่งแม้ว่าผู้ประกอบการและผู้โดยสารจะปรับตัวกลับมาเดินทาง แต่จะเป็นการเดินทางที่ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแตกต่างจากเดิม

สำหรับในปี 2563 หลังเกิดปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 กพท.คาดว่าจำนวนผู้โดยสารจะอยู่ที่ 52.8 ล้านคน ปรับลดลง 112.2 ล้านคน หรือลดลง 68% เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่มีจำนวนผู้โดยสาร 165 ล้านคน

"กพท.ประเมินว่าอุตสาหกรรมต้องปรับตัวรับมือ บริหารจัดการแผนแบบวันต่อวัน เบื้องต้นคาดการณ์ว่าผู้โดยสารจะกลับมาเดินทางสู่สภาวะปกติในปี 2566"

 รายงานข่าวจาก กพท. แจ้งถึงประมาณการณ์รายได้สายการบินสัญชาติไทย 9 สายการบิน ในปี 2563 คาดว่ารายได้รวมจะอยู่ที่ 8.28 หมื่นล้านบาท ปรับลดลง 2.29แสนล้านบาท หรือลดลง 73%

160165369213

ไม่เพียงแค่สายการบินที่ได้รับผลกระทบผู้ประกอบการสนามบินของประเทศไทยก็บาดเจ็บไม่น้อย นิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เผยว่า ต้องพยายามไม่ให้ฟันเฟืองทั้งอุตสาหกรรมการบินไม่ล้มหาย เพราะจะเป็นผลกระทบไปหมด โดยวิกฤติโควิด -19 ครั้งนี้ ค่อนข้างชัดเจนว่าจะฟื้นเป็นรูปตัว K คืออุตสาหกรรมบางส่วนจะฟื้นกลับ และบางส่วนอาจจะดิ่งลง

สำหรับความเสียหายที่ ทอท.ได้รับสามารถอธิบายความได้ว่าเมื่อก่อนโควิดเงินสะสมหรือสภาพคล่องของทอท.อยู่ที่ 7 หมื่นล้านบาท แต่ปัจจุบันเหลืออยู่ราว 4 หมื่นล้านบาท และน่าจะหมดลงในปี 2564 

จากชุดข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ธุรกิจการบินจะเห็นว่า ธุรกิจการบินกำลังอยู่ในอาการโคม่าเรียกได้ว่า ต้องถึงมือหมอให้เร็วที่สุด เพราะคนตายแล้วฟื้นไม่ได้แต่คนป่วยรักษาหายได้

ความพยายามพยุงธุรกิจการบินจากสายการบินต่างๆนอกจากการปรับกระบวนทัพทางธุรกิจภายในแต่ละองค์กรแล้ว ยังมีการทำหนังสือถึงกระทรวงการคลังอีกครั้งเพื่อขอให้เร่งรัดการพิจารณาโดยเร็วที่สุด พร้อมปรับขอวงเงินซอฟท์โลนเพิ่มเป็น 2.4 หมื่นล้านบาทแก่ผู้ประกอบการสายการบิน 8 รายได้แก่ ไทยแอร์เอเชีย ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ ไทยไลอ้อนแอร์ บางกอกแอร์เวย์ส ไทยสมายล์ ไทยเวียตเจ็ท นกแอร์ และนกสกู๊ต ที่ตัดสินใจขอยื่นวงเงินกู้เพิ่มเติมโดยขอผ่อนชำระที่อัตราดอกเบี้ย 2% เป็นระยะเวลา 60 เดือนหรือ 5 ปี เริ่มชำระงวดแรกเดือน ม.ค.2564 เป็นต้นไป

เนื่องจากสถานการณ์ล่าสุดของธุรกิจสายการบินในไทยส่วนใหญ่อยู่ในภาวะย้ำแย่ เพราะขาดสภาพคล่องอย่างหนัก ซึ่งกระทรวงการคลังในฐานะหน่วยงานพิจารณากรอบเงินกู้นี้ได้ขอข้อมูลเพิ่มเติมจากสายการบินต่างๆ ซึ่งนับเป็นสัญญาณว่ากระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณามาตรการช่วยเหลือทางการเงินดังกล่าว

สิ่งที่สายการบินและธุรกิจอื่นๆกำลังพยายามทำอยู่คือ รักษาพนักงานเอาไว้ให้ได้นานที่สุดทั้งเพื่อมนุษยธรรมไม่ให้คนต้องตกงาน และเพื่อรักษาบุคลากรไว้กับองค์กรเมื่อธุรกิจกลับมาฟื้นตัวก็สามารถให้คนเหล่านี้ขับเคลื่อนธุรกิจได้ทันที ไม่ต้องเสียเวลาและงบประมาณเพื่อฝึกอบรมพนักงานอีก แต่ความพยายามนี้กำลังถูกท้าทายจาก...........ห่วงเวลาแห่งการฟื้นของธุรกิจสายการบินยิ่งนานคนป่วยก็ใกล้เส้นการเป็นคนตายเร็วไปก็อาจไม่รอบคอบช้าไปก็จะไม่ทันการณ์

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำพิเศษ (ซอฟท์โลน) วงเงิน 2.4 หมื่นล้านบาทตามที่สายการบินในประเทศที่เป็นโลว์คอร์สแอร์ไลน์ได้เข้าพบนายกรัฐมนตรีและขอให้รัฐบาลช่วยจัดหาซอฟท์โลนเพื่อเสริมสภาพคล่องธุรกิจภายในเดือนต.ค.นี้ ว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณาอยู่แต่สุดท้ายในส่วนของหนี้ที่สายการบินเหล่านี้มีอยู่ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการขอเจรจาพักหนี้กับเจ้าหนี้ที่มีอยู่ก่อน ไม่ควรนำซอฟท์โลนที่ได้ไปใช้จ่ายหนี้ให้กับเจ้าหนี้ที่ยังเจรจาไม่ได้

กระทรวงการคลังกำลังพิจารณเรื่องนี้อยู่คาดว่าจะมีผลออกมาเร็วๆนี้ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ต้องรอรัฐมนตรีคลังคนใหม่ แต่ก็ต้องดูว่าซอฟท์โลนที่จะหาให้ก็ต้องดูว่าที่สุดแล้วเขาจะเอาไปทำอะไร ไปซื้อเครื่องบินเพิ่มหรือเปล่า หรือเอาไปจ่ายหนี้ในส่วนที่เจ้าหนี้ของเขายังไม่ยอมเจรจาก็อาจจะเอาซอฟท์โลนส่วนนี้ไปจ่ายให้กับเจ้าหนี้ตามสัญญาเช่าหรือซื้อเครื่องบิน”

แม้ผลการพิจารณาซอฟท์โลนเพื่อกู้สถานการณ์ธุรกิจการบิน จะไม่ได้ข้อสรุป แม้จะถึงต.ค.แล้วตามที่กำหนดเวลาไว้ แต่หากผลออกมาไม่เป็นไปอย่างที่สายการบินต่างๆคาดหวังไว้ ก็คงถึงคิวที่ ธุรกิจการบินเองต้องPrepare for landing ที่ก็ไม่รู้ว่าลงจอดครั้งนี้แล้วจะได้Take off ได้อีกทีเมื่อไหร่และจะมีวันวันนั้นมาถึงอีกหรือไม่