‘ปลัดอว.ใหม่’ มอบนโยบาย สานงานเก่า เดินเครื่องหนุน 'ประชาชน-เยาวชนวิจัย'

‘ปลัดอว.ใหม่’ มอบนโยบาย สานงานเก่า เดินเครื่องหนุน 'ประชาชน-เยาวชนวิจัย'

‘สิริฤกษ์’ นั่งแท่นปลัดอว.คนใหม่ มอบนโยบาย อว.ยันสานต่องาน พร้อมผุด “โครงการประชาชน-เยาวชนวิจัย” นำร่อง 10 พื้นที่ 10 โครงการสร้างชาติด้วยงานวิจัยเผย “อว.สร้างงาน” จ้างบัณฑิต 6 หมื่นคนทำงานใน 3 พันพื้นที่เป้าหมาย 1 ปี เข้า ครม.6 ต.ค.63 นี้

ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ได้มีการแถลงนโยบายการขับเคลื่อนงานเนื่องในโอกาสการเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ว่า จะ ปฏิบัติตามนโยบายของ ศ.พิเศษ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) เพื่อให้เกิดสัมฤทธิ์ผลในทางปฏิบัติและเกิดประสิทธิภาพในการทำงาน

ขณะเดียวกันได้มีการประชุมร่วมกับทางคณะผู้บริหารของทางสำนักงานปลัดกระทรวงอว.เพื่อที่จะหารือและถ่ายทอดนโยบายในการดำเนินงาน โดยกรอบในฐานะปลัดกระทรวงฯ จะมีการปฏิบัติงานดูแลภารกิจงานของกระทรวงเพื่อขับเคลื่อนนโยบายให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในแง่ของประสิทธิผล ประสิทธิภาพ ระยะเวลาของการดำเนินงานในการขับเคลื่อนตามระบบขั้นตอนที่เกี่ยวข้องอย่างถูกต้อง และมีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้

"กระทรวงอว.เน้นให้ความสำคัญในการฝึกอบรมบุคลากรระดับสูงของประเทศ ได้แก่ นักศึกษาระดับปริญญาตรี โท เอก และหลังระดับปริญญาเอก ซึ่งเป็นบุคลากรสำคัญของประเทศ รวมถึงจะดูแลเรื่องการวิจัยและนวัตกรรมในทุก ๆ มิติของประเทศ โดยโครงการที่เกิดขึ้นจะเป็นโครงการที่แต่ละหน่วยงานเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันทั้งหมด ซึ่ง รมว.อว. ได้มีแนวคิดที่จะขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ จำนวนมาก"

160162181182

โฟกัส 'คน-วิจัย-นวัตกรรม'

ศ.นพ.สิริฤกษ์ กล่าวเสริมว่า สิ่งที่สำคัญที่ต้องดำเนินการเพื่อให้การพัฒนาเรื่อง "คน" และการพัฒนา "วิจัยและนวัตกรรม" หรือ 1+1 ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ ทั้งเมื่อรวมกระทรวงแล้วจะเกิดพลังในเชิงบวกซึ่งถือเป็นทิศทางการดำเนินงานที่สำคัญ โดยหลอมรวมเพิ่มพลังทั้งในฝั่งอุดมศึกษา และการวิจัยนวัตกรรม ให้ยกระดับสูงขึ้น ถือเป็นสิ่งสำคัญที่กระทรวงฯจะดำเนินการ

"วิธีการดำเนินงานในประเด็นต่างๆ จะเป็นในรูปแบบของ "โครงการ" ในการที่จะทำให้ทุกๆภารกิจได้รับทราบของจุดต่างๆ เนื่องจากภายในกระทรวงมีบุคลากรประมาณ 2 แสนราย มีนิสิตนักศึกษาเยาวชนที่เป็นกำลังสำคัญของประเทศที่อว.ดูแลในมหาวิทยาลัยทั้งภาครัฐ และเอกชน ตั้งแต่ระดับปริญญาตรี โท เอก รวมกว่า 2 ล้านคน ซึ่งกระทรวงอว.ได้รับงบประมาณปี 64 ประมาณ 1.5 แสนล้านบาท ดังนั้นจึงมีกำลังที่ขับเคลื่อนร่วมกันอย่างเต็มศักยภาพ"

160162186513

เชื่อมโยง 'ทำงาน' อย่างเป็นระบบ

โดยเป็นไปใน 3 ลักษณะคือ 1.โครงการที่เกิดขึ้นจะหลอมรวมให้แต่ละหน่วยงานทำงานร่วมกันผ่านการเชื่อมโยงทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นเชื่อมโยงในระดับการบริหารจัดการ ระดับของโครงการ หรือแม้กระทั่งระดับหน่วยงาน ซึ่งจะมีโครงการเกิดขึ้นจำนวนมากเพื่อที่จะขับเคลื่อนเรื่องนี้

2.ภารกิจระยะยาว และระยะกลาง ทั้งในแง่ของการสร้างคน การสร้างการวิจัยและนวัตกรรม อีกทั้งโครงสร้างพื้นฐานก็จะดำเนินการต่อไป

3.ภารกิจระยะเฉพาะหน้า ซึ่งจำเป็นจะต้องขับเคลื่อนอย่างรวดเร็ว สิ่งที่เป็นเรื่องเฉพาะหน้าที่จะต้องมีการขับเคลื่อน ไม่ว่าจะเป็นการทำให้ประเทศไทยสามารถบริหารจัดการสถานการณ์เร่งด่วนที่กำลังท้าทายประเทศ โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เนื่องจากไทยอยู่ในสถานการณ์นี้ตั้งแต่ช่วงต้นปี ก็ยังต้องดูแลอย่างต่อเนื่องเพราะรอบๆประเทศยังมีความเสี่ยงสูง แต่ทั้งนี้ประเทศไทยมีการบริหารจัดการที่ดี แต่จะต้องมีการรักษาสมดุล ทั้งในแง่เศรษฐกิจ สังคม และด้านการแพทย์

ศ.นพ.สิริฤกษ์ กล่าวต่อไปว่า จากสถานการณ์โควิด – 19 กระทรวง อว. ได้มีการเตรียมความพร้อมทางการแพทย์ สาธารณสุขและการวิจัย โดยเฉพาะโรงเรียนแพทย์หรือคณะแพทยศาสตร์ที่อยู่ภายใต้สังกัด รวมทั้งการปฏิบัติงานร่วมกับศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ซึ่งเป็นกลไกที่สำคัญมากในการรักษาสมดุลระหว่างเศรษฐกิจและสังคม

"เรื่องเร่งด่วนที่สำคัญอีกเรื่องคือ การที่จะต้องดูแลเยาวชนที่อยู่ในระบบการศึกษาปัจจุบัน รวมทั้งเยาวชนที่จะสำเร็จการศึกษาให้มีงานทำ และมีความหวังในอนาคต เนื่องจากภายใต้สถานการณ์โควิด จะเกิดสภาวการณ์นิวนอร์มอลภายใน 1-2 ปีนี้ และหนึ่งในนิวนอร์มอลคือสถานการณ์ตลาดงานก็จะมีข้อจำกัดมากขึ้น อันเนื่องมาจากเศรษฐกิจโลกสั่นครอนซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการจ้างงานที่ลดลง ดังนั้นกระทรวงอว.จะต้องโฟกัสเยาวชนที่จะสำเร็จการศึกษา ให้สามารถมีงานทำ ผ่านกระบวนการ "จ้างงาน" ในรูปแบบต่างๆ"

ในขณะเดียวกันอว.จะดำเนินโครงการจ้างงาน โดยเพิ่มเติมทักษะใหม่ที่จำเป็นต่อไปในอนาคต (Newskill) พร้อมทั้งรีสกิล และอัพสกิล ผ่านหลักสูตรต่างๆที่จะมีการปรับทักษะเหล่านี้ให้พร้อมรับมือกับงานใหม่ในตลาด ซึ่งกระบวนการนี้ก็จะผ่านโครงการสำคัญของกระทรวงคือ โครงการควิกวิน (Quickwin) เช่น โครงการจ้างงาน , โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งมหาวิทยาลัย , โครงการมองไปในอนาคต ,โครงการที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุโดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อพัฒนาบัณฑิต เยาวชนให้มีเกราะที่แข็งแกร่งและพร้อมที่จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศต่อไป

'คน' หัวใจความหวังของไทย

ทั้งนี้กระทรวงอว.ในช่วง 2-3 ปีหลังจากนี้จะเข้าสู่ยุคของการดำเนินการซึ่งยังมีประเด็นที่จะต้องดำเนินการเพิ่มเติมในช่วงของการบริหารจัดการ 3 ประการ คือ

1.จากการที่รัฐมนตรีอว.ได้มอบนโยบายให้มีหน่วยขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วนของรัฐมนตรีฯ ซึ่งมอบให้ปลัดกระทรวงฯ เป็นผู้ดำเนินการ เพราะฉะนั้นสิ่งต่างๆเหล่านี้จะเข้าสู่กระบวนการขับเคลื่อนร่วมกับองคาพยพทั้งหมดของกระทรวง ได้แก่ มหาวิทยาลัยต่างๆ สถาบันวิจัย หน่วยงานในการกำกับ โดยประสานงานกับทุกภาคส่วนทั้งภายในและนอกกระทรวง

2.กระบวนการปลดล็อกอุปสรรค ที่ทำให้การดำเนินการล่าช้า เพื่อให้มีความคล่องตัวขึ้น อาทิ ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหาร ข้อมูลบิ๊กเดต้า รวมทั้งให้อว.เป็นหัวหงอกองค์การที่มีกระบวนการจัดการองค์กรยุคใหม่โดยไร้กระดาษ

และ 3.อว. จะเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้ที่ทำให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาตินอกเหนือจากการทำวิชาการอย่างเดียวเข้าสู่ตำแหน่งวิชาการ เช่น ศาสตราจารย์ปฏิบัติการ ศาสตราจารย์ที่มุ่งเน้นการวิจัย หรืออาจารย์ที่มีความโดดเด่นในด้านการปฏิบัติต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้เกิดการทำงานให้เกิดประโยชน์ของประเทศและนับเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก

สานต่อ 'จ้างงาน' ลงลึกทุกพื้นที่

ทั้งนี้ ได้มีการต่อยอดโครงการ อว. จ้างงาน โดยคาดว่าจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรีประมาณสัปดาห์หน้า และเมื่อผ่านความเห็นชอบโครงการฯ แล้ว ในระยะที่หนึ่งที่ดำเนินการอยู่จะเกิดการจ้างงานเพิ่มอีก 60,000 อัตรา ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศกว่า 3,000 จุด พื้นที่ละ 20 คน นอกจากเป็นการจ้างงานแล้วยังเป็นการพัฒนาในพื้นที่ด้วย ซึ่งได้กำหนดเป้าหมายในการพัฒนาและร่วมพัฒนา โครงการนี้มีระยะเวลา 1 ปี เพื่อให้การคนที่จบการศึกษาแล้วหรือกำลังจะจบเข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่และในขณะเดียวกันก็จะมีอาจารย์ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในพื้นที่ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงทำงานร่วมกับชุมชน

160162217295

“เรื่องของโควิดเป็นเรื่องที่น่าสนใจ ทำให้คนส่วนใหญ่สนใจทำวิจัยมากขึ้น พบว่า เกินครึ่งของคนที่มาทำเรื่องนี้เป็นนักวิจัยที่ไม่ใช่นักวิจัยอาชีพ แต่เป็นผู้ที่ปฏิบัติงานในภาคเอกชน เช่น การทำระบบปรับอากาศ การวิจัยเรื่องหน้ากากอนามัย และในส่วนของพื้นที่ยังมีปราชญ์ชาวบ้าน ทำให้เกิดการวิจัยภาคประชาชน ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจมาก เราจะสนับสนุนให้เกิดเครือข่ายของประชาชนวิจัยและโครงการเยาวชนวิจัย โดยจะเริ่มตั้งแต่ประถมศึกษาจนถึงปริญญาตรี เช่น โครงการประกวดความคิดของการวิจัย ซึ่งเดิมโครงการวิจัยจะให้ทุนเฉพาะนักวิจัย แต่ตอนนี้จะเป็นในส่วนของการเปิดรับสมัครและเชิญชวนประชาชนเข้ามาร่วมด้วย เช่น โครงการ hackathon หากมีไอเดียก็จะให้ทุนไปทำตัวอย่าง จนถึงการต่อยอดสู่การทำโมเดลของจริงต่อไป” ปลัด อว. กล่าว

ทั้งนี้การวางกรอบการทำงานทั้งในเรื่องของประชาชนวิจัย และเยาวชนวิจัย ขณะนี้กำลังเริ่มดำเนินการ โดยกรอบในระยะแรกจะดำเนินการใน 10 พื้นที่ 10 ประเด็น ซึ่งจะเริ่มในเดือนพ.ย. 63 จากนั้นเมื่อเริ่มโครงการก็จะมีการประเมินผล เพื่อวางแผนขยายผลให้ครอบคลุมทุกพื้นที่

"โดยกรอบหลักทุกคนเป็นนักวิจัย กระบวนการดำเนินงานหากเป็นเยาวชนวิจัยจะดำเนินการผ่านกลไกของมหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษาต่างๆ ส่วนของประชาชนวิจัยจะดำเนินการผ่านกลไกของหน่วยงานต่างๆ อาทิ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ เอ็นไอเอ ที่จะดำเนินการขับเคลื่อนในเรื่องนี้" ปลัดกระทรวงอว.กล่าวทิ้งท้าย