รู้จัก' Smart Park' แหล่งรับทุนดิจิทัลแห่งใหม่

รู้จัก' Smart Park' แหล่งรับทุนดิจิทัลแห่งใหม่

เมื่อเร็วๆนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้การนิคมแห่งประเทศไทย (กนอ.)เดินหน้าโครงการลงทุนโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค (Smart Park) จังหวัดระยอง พื้นที่รวม 1,383 ไร่ มูลค่าประมาณ 2,370 ล้านบาท

รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ประชุมครม. วันที่ 29 ก.ย.ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบให้ กนอ.พัฒนานิคมอุตสาหกรรม Smart Park โดยนิคมอุตสาหกรรมนี้ตั้งอยู่ในตำบลห้วยโป่ง อำเภอเมือง จังหวัดระยอง มีระยะทางห่างจากท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด 7 กิโลเมตร ห่างจากสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา 17 กิโลเมตร ห่างจากท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ 29 กิโลเมตร ท่าเรือแหลมฉบัง 53 กิโลเมตร และสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ 150 กิโลเมตร เนื้อที่โครงการทั้งหมด 1,383 ไร่

นิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่นี้จะแบ่งการใช้ประโยชน์ที่ดินออกเป็น 4 โซนได้แก่ พื้นที่อุตสาหกรรม จำนวน 621.55 ไร่ พื้นที่พาณิชยกรรม จำนวน 150.54 ไร่ พื้นที่สาธารณูปโภค เช่น พื้นที่จอดรถส่วนกลาง ระบบผลิตน้ำประปา ระบบบำบัดน้ำเสีย สถานีไฟฟ้าย่อย และถนน จำนวน 373.35 ไร่ และพื้นที่สีเขียวและแนวกันชน จำนวน 238.32 ไร่

โดยโครงการนี้จะเป็นโครงการที่พัฒนาขึ้นเพื่อให้เป้าหมายของโครงการจะมุ่งเน้นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (New S-Curve) ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมหุ่นยนต์กลุ่มอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล และกลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ เป็นต้น 

ส่วนผลการวิเคราะห์ความเหมาะสมทางการเงินและเศรษฐกิจของโครงการระยะเวลา 30 ปี มีความคุ้มทุนในทางการเงินและมีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ โดยมีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) เท่ากับ 585.74 ล้านบาท อัตราผลตอบแทนของโครงการ (IRR) 8.91% ซึ่งมากกว่าต้นทุนถัวเฉลี่ย ถ่วงน้ำหนักของเงินทุน (WACC) ของ กนอ. (7.25%) และมีระยะเวลาคืนทุน 14 ปี

“โครงการนี้จะใช้เวลาก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ประมาณ 3 ปี และจะจัดทำแผนการตลาดเพื่อเชิญชวนผู้ประกอบการและนักลงทุน โดยคาดว่าพื้นที่จะถูกเช่าหมดภายใน 4 ปี "

หลังจากก่อสร้างแล้วเสร็จ และดำเนินโครงการแล้ว จะเกิดการจ้างงานประมาณ 7,459 คน มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจพื้นที่ประมาณ 1,342 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้ทุกกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องยึดหลักการดูแลสิ่งแวดล้อมและหลักสิทธิมนุษยชน ทุกส่วนราชการจะต้องเข้มงวดในเรื่องการติดตามและประเมินผล เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชน

สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่าโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคม อีกทั้งยังเป็นการตอบสนองนโยบายรัฐบาลที่สนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจในพื้นที่อีอีซี

โดยหลังจาก ครม.เห็นชอบให้มีการลงทุนในโครงการแล้ว คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ภายในไตรมาส 1/2564 และใช้ระยะเวลาการก่อสร้างประมาณ 3 ปี โดยเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จและมีการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม Smart Park จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคม 

การลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม Smart Park จะสามารถสร้างมูลค่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)ต่อปี อยู่ที่ 52,934.58 ล้านบาท ขณะเดียวกันจะเกิดการจ้างงาน ประมาณ 7,459 คน ส่งผลให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจในพื้นที่ประมาณ 1,342,620,000 บาทต่อปี (คิดฐานเงินเดือนขั้นต่ำเดือนละ15,000 บาท)

นอกจากนี้ ยังมีประโยชน์ในด้านอื่นๆ ที่ไม่สามารถประเมินค่าได้โดยตรง เช่น มีการใช้วัสดุอุปกรณ์ในการก่อสร้าง น้ำมันเชื้อเพลิง และอื่นๆ ทำให้เกิดการหมุนเวียนในท้องถิ่น เกิดประโยชน์ทางอ้อมต่อหน่วยงานปกครองท้องถิ่น หรือประฌโยชน์ต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม หรือคุณภาพชีวิตด้านอื่นๆ

สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่า กนอ. กล่าวว่านิคมฯSmart Park เป็นส่วนหนึ่งของเขตEECปัจจุบันเป็นเขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) โดยมีกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation & Logistics) กลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ (Medical Device) กลุ่มอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (Robotics) และกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital) ซึ่งตามแผนการพัฒนาโครงการ คาดว่าจะใช้เวลาในการพัฒนาปรับพื้นที่ดำเนินการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ประมาณ 3 ปี โดยในช่วงระยะการก่อสร้างคาดว่าจะทำให้มีการจ้างงานประมาณ 200 คน และเกิดเงินหมุนเวียนเพิ่มขึ้นในชุมชน ประมาณ 23.7 ล้านบาทต่อปี (คิดอัตราฐานเงินเดือนขั้นต่ำ 330 บาท)อีกด้วย

นอกจากนี้ ในส่วนของทำเลที่ตั้งของโครงการฯ ถือว่าอยู่ตำแหน่งยุทธศาสตร์ที่ดีมีความได้เปรียบในแง่ของการเป็นแหล่งผลิตเม็ดพลาสติกที่เป็นวัตถุดิบ (Raw materials sources ) และอยู่ในเขตส่งเสริมของอีอีซีด้วย 

ทั้งนี้ Smart Park เป็นนิคมฯที่รองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-curve) ที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีอัจฉริยะ ซึ่งนอกจากรวมอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงไว้ในที่เดียวกันแล้ว ยังเป็นนิคมอุตสาหกรรมต้นแบบที่มีระบบสาธารณูปโภคเพียบพร้อมรวมทั้งอาคารต่างๆ ต้องมีมาตรฐานระดับสากล และก่อให้เกิดการหมุนเวียนเงินในท้องถิ่น คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตในด้านอื่นๆ