ศบค.กทม. ย้ำใส่หน้ากากอนามัยตราบใดที่ยังไม่มีวัคซีน

ศบค.กทม. ย้ำใส่หน้ากากอนามัยตราบใดที่ยังไม่มีวัคซีน

เผย ประชาชนใส่หน้ากากอนามัยลดลงเหลือเพียง 66.9% ศบค.กทม. ย้ำ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกระตุ้นเตือนประชาชน ให้ปฏิบัติตามมาตรการอย่างเค่งครัด

วันนี้ (2 ต.ค. 63) พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรุงเทพมหานคร (ศบค.กทม.) เป็นประธานการประชุม ศบค.กทม. ครั้งที่ 85/2563 โดยมี คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้แทนสำนัก ผู้แทนกองบัญชาการตำรวจนครบาล ผู้แทนกลุ่มเขต และผู้แทนส่วนราชการในสังกัดกรุงเทพมหานครที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า)

ทั้งนี้สืบเนื่องจาก ผลสำรวจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 พบว่า ปัจจุบันประชาชนมีแนวโน้มการดูสุขอนามัยส่วนบุคคลลดลง โดยเฉพาะการสวมหน้ากากอนามัยซึ่งปัจจุบันลดลงเหลือประมาณ ร้อยละ 66.9

ที่ประชุม ศบค.กทม. จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสำนักงานเขตซึ่งใกล้ชิดประชาชน รณรงค์กระตุ้นเตือนให้สถานประกอบการและประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล โดยเฉพาะการสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกจากบ้านหรือที่พัก รวมทั้งขอให้เคร่งครัดเรื่องการปฏิบัติตามมาตรฐานการใช้ชีวิตวิถีใหม่ อาทิ การรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล หมั่นล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการใช้ของใช้ร่วมกับผู้อื่น หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด ตลอดจนขอให้ปฏิบัติตามข้อกำหนดของมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการรวมถึงกรุงเทพมหานครกำหนดอย่างเคร่งครัด

สำหรับการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ที่อาจเกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ กรุงเทพมหานครและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเตรียมความพร้อมมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ จัดทำคู่มือสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ในการดูแลรักษาผู้ป่วย จัดเตรียมเวชภัณฑ์ในการดูแลรักษาผู้ป่วย สำรองเตียงผู้ป่วยโควิด-19 ของโรงพยาบาลในสังกัดและโรงพยาบาลเครือข่ายซึ่งปัจจุบันมีเตียงว่างประมาณ 2,382 เตียง รวมทั้งให้โรงพยาบาลในสังกัดฝึกซ้อมแผนการรับมือกรณีพบผู้ป่วย โควิด-19 เพื่อซักซ้อมความเข้าใจและเตรียมความพร้อมทั้งด้านบุคลากร อุปกรณ์ รวมถึงสถานที่

นอกจากนี้ ยังได้ซักซ้อมแผนการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉินในส่วนของโรงพยาบาลสังกัดกทม. โดยมีศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกทม.(ศูนย์เอราวัณ) เป็นศูนย์กลางประสานการรับ-ส่งผู้ป่วยของโรงพยาบาลในสังกัดกทม. นอกจากนี้ยังได้จัดอบรมหน่วยปฏิบัติการควบคุมและสอบสวนโรคติดต่อเพื่อสอบสวนโรคติดต่ออันตรายตามพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เพื่อซักซ้อมแนวทางการปฏิบัติให้สามารถดำเนินงานได้อย่างรอบคอบ รัดกุม และปลอดภัยด้วย