"พนันออนไลน์" ขยายตัว "เวทีต้านพนัน" จี้ "รัฐ" เข้มมาตรการกำหราบ

"พนันออนไลน์" ขยายตัว "เวทีต้านพนัน" จี้ "รัฐ" เข้มมาตรการกำหราบ

ผลสำรวจการเล่นพนันออนไลน์ พบว่าช่วงโควิด-19 มีอัตราเพิ่มขึ้น100% เครือข่ายต้านพนันชี้ต้นเหตุจาก ผู้ปราบปรามหย่อนยาน และ กฎหมาย ขาดวิสัยทัศน์

            คณะกรรมาธิการ  (กมธ.) การพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา จัดเสวนา เรื่อง กลไกการจัดการพนันออนไลน์​ โดยมีนักวิชาการ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ซึ่งสาระสำคัญที่ทำให้อัตราผู้เล่นการพนันออนไลน์เพิ่มมากขึ้นเพราะด้วยกลไกการพนันที่ออกแบบซึ่งเข้าถึงจิตวิทยาของผู้เล่นได้อย่างแยบยล ขณะที่มาตรการกฎหมายขาดวิสัยทัศน์ป้องกัน ทั้งนี้เวทีดังกล่าวยังนำเสนอแผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและลดผลกระทบเด็กและเยาวชนจากการพนันออนไลน์
            โดย นายธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน นำเสนอสถานการณ์ปัญหาการพนันออนไลน์และผลสำรวจประสบการณ์และความเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการพนัน ว่า คนไทย จำนวน 57% หรือ 30 ล้านคนเล่นพนันออนไลน์ ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 2 ปีที่แล้ว กว่า 1.5 ล้านคน ทั้งนี้พบว่ามีนักพนันหน้าใหม่ ประมาณ 7 แสนคน  สำหรับผลิตภัณฑ์การพนันที่ผู้นิยมเล่นมากที่สุด คือ สลากกินแบ่งรัฐบาล หรือ หวย โดยหวยรัฐ มีผู้เล่น 23 ล้านคน และหวยเถื่อน มีผู้เล่น 18 ล้านคน  
            นายธนากร กล่าวด้วยว่า สำหรับการพนันออนไลน์นั้น พบว่าปี 2562 คนไทยเล่นพนัน 1 ล้านคน และมีผู้เล่นหน้าใหม่ 1 แสนคน โดย97% เล่นการพนันผ่านสมาร์ทโฟน  และในช่วงสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 พบว่าตัวเลขของการพนันออนไลน์เพิ่มขึ้น 100% เพราะสะดวก เล่นได้ทุกที่ ถอนเงินได้รวดเร็ว และปกปิดความลับได้ โดยผลิตภัณฑ์การพนันที่นิยมสูงสุด คือ บาคาร่า
            "การพนันขยายต่อเนื่อง และเอาไม่อยู่ ทั้งออฟไลน์ ออนไลน์ วิธีเดิม เหตุผลที่ขยายตัว เนื่องจากกลไกของกฎหมายขาดวิสัยทัศน์ชัดเจนด้านการรับ รวมถึงกลไกปราบปรามไม่เข้มแข็งเพียงพอที่จะจัดการกับปัญหาทั้งต้นทาง กลางทางและปลายทาง” นายธนากร กล่าว
160162541898
                ธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน
             ด้าน น.ส.ศิริพร ยอดกมลศาสตร์ ผู้จัดการศูนย์ศึกษาปัญหาพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การพนันออนไลน์ ถูกพัฒนาโดยจิตวิทยา ทำให้เข้าถึงประชาชนได้ง่าย และมีกลไกที่ทำให้เกิดกับดักทางพฤติกรรม โดยจากการสำรวจพบว่า เว็ปพนัน จะมีอัตราให้ผู้เล่นถูกรางวัล 10 % - 30 % เท่านั้น  ทั้งนี้ผู้ติดพนัน ถือเป็นผู้ป่วยทางจิตเวช ที่ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด  สำหรับกฎหมายว่าด้วยการพนัน เว้นให้การพนันบางประเภทสามารถทำได้ เช่น ลอตเตอร์รี่ ซึ่งตนต้องการทวงสัญญากับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่เคยระบุว่าไม่ต้องการให้มีจำนวนลอตเตอร์รี่มากกว่าจำนวนประชากร แต่ปัจจุบันพบว่าจำนวนลอตเตอร์รี่มีมากเป็นเท่าตัวและยังมีแนวคิดเพิ่มผลิตภัณฑ์ให้มากขึ้น โดยไม่ศึกษาผลกระทบ
             “ไม่มีประเทศไหนในโลก ที่บอกว่าจะขยายเรื่องการพนัน ผลิตภัณฑ์การพนันโดยไม่ศึกษาผลกระทบ เพราะหากไม่มีคำตอบว่า รัฐบาลพร้อมลงทุนกับการลดผลกระทบจากกิจกรรมพนัน การเพิ่มผลิตภัณฑ์การพนันไม่ควรเกิดขึ้น การพนันทุกประเภทควรเตรียมป้องกันก่อนการเร่ิมต้นให้เกิดปัญหา อย่างไรก็ตามการแก้ปัญหาการพนันที่เกิดขึ้นปัจจุบันพบว่ามีงบซีเอสอาร์ที่ใช้แก้ปัญหา” น.ส.ศิริพร กล่าว 
160162554550
                      น.ส.ศิริพร ยอดกมลศาสตร์ ผู้จัดการศูนย์ศึกษาปัญหาพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
             น.ส.ศิริพร กล่าวด้วยว่า สำหรับพ.ร.บ.การพนัน นั้นจำเป็นต้องปรับปรุงเนื้อหาให้ครอบคลุมถึงการคุ้มครองเยาวชนและเด็กจากการพนัน แม้กฎหมายเดิมกำหนดว่าบุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปี ห้ามเล่นการพนัน แต่ควรเพิ่มบทบบัญญัติคือ การเพิ่มโทษบุคคลที่อนุญาตให้เยาวชนเข้าเล่นการพนัน ผู้ประกอบการ ลูกจ้างและคนที่เกี่ยวข้องต้องได้รับโทษ ซึ่งในต่างประเทศมีบทลงโทษที่รุนแรง ทั้งการปรับเงินจำนวนมาก, ริบทรัพย์สิน, ห้ามประกอบกิจการบางประเภท เป็นต้น  นอกจากนั้นต้องกำหนดเนื้อหาห้ามธุรกิจการพนันต้องไม่เป็นไป หรือเกี่ยวข้องกับการทุจริต คอร์รัปชั่น และมีหลักประกันว่าธุรกิจการพนันจะซื่อตรง ไม่เอาเปรียบผู้เล่นพนัน นอกจากนั้นต้องคุ้มครองเด็ก และเยาวชน และบุคคลที่ขาดความสามารถในการป้องกัตนเอง ต้องได้รับความคุ้มครองไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับการพนัน  และกาทำธูรกิจพนัน ที่รัฐจะอนุญาตนั้น รัฐต้องประเมินต้นทุนผลกระทบที่เกิดขึ้นในสังคมจากการพนันด้วย  

             ผู้สื่อข่าวรายยงานว่าเวทีเสวนาดังกล่าว ได้นำเสนอแผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและลดผลกระทบเด็กและเยาวชนจากการพนันออนไลน์ พ.ศ.2563 - 2569 ซึ่งเน้นการขับเคลื่อนเชิงนโยบายระดับชาติ รวมถึงการผลักดันสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ วาระปราบปรามการพนันออนไลน์ให้เกิดขึ้น อย่างไรก็ดีในเนื้อหาขับเคลื่อนที่แบ่งเป็น 5 ยุทธศาสตร์ คือ ผลักดันรู้เท่าทันออนไลน์ให้เป็นวาระแห่งชาติ, สร้างกลไกในกำกับของรัฐ บูรณาการความร่วมมือ, สร้างองค์ความรู้ และจัดการความรู้ต้านการพนัน, ส่งเสริมบทบาทและความร่วมมือในการป้องกันผลกระทบ และสร้างเครือข่ายเฝ้าระวัง ทั้งนี้เครือข่ายได้เสนอแนวทางปราบปรามการพนันออนไลน์ คือให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กระชับอำนาจ และการปราบปรามอย่างเข้มแข้ง และจับกุมผู้ให้บริการพนันออนไลน์ รวมถึงการโฆษณาพนันผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ค ขณะที่กสทช. ต้องเข้มงวด ต่อการกำกับและบทลงโทษสื่อออนไลน์ด้วย.