'ยานยนต์แห่งอนาคต' ในเมืองอัจฉริยะ EEC

'ยานยนต์แห่งอนาคต' ในเมืองอัจฉริยะ EEC

พอเราพูดถึง EEC ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศจะนึกถึง อุตสาหกรรมแห่งอนาคต สาธารณูปโภคชั้นนำ และเมืองอัจฉริยะ แต่จะเป็นอย่างนั้นเมื่อไรก็ต้องใจเย็น ๆ รอกันอีกหลายปี แต่ก็ดีที่เราเริ่มเดินหน้าในวันนี้ เพราะถ้าไม่เริ่มวันนี้ วันหน้าก็ไม่ถึงฝัน

ฝันที่ประเทศไทยอยากมีอุตสาหกรรมใหม่ อุตสาหกรรมอนาคต ที่วางไว้ 12 สาขาอุตสาหกรรม และหนึ่งในนั้น คือ ยานยนต์ไฟฟ้า ที่เลือกอุตสาหกรรมนี้เป็นเป้าหมาย ก็เพราะเรามีฐานการผลิตยานยนต์ในประเทศที่แข็งแกร่ง บริษัทยานยนต์ยักษ์ใหญ่ก็อยู่ในประเทศเกือบหมดแล้ว ดังนั้นการปลุกปั้นมีมาระยะหนึ่งแล้ว แถมยังมีมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศออกมาในปีที่แล้ว

ถือว่าครบ สมบรูณ์ และน่าจะเป็นการสนับสนุนที่ดี ตอนนี้ขาดอย่างเดียวแค่นั้น คือ หลายหน่วยงานยังไม่เดินหน้าตามมติ เท่านั้นเอง

ส่วนปัญหาสำหรับนักลงทุน ปัญหาใหญ่ที่ผู้ประกอบการไม่กล้าลงทุนก็เพราะคนไทยส่วนมากยังไม่พร้อมใช้รถไฟฟ้า ที่เป็นไฟฟ้าจริง ๆ (BEV) ไม่ใช่แบบไฮบริด (HEC/PHEV)

ผมว่าการที่บริษัทยานยนต์ส่วนมากก็ไม่อยากโดดเข้ามาในธุรกิจ BEV เต็มตัวทันที เพราะความไม่พร้อมทางด้านอุปสงค์สำหรับ BEV ไม่ว่าจะด้านราคาที่ยังสูงเมื่อเทียบกับรุ่นปัจจุบัน สถานีชาร์จไฟฟ้าไม่มากพอ ความห่วงใยเรื่องการซ่อมบริการหลังการขาย

และที่สำคัญบริษัทยานยนต์ส่วนมากลงทุนด้านเทคโนโลยีแบบเดิมและไฮบริดท์ไปเยอะและคิดว่าตลาดรถยนต์เทคโนโลยีแบบเดิม ๆ ยังพอมีอยู่มาก ดังนั้นถ้าอยากให้เกิดจริง ๆ ต้องกล้า ๆ ห้าว ๆ แบบตอนเลิกใช้น้ำมันไร้สารตะกั่ว

โดยประเทศไทยก็พยายายามผลักดันสร้างอุปสงค์ แต่ก็แบบระวังตัว จะสนับสนุนเงินคนซื้อกันโต้ง ๆ หรือให้เยอะ ๆ เหมือนจีน หรือสหรัฐอเมริกา ก็ต้องระวังมิติทางการเมือง 

ดังนั้นมาตรการที่ออกมา จึงเป็นแบบเดิม ๆ ผ่านภาษีต่าง ๆ แต่ถูกสกัดจากการต่อรองของบริษัทรถยนต์ต่าง ๆ ที่พยายามให้สิทธิประโยชน์ของยานยนต์แบบไฮบริดท์ HEV/PHEV พอ ๆ กับ BEV ยิ่งส่งผลทำให้โอกาสคนซื้อ BEV ลดลง และนักลงทุนรายใหม่ก็ไม่มีความได้เปรียบในการผลิต BEV

ที่มีข่าวออกมาใหม่ว่ารัฐกำลังหาทางกระตุ้นอุปสงค์รถใหม่ไฟฟ้า แต่รวม HEV/PHEV เข้าด้วย และดูก็ไม่ต่างกับนโยบายรถยนต์คันแรกคงพอทราบถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นและใช้เวลานานหลายปีกว่าอุตสาหกรรมยานยนต์บ้านเราจะกลับมาปกติอีกครั้ง

แต่อาจให้เหตุผลว่าช่วยการจ้างงานในช่วงวิกฤติและช่วยผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์ก็พอฟังขึ้น แต่ผมว่ายิ่งทำให้โอกาสของการเกิด BEV ยิ่งน้อยลงและช้าลง ก็ขึ้นกับรัฐบาลว่าจะมองใกล้หรือไกล แต่มิติทางการเมือง … เหนื่อยครับ ในข้อหา อุดหนุนคนรวยซื้อรวยใหม่ อุดหนุนบริษัทต่างชาติ

การสร้างอุปสงค์ยานยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV น่าจะทำในพื้นที่เล็ก ๆ ก่อน ทำให้ผมนึกถึงเมืองอัจฉริยะ (Smart city) หลายแห่งที่วางแผนไว้ใน EEC โดยในพื้นที่นั้น ๆ กำหนดการปฏิบัติต่อรถ BEV ให้มีสิทธิ์และประโยชน์เหนือกว่ารถทั่วไปรวมทั้ง HEV/PHEV ที่ผมเห็นจากเมืองเซินเจิ้น เขาจะแบ่งทะเบียนรถสีแตกต่างกัน โดยรถที่ใช้ทะเบียนรถไฟฟ้าจะมีจอดในที่สะดวกในใจกลางเมือง ค่าทะเบียนใช้รถประจำปีในพื้นที่ต่ำกว่ารถแบบอื่น เป็นต้น 

ผมเชื่อว่าวิธีนี้น่าจะทำได้ไม่ยากเพราะเป็นพื้นที่ขนาดเล็ก เป็นพื้นที่พัฒนาขึ้นใหม่ เป็นพื้นที่ที่ผู้คนมีความเข้าใจในเทคโนโลยีใหม่ ๆ เป็นอย่างดี  และในเมืองสมัยใหม่อย่าง EEC ทำให้มีแรงจูงใจในการใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น

ผมว่าหากพื้นที่อัจฉริยะใน EEC ต่าง ๆ ไม่สามารถทำเรื่องนี้ได้สำเร็จ โอกาสที่จะให้อุตสาหกรรมอนาคตอุตสาหกรรมนี้สำเร็จตามที่เราหวังไว้ คงต้องรอให้เกิดเองตามสภาพ ในอนาคต … อีกนาน