Soft Power ของ ‘มาดามเดียร์’

Soft Power ของ ‘มาดามเดียร์’

นักการเมืองรุ่นใหม่สาย Soft ‘มาดามเดียร์ - วทันยา วงษ์โอภาสี’ อาสานำประสบการณ์ในการบริหารธุรกิจ และความเข้าใจระบบงานราชการที่ได้จากการทำงานการเมือง มาเป็นตัวกลางเชื่อมประสานภาครัฐและเอกชน เพื่อผลักดันให้มีการนำ Soft Power มาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

160156211873

Soft Power หรือ อำนาจอย่างอ่อน คือขุมพลังที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้มหาศาล มีตัวอย่างเชิงประจักษ์ให้เห็นอยู่มากมายว่าการเข้าแทรกซึมเข้าไปยังตลาดต่างประเทศโดยใช้ Soft Power โดยเฉพาะในเรื่องของศิลปวัฒนธรรมนั้น ประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้น

เห็นได้จากการค่อย ๆ แทรกซึมเข้ามาในสังคมไทยของภาพยนตร์ ดนตรี ละคร การ์ตูน ฯลฯ จากฝั่งตะวันตกบ้าง จีนบ้าง เกาหลีญี่ปุ่นบ้างอย่างแนบเนียน จนเมื่อรู้ตัวอีกทีคนไทยก็กลายเป็นแฟนหนังฮอลลีวู้ด เป็นคอซีรีส์จีน ซีรีส์เกาหลี หรือเป็นแฟนการ์ตูนญี่ปุ่นกันทั่วบ้านทั่วเมืองแล้ว

แล้ว Soft Power คืออะไร?

นิยามของ Soft Power ที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายที่สุดคือแนวคิดที่ โจเซฟ เนย์ (Joseph Nye) นักทฤษฎีด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ให้คำจำกัดความเอาไว้ว่า “ความสามารถในการได้สิ่งที่ต้องการผ่านการโน้มน้าวใจ มากกว่าการใช้การบังคับขู่เข็ญหรือจ่ายค่าตอบแทนเพื่อให้ได้มา”

โดย Soft Power แบ่งออกเป็น 3 ประการ คือ ด้านวัฒนธรรม (Culture) ค่านิยมทางการเมือง (Political values) และนโยบายต่างประเทศ (Foreign policies)

สำหรับประเทศไทยนั้นน่าเสียดายที่รัฐบาลยังใช้ประโยชน์จาก Soft Power ได้ไม่เต็มศักยภาพ ทั้งที่ความแข็งแกร่งและอัตลักษณ์อันโดดเด่นของเรา รวมไปถึงความสามารถของคนไทยในแวดวงศิลปวัฒนธรรมนั้นไม่แพ้ชาติใดในโลก

หากจะพูดถึงด้านภาพยนตร์ เรามีทั้งผู้กำกับเจ้าของรางวัลปาล์มทองคำจากเทศกาลหนังเมืองคานส์อย่าง 'อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล' มีผู้กำกับภาพฝีมือระดับโลกอย่าง 'สยมภู มุกดีพร้อม' ที่ฝากฝีมือไว้ในหนังที่เป็นกระแสฮือฮาอย่าง 'Call Me by Your Name'

หรือถ้าจะถามถึงหนังไทยที่ดังไกลระดับโลก เราก็มีทั้ง องค์บาก, สิ่งเล็ก ๆ ที่เรียกว่ารัก, ฉลาดเกมส์โกง ฯลฯ เป็นหน้าเป็นตาให้กับประเทศ

ในส่วนของการเป็นโลเคชั่นถ่ายภาพยนตร์นั้นเล่า ประเทศไทยก็เป็นหมุดหมายที่สำคัญของกองถ่ายทั่วโลก ด้วยความได้เปรียบทางด้านภูมิประเทศที่มีความหลากหลายและงดงาม คนไทยที่เป็นมิตรพร้อมต้อนรับผู้มาเยือนทุกคณะ และที่ขาดไม่ได้คือประเทศไทยมีบุคลากรที่มีคุณภาพและมีประสบการณ์ในการสร้างภาพยนตร์ร่วมกับฮอลลีวูดมายาวนานหลายสิบปี รวมไปถึงการมีโครงสร้างพื้นฐาน เทคนิคการถ่ายทำ และอุปกรณ์ที่ทันสมัย

แต่น่าเสียดายที่ล่าสุดมีรายงานจาก Thai Enquirer ว่าค่ายหนังจากสหรัฐอเมริกา และยุโรปที่กำลังมองหาสถานที่ถ่ายทำนอกประเทศเพราะในบ้านตัวเองกำลังเผชิญวิกฤติโควิด-19 กลับหันไปเลือกโลเคชั่นถ่ายทำในมาเลเซีย และเวียดนาม แทนที่จะเลือกประเทศไทยซึ่งเป็นเพื่อนเก่า และมีความพร้อมกว่า

โดยสาเหตุสำคัญก็มาจากการที่รัฐบาลประเทศเพื่อนบ้านของเราเสนอแรงจูงใจด้านภาษีที่ดึงดูดใจค่ายหนังตะวันตกมากกว่ารัฐบาลไทยที่ไม่ได้มีข้อเสนออะไรให้กับพวกเขาในช่วงวิกฤตินี้เลย จนนำมาซึ่งความสูญเสียเม็ดเงินมหาศาลไปอย่างน่าเสียดาย

โชคดีที่วันนี้เรามีนักการเมืองรุ่นใหม่ไฟแรงอย่าง 'มาดามเดียร์' - 'วทันยา วงษ์โอภาสี' สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ อาสาเข้ามาเป็นตัวกลางระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อผลักดันให้รัฐบาลเห็นความสำคัญของการนำ Soft Power มาใช้เป็นขุมพลังใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเราอย่างจริงจัง

160156225178

  • แรงบันดาลใจในการลุกขึ้นมาผลักดันเรื่อง Soft Power

ด้วยแบ็คกราวด์ เดียร์เป็นนักธุรกิจผลิตคอนเทนต์ ซึ่งคนที่ประกอบธุรกิจคอนเทนต์จะรู้สภาพของอุตสาหกรรมและตลาดเป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ประกอบการสื่อ จะรู้ถึงการเข้ามาของดิจิทัลที่ทำให้เกิด Digital Disruption เพราะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ และต้องปรับตัวเป็นระลอกแรก ๆ

สิ่งที่เราได้จากการพูดคุยกับผู้ประกอบการสื่อด้วยกัน และเรารู้สึกเหมือนกันคือการสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งที่ผ่านมาเดียร์คิดว่ายังไม่เพียงพอ ทั้งที่จริงๆ แล้วสื่อมีหลายมิติ ไม่ใช่แค่เรื่องของการนำเสนอเนื้อหาเพียงอย่างเดียว แต่ถ้าเราใช้ให้เป็นประโยชน์มันก็คือ Soft Power ซึ่งเป็นขุมพลังในการขับเคลื่อนหลาย ๆ มิติในพาร์ทอื่นได้

จากแบ็คกราวด์ ความเชี่ยวชาญเดิมของเรา เมื่อเข้ามาทำงานการเมือง เราอยู่ในส่วนของ สส. ที่เป็นฟากรัฐบาล พูดง่าย ๆ ก็คือเราเห็นจุดอ่อนในอุตสาหกรรม และเรารู้สึกว่าถ้ามีโอกาสเราอยากจะเข้ามาขับเคลื่อน บวกกับพอเกิดโควิดมีผู้ประกอบการที่ได้ผลกระทบเยอะมาก ซึ่งภาครัฐก็พยายามออกมาตรการช่วยเหลือในหลายๆ พาร์ท แต่มันก็กลับมาสู่จุดเดิมคือ พอออกมาตรการช่วยเหลือมันก็อาจจะโฟกัสที่ผู้ประกอบการในพาร์ทอื่น ๆ เช่น ท่องเที่ยว ที่ได้รับผลกระทบแรก ๆ ส่วนธุรกิจสื่อหรืออุตสาหกรรมคอนเทนต์ทั้งหมดจะเป็นเซคเตอร์หลัง ๆ ที่ภาครัฐยังไม่มีมุมมองมายังธุรกิจกลุ่มนี้

จากการที่เราได้เข้ามาทำงานการเมือง ได้มาเข้าใจในมุมมอง บริบทการทำงานของภาครัฐ ข้าราชการทั้งหมด เข้ามาเรียนรู้เนื้องานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ผ่านมาเดียร์ได้มีโอกาสทำงานด้านกรรมาธิการงบประมาณปี 2554 จึงได้เห็นภาพรวมของหน่วยงานรัฐทั้งหมด ทั้งหน่วยรับงบประมาณโดยตรงแล้วก็องค์กรที่เป็นกึ่งของรัฐ พอเรากลับมานั่งดูข้อมูลแล้วก็จะเห็นว่าช่วงที่เกิดวิกฤติโควิด การฟื้นฟูเศรษฐกิจส่วนใหญ่จะเน้นไปในเรื่องของการพัฒนาโปรดักต์ (product) แต่เรามาจากคนทำคอนเทนต์ ซึ่งมันคือเรื่องของ Marketing Communication (การสื่อสารการตลาด)

วันนั้นที่มีโอกาสได้กราบเรียนท่านนายกรัฐมนตรี เดียร์ได้พูดในมุมที่ว่า เราขับเคลื่อนในเรื่องโปรดักต์เยอะ แต่เดียร์เห็นช่องว่างที่เรายังไม่ได้ให้ความสำคัญกับมันเพียงพอคือเรื่องของ Communication & Marketing ซึ่งเรามาจากคนทำงานด้านนี้เรารู้ว่าการจะขายของหนึ่งชิ้นได้โปรดักต์ต้องดี แต่ถ้าโปรดักต์ดีแล้วเราไม่มี Communication & Marketing ช่องทางที่จะส่งต่อไปยังผู้บริโภค พูดง่าย ๆ ก็คือของขายไม่ได้

แน่นอนว่าวันนี้เราไม่ได้ขายแค่ประเทศไทย เพราะด้วยกำลังซื้อของเราเองมันคงไม่เพียงพอ เพราะฉะนั้น เราจะผลักดันโปรดักต์ไทยออกไปสู่สากลอย่างไร ซึ่งเดียร์คิดว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญ แล้วหน่วยงานภาครัฐที่ทำด้านนี้จริงๆ มีอยู่น้อยมาก งบประมาณที่ลงมาโฟกัสด้านนี้เมื่อเทียบกับรายได้เข้าประเทศก็เป็นสัดส่วนที่ยังน้อยอยู่มากเช่นกัน แล้วยิ่งวันนี้เราเกิดวิกฤติ การจะฟื้นฟูเศรษฐกิจให้ได้สำเร็จเดียร์ว่าเราต้องหยิบโอกาสที่หายไป คือ Marketing & Communication เข้ามาบูรณาการอย่างไรเพื่อขยายตลาดของประเทศไทยออกไป

แล้วมันก็ย้อนกลับมาที่ประสบการณ์ของเรา ตอนเป็นนักธุรกิจเราคิดอยู่เสมอว่าอยากให้ภาครัฐทำแบบนั้นแบบนี้ พอยิ่งเรามาทำงานตรงนี้เราก็เข้าใจหน่วยงานราชการมากขึ้นว่าเขาก็พยายามจะทำ แต่ในแง่ของบริบทการทำงาน เดียร์เชื่อในเรื่องของการกล้า think out of the box (คิดนอกกรอบ) โดยเฉพาะเวลาที่ต้องแก้ธุรกิจที่มันจะล้ม ถ้าเราทำอะไรแบบเดิมๆ เราก็จะได้ผลลัพธ์ในแบบเดิมๆ

ธุรกิจที่มันสามารถ turnaround ได้เวลาเรากลับไปดูก็จะสังเกตเห็นว่ามันต้องกล้าที่จะคิดใหม่ กล้าออกจากกรอบ ซึ่งนี่เป็นสิ่งสำคัญที่เราอยากจะเข้ามาทำ

160156251899

  • จุดเริ่มต้นของการจับมือกับผู้ประกอบการภาพยนตร์

ช่วงที่เกิดวิกฤติโควิด-19 เดียร์ได้มีโอกาสพูดคุยกับกลุ่มผู้ประกอบการภาพยนตร์ พบว่าคนในอุตสาหกรรมฯ ทั้งในส่วนของต้นน้ำยันปลายน้ำได้รับผลกระทบทั้งหมด แม้โรงหนังจะเปิดให้บริการแล้ว แต่การที่ต้องหยุดถ่ายทำทำให้ไม่มีภาพยนตร์เข้าไปป้อน จุดเริ่มต้นที่เราคุยมันเริ่มจากตรงนั้น มันเริ่มต้นจากการถกปัญหาของโควิด แต่สุดท้ายมันกลับมาสู่ในเรื่องของการยกระดับทั้งอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยได้อย่างไร

เดียร์อาจจะเริ่มคุยกับผู้ประกอบการภาพยนตร์ แต่จริงๆ แล้วเราไม่ได้พูดถึงแค่ในส่วนของภาพยนตร์ แต่เป็นคอนเทนต์ทั้งหมด เดียร์ว่าคนที่เป็นผู้ผลิตคอนเทนต์มองเห็นถึงอานุภาพ และพลังการสื่อสารของ Soft Power ดี เราหยิบมาพูดถึงทั้งโมเดลของฮอลลีวูด บอลลีวูด เกาหลีที่เห็นจุดเปลี่ยนแปลงชัดหน่อย ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐเองก็หยิบเรื่องนี้มาพูดถึงบ่อยมาก แต่ในวันนี้ประเทศไทยยังไม่สามารถที่จะขับเคลื่อนไปได้อย่างที่นานาชาติเขาทำกัน

160156243072

  • ทำไมเราหยิบ Soft Powerมาใช้ไม่ได้เหมือนประเทศอื่น

ข้อแรกเดียร์คิดว่าที่ผ่านมาเรายังไม่มีแผนงานการพัฒนาคอนเทนต์ในแง่ขององค์รวมจริงๆ ซึ่งองค์รวมของเดียร์หมายถึงการพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำ ในเรื่องของบุคคลากร คุณภาพของคอนเทนต์หรือโปรดักต์ก็ต้องถูกพัฒนาต่อเนื่องไป หรือกระทั่งในเรื่องของช่องทางที่จะส่งออก การเชื่อมโยงระหว่างประเทศไทยกับต่างชาติ โดยการที่ภาครัฐเป็นผู้นำให้กับเอกชน ฯลฯ เหล่านี้มันยังไม่ได้มีการนำมาถกให้ตกผลึกเพียงพอ มันยังไม่ได้มีแผนที่ถูกนำมาขับเคลื่อนโดยมองให้ครบทุกมิติ

อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากแล้วเดียร์คิดว่าประเทศเรายังไม่เคยมีการหยิบยกมาพูดถึงคือ เรื่องที่หน่วยงานของรัฐจะต้องมีการศึกษาเรื่องดาต้า มีการวิจัยเรื่องเทรนด์ หรือพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

ในแง่ของผู้ประกอบการสื่อ เราจะเข้าใจว่าการผลิตคอนเทนต์ในแต่ละแพลตฟอร์มจะมีวิธีการสื่อสาร และมีกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกัน หน้าตาคอนเทนต์ที่เป็นวีดิโอ เมื่อไปปรากฎบนหน้าจอทีวีกับบนหน้าจอมือถือ วิธีการทำก็จะต่างกันออกไป ทั้งในเรื่องของสตอรีไลน์ โปรดักชั่น เดียร์เลยถามกลับมาว่า ทุกวันนี้เรามีการศึกษาข้อมูลเรื่องนี้ครบถ้วนแล้วหรือยัง

แล้วการศึกษาเพื่อไล่ตามยังไม่เพียงพอ แต่เราต้องสามารถศึกษาเพื่อที่จะชี้อนาคตได้ว่าเราจะกำหนดยุทธศาสตร์อย่างไร เมื่อปักหมุดได้ สอง เราจะพัฒนาบุคคลากรอย่างไรให้มีความรู้ความเข้าใจที่เมื่อวันหนึ่งที่เทคโนโลยีมาถึง เราพร้อมที่จะกระโดดไป

สาม พอบุคคลากรพร้อมเมื่อวันที่เทคโนโลยีมาถึง ด้วยตัวอุตสาหกรรมมันก็ขับเคลื่อนด้วยตัวมันเอง สุดท้ายคือเรื่องของการที่โลกมันแคบลง โดยเฉพาะในเรื่องของการสื่อสารไม่มี boundary เหมือนเดิมแล้ว เราจะส่งความคิด ส่งโปรดักต์ของเราออกไปให้คนต่างชาติรับรู้อย่างไร

สุดท้ายสิ่งที่เอกชนต้องการคือการสนับสนุนเรื่องกฎหมายต่าง ๆ จากรัฐบาล เรื่องทรัพย์สินทางปัญหาที่ตัวกฎหมายต่าง ๆ ตราขึ้นไว้เมื่อซักประมาณ 20 ปีที่แล้ว แต่วันนี้แพลตฟอร์ม เทคโนโลยีมันเปลี่ยนไปหมดแล้ว การจะปกป้องคนที่เค้าใช้สรรพกำลัง ต้นทุนไปอย่างเต็มที่ได้อย่างครอบคลุมต้องทำอย่างไร

ทุกวันนี้ เรื่องของการละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์ในประเทศไทยมันกลายเป็นเรื่องปรกติไปแล้ว อันนี้รัฐเองจะเข้ามาช่วยสนับสนุนอย่างไร เช่น เรื่องการสนับสนุนในเรื่องสิทธิประโยชน์ด้านภาษีบางอย่าง

  • จากที่คุยมา ผู้ประกอบการภาพยนตร์ต้องการอะไร

คุณภาพของโปรดักต์หรือคอนเทนต์ต่าง ๆ มันจะแปรผกผันไปกับต้นทุนของสิ่งนั้น ๆ ทีนี้เมื่ออุตสาหกรรมสื่อในบ้านเรา ที่ผ่านมาเอกชนขับเคลื่อนด้วยตัวเอง ดังนั้น ก่อนที่ผู้ประกอบการจะไปถึงเรื่องที่ว่าจะต้องลงทุนเท่าไร พวกเขาก็ต้องคำนวณมายังปลายทางแล้วว่าเค้าจะหารายได้จากการผลิตหนัง ผลิตการ์ตูน หรือผลิตเกมได้เท่าไร ซึ่งมันก็จะกลับมาสู่เรื่องการสะท้อนของต้นทุน

แล้วการจะทำให้คอนเทนต์ไทยออกไปสู่สายตาทั่วโลกได้มากขึ้น รายได้ที่จะหาได้จากภายในประเทศเป็นสิ่งสำคัญที่มีผลต่อต้นทุนในการผลิตงานแต่ละงาน ซึ่งถ้าตรงนี้เราพูดถึงแต่ production value แต่ในเรื่องของรายได้ เรายังไม่สามารถที่จะพัฒนาให้เติบโตไปได้ มันก็ไม่มีทางที่จะพัฒนา production value ที่จะตามมา

วันนั้นที่เดียร์ได้คุยกับกลุ่มผู้ประกอบการ มันก็เลยวกกลับมาสู่อันแรกที่ว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการอยากให้รัฐเข้ามาสนับสนุน อาจจะเป็นในเรื่องของการจัดตั้งกองทุน เงินทุนอะไรเหล่านี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าขอรัฐฟรี แต่ทางด้านของผู้ประกอบการก็ยังจะลงทุนเหมือนเดิม แต่เราอยากพัฒนา production value บางอย่างเพิ่มไปจากเดิม ไม่อย่างนั้นในแง่ของการลงทุนมันก็จะถูก cap (จำกัด) ด้วยไอ้ตัว feasibility ที่มันก็จะอยู่แบบเดิม

เหล่านี้เราอยากให้รัฐเข้ามาซัพพอร์ต เพื่อให้การผลิตภาพยนตร์หรือคอนเทนต์ในแต่ละครั้งมันสามารถที่จะขยายในแง่ของเงินทุนได้เพิ่มมากขึ้น สามารถที่จะพัฒนา production value ได้เพิ่มมากขึ้น

อันที่สองก็คงเป็นการพัฒนาในองค์รวม การที่รัฐเข้ามาสนับสนุนในเรื่องบุคคลากร การพัฒนาซอฟท์สกิลเดียร์มีโอกาสได้เจอกับน้องๆ นักศึกษา และม.ปลาย แล้วพบว่าช่วงโควิดนี้ เยาวชนไทยมีความกังวลในเรื่องของการตกงาน แล้วซอฟท์สกิล โดยเฉพาะในเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ เดียร์คิดว่าถ้าเราเพิ่มทักษะนี้ให้กับเยาวชนไทยได้ มันก็จะทำให้พวกเขาอยู่รอดภายใต้การเข้ามาของเทคโนโลยีได้ ซึ่งตรงนี้เราจะเติมเข้าไปในอุตสาหกรรมอย่างไรให้มันเพียงพอต่อการที่จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมในองค์รวม

หลังจากนี้เราจะทำแผนพัฒนาอุตสาหกรรม ตัว Soft Power เหล่านี้กลับไปให้ภาครัฐ แต่เดียร์ว่าปัญหาส่วนหนึ่งที่ทำให้เรายังไปไม่ได้เหมือนต่างประเทศก็คือในเรื่องของการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ที่มันจะต้องครอบคลุมในทุกมิติจริงๆ

อันที่สองคือความไม่แน่ไม่นอนทางการเมือง แผนบางเรื่องถูกเขียนไว้ก็อาจจะถูกยุติหรือปรับเปลี่ยนไปก็ขึ้นอยู่กับฟากฝั่งการเมือง บุคคลากรที่เข้ามาบริหาร มันก็ไม่เกิดความต่อเนื่อง ซึ่งการจะพัฒนาหรือยกระดับอุตสาหกรรมได้ อย่างโมเดลของเกาหลีที่วันนี้เข้าไปยืนทัดเทียมระดับโลกได้แล้ว แน่นอนว่ามันไม่ได้มาจากการเปลี่ยนแปลงแค่หนึ่งปี สองปี สามปี แต่ว่ามันเป็นการทำมาอย่างยาวนาน เพียงพอต่อเนื่องกว่าสิบยี่สิบปี

ความต่อเนื่องเป็นสิ่งสำคัญ เราก็หวังว่าแผน (ใช้ Soft Power ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ) ที่เราจะนำเสนอไป อยากให้มันเข้าไปแก้ไขอุตสาหกรรม ขับเคลื่อนและพัฒนาได้จริงๆ