'ยุทธพร' ถอดโมเดล'พรรคแอลดีพี' แนะทางออกกู้วิกฤติ'เพื่อไทย'

 'ยุทธพร' ถอดโมเดล'พรรคแอลดีพี'  แนะทางออกกู้วิกฤติ'เพื่อไทย'

"พรรคเพื่อไทย" เป็นพรรคที่เป็นสถาบันการเมืองมากกว่า 20 ปีวันนี้อาจถึงเวลาที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

หลังจากมีการคัดเลือก“24กรรมการการบริหารพรรคเพื่อไทย”ชุดใหม่ที่มี “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” เป็นผู้นำ มีการจับตาไปที่การผ่าตัดใหญ่ของพรรค ทั้งการสางปัญหาความขัดแย้งในกลุ่มก๊วนต่างๆ รวมถึงการเรียกความชื่อมั่นการทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลในฐานะแกนนำฝ่ายค้าน

ขณะเดียวกันการผ่าตัดใหญ่ของพรรคเพื่อไทยในครั้งนี้มีการจับตาไปที่คนใน “ตระกูลชินวัตร” ที่คราวนี้อาจเข้ามามีบทบาทมากขึ้น

มุมมองจากนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช “รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย” มองปรากฎการณ์ของพรรคเพื่อไทยในครั้งนี้ว่า ผ่าตัดใหญ่ของพรรคเพื่อไทยในครั้งนี้เกิดจากสาเหตุหลายประการ หนึ่งคือปัญหาโครงสร้างในเชิงการเมือง โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่มีการออกแบบเลือกตั้งโดยใช้ระบบจัดสรรปันส่วนผสม ทำให้พรรคเพื่อไทยไม่มีส.ส.บัญชีรายชื่อ จึงต้องมีการดำเนินการในลักษณะของรีโมทคอนโทรลคือมีการสั่งการจากนอกสภาไปยังในสภา

จะเห็นว่าวันนี้พรรคเพื่อไทยมีส่วนที่พยุงพรรคไปได้คือส.ส.เขต ซึ่งไม่มีส่วนในการกำหนดยุทธศาสตร์พรรค ขณะที่โครงสร้างของพรรคเพื่อไทยที่ผ่านมาประสบปัญหาเชิงโครงสร้าง เพราะต้องยอมรับว่าพรรคเกิดขึ้นจากการรวมตัวกลุ่มหลายหลายกลุ่มตั้งแต่ปี2543 ในสมัยพรรคไทยรักไทยดังนั้นเมื่อมีผู้นำจะต้องมีผู้นำซึ่งเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย 

จึงมีการมีการพูดถึงชื่อของ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี เพราะนับตั้งแต่สมัยพรรคพลังประชาชนแม้ว่าคุณทักษิณจะไม่มีส่วนในการบริหารพรรคแต่อิทธิพลยังมีอยู่  ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็น "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" น้องสาวคุณทักษิณ เมื่อผ่านพ้นในสมัยของคุณยิ่งลักษณ์มา คุณทักษิณเองก็ถอยไปจากพรรคเพื่อไทยอยู่พอสมควร

"ที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยจึงขาดบุคคลที่จะมาเป็นผู้นำในการเชื่อมโยงกับทุกกลุ่ม ดังนั้นการที่พรรคมีตำแหน่งต่างๆทั้งประธานยุทธศาสตร์ ประธานกิจการพิเศษตรงนี้ก็อาจจะทำให้มีปัญหาในเชิงโครงสร้าง"

ส่วนที่มีการพูดถึง "คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์" ภรรยาคุณทักษิณนั้นเชื่อว่าคุณหญิงพจมานไม่น่าจะดูแลพรรคเองโดยตรง สถานการณ์การเมืองแบบนี้ไม่น่าจะส่งผลดีต่อตัวคุณหญิงพจมานคุณใน ตระกูลชินวัตรรวมถึงพรรคเพื่อไทย      

สิ่งที่ต้องจับตาหลังจากนี้คือเรื่องของความเป็นเอกภาพซึ่งเชื่อว่าในส่วนของพรรคเพื่อไทยก็ยังคงมีอยู่ รวมไปถึงพรรคร่วมฝ่ายค้าน การที่พรรคเพื่อไทยเป็นองค์กรใหญ่การเกาะเกี่ยวเหนียวแน่นคงจะลำบาก เพราะเวลานี้ยังไม่มีตัวผู้นำที่จะสามารถยึดอยู่ทุกกลุ่มภายในพรรคได้

ดังนั้นสิ่งที่พรรคเพื่อไทยต้องวางวันนี้คือเรื่องของ "ตัวระบบ" ไม่ใช่ "ตัวบุคคล" โดยตั้งแต่ตั้งพรรคไทยรักไทยก็มีการพูดถึงคุณทักษิณมาโดยตลอด

วันนี้พรรคเพื่อไทยจึงควรมีการวางระบบที่ดียกตัวอย่างการมีสภานโยบายพรรค เช่นเดียวกับพรรคเสรีประชาธิปไตย(แอลดีพี) ประเทศญี่ปุ่น ที่มีการเปิดโอกาสให้พรรคตัวแทนส.ส. ตัวแทนสาขาสาขาพรรครวมถึงประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในสภานโยบายพรรค เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์และทิศทางของพรรค

    160158667745

(การประชุมพรรคเพื่อไทยเพื่อเเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่)

ขณะที่กระบวนการประชาธิปไตยพรรคเพื่อไทยต้องสร้างความเป็นสถาบันการเมืองและการเป็นฐานมวลชน พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคที่เป็นสถาบันการเมืองมากกว่า 20 ปีวันนี้ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็นพรรคการเมืองที่ล้าหลัง ซึ่งเรามีตัวอย่างมาแล้วนั่นคือพรรคประชาธิปัตย์

ดังนั้นพรรคก็ต้องปรับตัวเช่นเดียวกันไม่เช่นนั้นก็อาจจะเป็นสิ่งที่น่ากังวล หากไม่สามารถล้างภาพของความเป็นคุณทักษิณได้ก็จะถูกหยิบโยงอยู่เช่นนี้อย่างต่อเนื่อง

160158691166

(สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย)

ส่วนที่มีการมองไปถึง บทบาทของพรรคเพื่อไทยในการทำหน้าที่ฝ่ายค้านในช่วงที่ผ่านมาที่อาจจะไม่ปรากฏภาพที่เด่นชัด ขณะเดียวกันยังมีการเปรียบเทียบกับ "พรรคอนาคตใหม่" และ "พรรคก้าวไกล" นั้นต้องยอมรับว่าตั้งพรรคอนาคตใหม่และพรรคก้าวไกลถือเป็นพรรคที่ร่วมสมัย ที่บุคคลหรือสมาชิกพรรคก็ล้วนแต่เป็นคนรุ่นใหม่ จึงทำให้พรรคอนาคตใหม่รวมถึงพรรคก้าวไกลมีพื้นที่ที่เข้ามาเบียดพรรคเพื่อไทยอยู่ไม่น้อย

ประเด็นนี้จึงถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่พรรคเพื่อไทยต้องปรับตัวเพื่อรักษาฐานมวลชนเดิมเอาไว้ ส่วนที่มีการมองว่าการผ่าตัดใหญ่ของพรรคเพื่อไทยครั้งนี้เกิดจากการล้างภาพรวมถึงการกันตัวออกจากข้อเสนอที่สุดโต่ง เช่นการปฏิรูปสถาบัน มองว่า พรรคเพื่อไทยก็ไม่ได้ไปมีส่วนร่วมในประเด็นดังกล่าวมากสักเท่าไหร่นัก มีเพียงส.ส.บางส่วนที่อาจลงไปในพื้นที่จนมีการหยิบโยงกับเรื่องดังกล่าวเหล่านี้ซึ่งอาจจะต้องไปดูในรายละเอียด

"เชื่อว่าพรรคเพื่อไทยเองก็ต้องแสดงบทบาทตรงนี้อย่างชัดเจนว่าจะไม่ไปเกี่ยวข้องเพราะไม่เช่นนั้นก็จะสุ่มเสี่ยงที่จะนำไปสู่การยุบพรรคได้"

ส่วเรื่อง "รัฐบาลแห่งชาติ" นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ผู้นี้มองว่า รัฐบาลแห่งชาติมีการพูดถึงมาโดยตลอดแต่ไม่เคยมีครั้งใดที่จะมีรัฐบาลแห่งชาติเกิดขึ้น ซึ่งในความหมายของการเป็นรัฐบาลแห่งชาติจะต้องไม่มีฝ่ายค้านเลยคือทุกฝ่ายเห็นพ้องด้วยกันหมด ซึ่งจะต้องเกิดขึ้นในกรณีที่มีภัยพิบัติของประเทศหรือมีวิกฤตที่ไม่สามารถหาทางออกได้

แต่ที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์การเมืองไม่เคยมีรัฐบาลแห่งชาติเกิดขึ้น การที่สังคมไปบอกว่าจะมี "ดีลพิเศษ" อาจจะไม่ได้เป็นเช่นนั้น แต่การผ่าตัดใหญ่ครั้งนี้เกิดจากปัญหาในเชิงโครงสร้าง และเป็นปัญหาของพรรคที่ยืดเยื้อเรื้อรังมานาน

"เงื่อนไขการมีรัฐบาลแห่งชาติจะต้องเกิดวิกฤติในบ้านเมือง ต้องไม่มีฝ่ายค้านเลยถึงจะเป็นรัฐบาลแห่งชาติซึ่งไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะตามระบอบประชาธิปไตยคนที่มีความเห็นต่าง ทัศนคติที่ไม่ตรงกันถือเป็นเรื่องปกติ การที่จะทำให้ทุกคนคิดเหมือนกันนั่นคือความไม่ปกติของระบอบประชาธิปไตย" 

หรือหากเกิดความขัดแย้งจริงมันมีกติกาหรือวิธีที่จะสามารถทำให้เดินไปโดยสันติวิธีได้ เช่นการเลือกตั้ง การทำงานของรัฐสภายอมรับว่าการเกิดวิกฤตอาจจะเกิดขึ้นได้ แต่การที่จะไม่มีฝ่ายค้านเลยแล้วให้คนในสังคมเห็นพ้องต้องกันได้ แทบจะไม่มีทางเป็นไปได้สำหรับประเทศไทยในระยะเวลานี้

ทุกครั้งที่มีวิกฤติการเมืองเรามักจะพูดถึง "รัฐบาลแห่งชาติ" แต่ก็ไม่เคยมีการตั้งรัฐบาลในลักษณะดังกล่าวเพียงแต่อาจจะมีในเรื่องของ นายกคนนอก นายกคนกลาง เช่นสมัยนายอานันท์ ปัญยารชุน หรือ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ซึ่งเป็นคนละความหมายของรัฐบาลแห่งชาติ  ซึ่งเราได้เห็นแล้วว่าที่ผ่านมาการมีนายกคนนอกหรือนายกคนกลางก็ไม่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้

160158787678

(24กก.บห.พรรคเพื่อไทยชุดใหม่ภายใต้การนำของสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรค)

หรือหากพรรคเพื่อไทยจะไปจับมือกับพรรคพลังประชารัฐโดยใช้ "สูตรการเมืองใหม่"นั้นก็มองว่า เป็นเรื่องที่ยากเพราะวันนี้ในรัฐบาลก็มีพรรคร่วมรัฐบาลอยู่กว่า 10 พรรค ที่ผ่านมาเราก็จะได้เห็นปัญหาภายในรัฐบาลอยู่แล้ว

"ยิ่งถ้ามีพรรคเพื่อไทยซึ่งถือว่าเป็นองค์กรขนาดใหญ่และมีส.ส.มากที่สุดในสภาผู้แทนราษฎรเข้าไป มองว่าจะยิ่งทำให้การจัดสรรตำแหน่งต่างๆโดยเฉพาะโควตารัฐมนตรีจะยิ่งไม่ลงตัว กลับจะยิ่งเป็นการบีบให้พลังประชารัฐต้องเตะพรรคร่วมออก ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็จะยิ่งเกิดปัญหามากขึ้น จึงยิ่งไม่น่าเป็นไปได้"

ขอถามว่าถ้าพรรคเพื่อไทยตัดสินใจร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐแล้วเตะพรรคร่วมโดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ออกไป พรรคจะยอมที่จะได้โควตารัฐมนตรีน้อยกว่าพรรคพลังประชารัฐหรือ ไม่ได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือไม่

นอกจากนี้ พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นสถาบันการเมืองใหญ่ของประเทศและมีทั้งเสียงโดยเฉพาะพื้นที่ภาคอีสานเป็นส่วนใหญ่เค้าจะตอบประชาชนอย่างไรว่าเหตุใดถึงมาสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

จึงคิดว่าการที่พรรคเพื่อไทยจะจับมือกับพรรคพลังประชารัฐเป็นแนวคิดที่เป็นไปได้ยาก