อว.ใช้งบกว่า 8 พันล้านบาท เยียวยาข้าราชการในสถาบันอุดมศึกษา

อว.ใช้งบกว่า 8 พันล้านบาท เยียวยาข้าราชการในสถาบันอุดมศึกษา

อว.ยกเลิกหลักเกณฑ์ฯตำแหน่งทางวิชาการ 2563 ชี้มีปัญหาในทางปฏิบัติ ตั้งคณะอนุกรรมการฯ ยกร่างใหม่ 3 เดือนเสร็จ  พร้อมสั่งเยียวยาข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา 36,300  คน ใช้งบกว่า 8 พันล้านบาท

ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ขณะนี้ อว. เดินหน้ายกเลิกหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณากำหนดตำแหน่งทางวิชาการ พ.ศ. 2563 โดยคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) ที่ประชุมไปเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2563 ได้พิจารณาเห็นว่าหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณากำหนดตำแหน่งทางวิชาการ พ.ศ. 2563 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563 ก่อให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติกับการเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ

โดยในการประชุม ก.พ.อ. ที่ผ่านมา ได้กำหนดระยะเวลาผ่อนผันในช่วงเปลี่ยนผ่านเกณฑ์เป็นระยะเวลา 2 ปี คือ ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2563  ถึงวันที่ 23 มิถุนายน 2565 ให้ใช้หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณากำหนดตำแหน่งทางวิชาการ พ.ศ. 2560 คู่ขนานกับหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณากำหนดตำแหน่งทางวิชาการ พ.ศ. 2563 ได้

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ศ.ศันสนีย์ ไชยโรจน์ ประธานคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับตำแหน่งทางวิชาการ และ ศ.สมคิด เลิศไพฑูรย์ ที่ปรึกษา รมว.อว. เป็นผู้รับผิดชอบยกร่างหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดตำแหน่งทางวิชาการขึ้นใหม่ โดยยึดหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณากำหนดตำแหน่งทางวิชาการ พ.ศ. 2560 เป็นหลัก แล้วนำหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณากำหนดตำแหน่งทางวิชาการ พ.ศ. 2563 ในส่วนที่ดีและเหมาะสมมาปรับใช้ต่อไป  ทั้งนี้ ก.พ.อ. ได้กำหนดระยะเวลาดำเนินการไว้ 3 เดือน

                                                                                               

ดร.เอนก กล่าวต่อว่า สำหรับการเยียวยาข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา กรณีข้าราชการครู บุคลากรทางการศึกษาได้ปรับอัตราเงินเดือนเพิ่ม ทั้งนี้ ก.พ.อ. ได้รับทราบความคืบหน้าการกำหนดมาตรการเยียวยาข้าราชการฯ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม กรณีที่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาได้ปรับอัตราเงินเดือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 8  เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2554 คณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลในสถาบันอุดมศึกษาได้เสนอให้เยียวยาข้าราชการฯ ที่ดำรงตำแหน่ง ณ วันที่ 31 มีนาคม 2554 ให้ได้รับเงินเยียวยาส่วนเพิ่ม ร้อยละ 8 ของอัตราเงินเดือน ณ วันที่ 31 มีนาคม 2554 เป็นต้นไป จนถึงวันที่ข้าราชการผู้นั้นเกษียณอายุราชการ หรือพ้นสภาพเป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา

อย่างไรก็ตาม จากการประมาณการพบว่ามีข้าราชการฯ ที่จะได้รับการเยียวยา 36,300  คน ทั้งบุคลากรสายวิชาการและสายสนับสนุน ใช้งบประมาณ 8,029 ล้านบาท โดยให้เฉลี่ยจ่ายคืนภายใน 5 ปี  อย่างไรก็ตามเพื่อความรอบคอบ อว. จะนำข้อกฎหมายหารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา ใน 2 ประเด็น โดยประเด็นแรก การเยียวยาจะกระทำย้อนหลังไปถึงวันที่เกิดเหตุของความไม่เป็นธรรม คือวันที่ 31มีนาคม 2554 ได้หรือไม่ และประเด็นที่สอง เงินเยียวยาจะต้องกำหนดให้เป็นเงินเดือนหรือเงินประจำตำแหน่งตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ อย่างไร  เมื่อได้คำตอบแล้ว ก.พ.อ.จะพิจารณากำหนดมาตรการการเยียวยาให้ถูกต้องและเหมาะสมเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป