'ตรวจสุขภาพ' ส่องหาโรค อะไรไม่จำเป็นต้องตรวจ

'ตรวจสุขภาพ' ส่องหาโรค อะไรไม่จำเป็นต้องตรวจ

แพคเกจตรวจสุขภาพตามโรงพยาบาลต่างๆ มีให้เลือกเยอะแยะ แต่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่า จำเป็นต้องตรวจแค่ไหน เพื่อไม่ต้องเสียเงินโดยใช่เหตุ

ว่ากันว่า ในการตรวจสุขภาพทั่วไป ส่วนใหญ่ไม่มีการคัดกรองโรคซึมเศร้า และแทบจะไม่ให้ความสำคัญ ทั้งๆ ที่ควรมีเรื่องเหล่านี้อยู่ ถ้าอย่างนั้นการตรวจสุขภาพเบื้องต้นแค่ไหนจำเป็นและเหมาะสม

ทั้งๆ ที่รู้ว่าการตรวจสุขภาพเป็นเรื่องจำเป็น แต่คนจำนวนมากก็ละเลย รอให้ป่วยก่อนค่อยไปหาหมอ ลองดูสิว่า แต่ละช่วงวัยต้องตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมอย่างไร

ที่ผ่านมา มีการตรวจสุขภาพในห้องแล็บที่ไม่จำเป็นอยู่หลายเรื่อง อาทิ  "การตรวจระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือด แทบจะไม่มีประโยชน์เลยในการวิเคราะห์การเพิ่มระดับ non-HDL cholesterol" (จากรายงานคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญบนพื้นฐานประสบการณ์คลินิก) , "การตรวจ chest x-ray การคัดกรองมะเร็งปอดทุกปี เมื่อเทียบกับกลุ่มไม่คัดกรอง ก็แทบจะไม่มีประโยชน์เลย" (จากการศึกษาแบบกลุ่มสุ่มตัวอย่าง-ควบคุม ฯลฯ)

ตรวจสุขภาพ ไม่ใช่แค่ผลแล็บ

ถ้ายังไม่ป่วย และต้องการแค่ตรวจดูว่า สุขภาพส่วนไหนเจ็บป่วย เพื่อจะได้รีบบำบัดแก้ไข ดูแลสุขภาพ ป้องกันโรค ทำให้ป่วยช้าลง ซึ่งมาตรฐานการตรวจสุขภาพทั่วไปที่ประชาชนควรรู้

ถ้าใช้เกณฑ์แค่วัยทำงาน 18-60 ปี ก็จะมีการซักประวัติ เพื่อค้นหาความผิดปกติทั่วไป ,ประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพ ซึ่งมีการประเมินภาวะซึมเศร้า, ความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด,ประเมินระดับการติดบุหรี่ สุรา และสารเสพติด ซึ่งมีผลต่อร่างกาย รวมถึงการตรวจในห้องปฎิบัติการ

“บางทีการตรวจสุขภาพก็พึ่งเทคโนโลยีมากไป แต่บางครั้งเทคโนโลยีก็ไม่ได้ตอบโจทย์ร้อยเปอร์เซ็นต์ บางทีก็มีผลบวกลวง (False positive-หมายความว่า ผู้ป่วยไม่ได้เป็นโรค แต่ผลการตรวจกลับบ่งบอกว่าเป็นโรค) อย่างผลออกมาคุณเป็นมะเร็ง แต่จริงๆ แล้วคุณปกติ หรือตรวจออกมาเป็นเอชไอวี แต่คนไข้ไม่ได้เป็นโรค เพราะเครื่องมือลวงบอกว่าเป็นโรค ซึ่งไม่มีเครื่องมือไหนตรวจแม่นยำร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก ” ข้อมูลจากคุณหมออรรถสิทธิ์ ศรีสุบัติ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ กรมการแพทย์ เพื่อให้เห็นว่า บางทีเทคโนโลยีก็สร้างปัญหาให้กับคน

และไม่ใช่แค่ผลบวกลวง ยังมีผลลบลวง (False negative- หมายความว่า ผู้ป่วยเป็นโรคจริง แต่ผลการตรวจกลับไม่พบ ) ซึ่งเรื่องนี้คุณหมอบอกว่า เครื่องมือที่ดีต้องแสดงผลบวกจริงหรือผลบวกแท้ คือ ผู้ป่วยเป็นโรคจริง และผลการตรวจก็บ่งบอกว่าเป็นโรคชนิดนั้นจริง

ตรวจเท่าที่จำเป็น

การตรวจสุขภาพเพื่อคัดกรองเบื้องต้น เพื่อจะได้รู้ว่า คุณกำลังจะป่วยด้วยโรคอะไร ซึ่งบางทีเราก็ไม่รู้ว่า ต้องตรวจแค่ไหน (ดูล้อมกรอบ) ช่วงวัย 18-60 ปี การตรวจทางห้องปฎิบัติการที่เหมาะสม เริ่มกันตั้งแต่การตรวจเม็ดเลือด ตรวจระดับน้ำตาล ตรวจระดับไขมัน ตรวจปัสสาวะ ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำไส้ใหญ่และสำไส้ตรง และการหาเชื้่อไวรัสตับอักเสบบี

ตามมาตรฐานงานวิจัย โดยทั่วไปการตรวจระดับไขมันเลือด มักจะให้ตรวจสี่ตัวคือ 1 ไขมันในเส้นเลือดชนิด cholesterol 2 ไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือด 3 ไขมันในเลือดHDL และ 4 ไขมันในเลือดLDL แต่แนวทางการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสม ตรวจแค่สองตัวก็พอแล้วคือ ไขมันในเส้นเลือดชนิด cholesterol และ ไขมันในเลือดHDL ก็สามารถประเมินความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้แล้ว

“การตรวจการทำงานของไต หรือ Creatinine ซึ่งดูอัตราการกรองของไต คนส่วนใหญ่จะมีปัญหาก็ต่อเมื่ออายุ 60 กว่าๆ ก็ควรตรวจในวัยนั้น ถ้าไตเริ่มทำงานผิดปกติผลแล็บค่าอื่นๆ ก็จะบอกเอง อาทิ ความดันโลหิตสูง”

ส่วนการตรวจหามะเร็ง คุณหมอสมชาย ธนะสิทธิชัย สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ให้ข้อมูลไว้ว่า การคัดกรองมะเร็งที่เหมาะสมในรายงานนี้ มีไว้สำหรับคนทั่วไปที่มีความเสี่ยงปกติต่อการเป็นมะเร็ง

160154121690

“การตรวจคัดกรองมะเร็ง คณะทำงานใช้ข้อมูลทางระบาดวิทยาเลือกมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในเพศชายและหญิง เพื่อจะได้มีการคัดกรองแล้วเกิดประโยชน์ ตรวจหามะเร็งให้เร็วขึ้นและมีความเป็นไปได้ ไม่ว่ามะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม มะเร็งตับ ฯลฯ 

เมื่อตรวจแล้วพบก้อนเนื้อขนาดเล็กที่ไม่ใช่มะเร็ง หรือเป็นถุงน้ำ ทั้งๆ ที่อาจไม่จำเป็นต้องรักษา แต่เผอิญตรวจพบ ผู้ป่วยก็จะต้องมาตรวจติดตามต่อเนื่องทุก 6 เดือน และอีกกรณี ผลตรวจคลุมเคลือ จึงนำไปสู่เจาะตรวจชิ้นเนื้อเพิ่มเติม ทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นโรคอะไร นอกจากเป็นการเพิ่มความเสี่ยงจากเสียเลือดและติดเชื้อแล้ว ยังเป็นการใช้บุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งเครื่องมือต่างๆโดยไม่จำเป็น ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งจริงๆ และจำเป็นต้องเข้ารับการตรวจด้วยวิธีเดียวกัน ต้องเสียโอกาส ”

คัดกรองมะเร็งเต้านม

ผู้หญิงทุกคนควรมีการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ซึ่งสามารถตรวจด้วยตัวเอง และตรวจโดยผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งเป็นแพทย์หรือบุคลากรสาธารณสุขที่ได้รับการฝึกอบรม

คุณหมอสมชาย ให้ข้อมูลไว้ว่า การตรวจเต้านมด้วยตัวเอง ต้องตรวจให้ถูกท่า ถูกต้อง และสม่ำเสมอ แต่ปัญหาคือ ถ้าตรวจด้วยตัวเอง บางคนตรวจถูกท่า แต่ไม่รู้ว่าตรวจแล้วเจอมากน้อยเพียงใด

“เคยมีการศึกษาวิจัยทั้งโลกว่า การตรวจเต้านมด้วยตัวเอง ไม่ช่วยลดอัตราการตายจากมะเร็งเต้านม แต่เพิ่มความตระหนักรู้ของประชากร และยังแนะนำให้ทำอยู่ แต่ถ้าคาดหวังว่านี่คือการคัดกรองก็ไม่ใช่ จึงเกิดช่องว่างตรงกลาง ดังนั้นควรมีกระบวนการการตรวจคัดกรองด้วยบุคลากรทางการแพทย์ โดยสอนวิธีการคลำ "

ส่วนการตรวจคัดกรองด้วยแมมโมแกรม คุณหมอสมชาย ให้ข้อมูลไว้ว่า  ถ้าอยู่ในช่วงวัยที่เหมาะสมก็ได้ประโยชน์ ต้องมีอายุตั้งแต่สี่สิบปีขึ้นไป แต่ไม่จำเป็นต้องตรวจทุกปี เพราะอุบัติการณ์การเกิดโรคนี้ในช่วงวัยดังกล่าวในคนไทยยังไม่สูงมาก อุบัติการเกิดโรคนี้อยู่ช่วงวัย 55-60 ปี

“ผู้หญิงอายุน้อยไม่แนะนำให้ตรวจแมมโมแกรม เพราะเต้านมจะมีความหนาแน่นน้อย ค้นหาเซลล์ผิดปกติได้ยาก และการทำเมมโมแกรมก็มีความเสี่ยงคือ ได้รับรังสีเพิ่ม แต่เมื่อเทียบกับการเจอโรค ประโยชน์ที่ได้มากกว่าผลข้างเคียง”

อะไรไม่จำเป็นต้องตรวจ

“มะเร็งถ้าพบในคนอายุน้อย ร่างกายจะมีกระบวนการทำลายเซลล์ผิดปกติ แต่กระบวนการเหล่านี้จะแย่ลงเมื่ออายุมากขึ้น" คุณหมอสมชาย แนะไว้ว่า การตรวจคัดกรองมีหลายระดับ ถ้าไม่มีปัญหาการเงิน จะตรวจคัดกรองลำไส้ใหญ่โดยการส่องกล้องก็ได้ แม้การส่องกล้องอาจมีความเสี่ยงในกรณีลำไส้ทะลุ แต่โอกาสเจอแบบนั้นน้อยมาก

160154079493

"ส่วนการคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก ด้วยการตรวจ PSA (prostatic specific antigen) ซึ่งเป็นสารส่อมะเร็ง แม้การคัดกรองจะทำได้ไว แต่ไม่ได้ลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งต่อมลูกหมาก เพราะมะเร็งชนิดนี้เติบโตช้า ส่วนใหญ่คนไข้มักจะเสียชีวิตเพราะวัยชราก่อน หรือกรณีการตรวจคัดกรองกรดยูริคในเลือดในกลุ่มคนไม่มีอาการ ก็ไม่ประโยชน์ เพราะอาจมีการให้ยาลดกรดยูริคโดยไม่จำเป็น ”

มีรายงานตรวจทางห้องปฎิบัติการที่มีหลักฐานไม่สนับสนุนการตรวจในหลายกรณี ยกตัวอย่างคนที่มีกรดยูริคสูง แต่ไม่มีอาการ ส่วนใหญ่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นโรคเก๊าท์ หรือนิ่ว ดังนั้นการรักษาผู้ไม่มีอาการผิดปกติมีความเสี่ยงต่อการแพ้ยาถึงขึ้นเสียชีวิตได้

ไม่ต่างจากกรณีการคัดกรองมะเร็งปอดโดย chest x-ray ในทุกปี หลักฐานทางวิชาการพบว่า ไม่สามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งปอด หลังจากติดตามมาเป็นเวลา 13 ปี

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องอุบัติโรคมะเร็งตับพบว่า หลังจากมีการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสบีให้คนที่เกิดหลังปี 2535 ก็มีแนวโน้มว่า ตั้งแต่ปี 2560 คนไทยที่ป่วยเป็นมะเร็งตับจะเริ่มลดลง ดังนั้นคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตัวนี้ ก็ควรฉีดป้องกัน

ยกตัวอย่างช่วงวัย 18-60 ปี ต้องตรวจอะไรบ้าง

การตรวจสารเคมีในเลือด

-ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (complete Blood count หรือ CBC ) เนื่องจากภาวะซีดจากโรคโลหิตจางธาลัสซิเมีย เป็นอุบัติการณ์ของคนไทยร้อยละ 30 หรือ 20 ล้านคนมียีนธาลัสซิเมียชนิดใดชนิดหนึ่ง จึงมีคำแนะนำว่าให้ตรวจ CBC อย่างน้อย 1 ครั้งหากไม่เคยตรวจมาก่อน

-ตรวจระดับน้ำตาล ( FPG หรือ FBS) เพื่อคัดกรองเบาหวาน ตั้งแต่อายุ 35 ปีตรวจทุก 3 ปี

-ตรวจระดับไขมันในเส้นเลือดชนิด cholesterol และ ไขมันในเลือดHDL ตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป ตรวจทุก 5 ปี

-ระดับ serum Creatinine การทำงานของไตไม่จำเป็นต้องตรวจ ควรตรวจตอนอายุกว่า 60 ปี หนึ่งครั้งต่อปี

-การตรวจปัสสาวะ ไม่จำเป็น ควรตรวจตอนอายุมากกว่า 60 ปี หนึ่งครั้งต่อปี

การตรวจคัดกรองมะเร็ง

-clinical breast examination มะเร็งเต้านม อายุ 30-39 ปี ตรวจทุก 3 ปี,อายุ 40 ปีขึ้นไป ตรวจทุก 1 ปี และอายุ 70 ปีขึ้นไป ตรวจตามความเสี่ยง

การตรวจเนื้อเยื่อจากปากมดลูก

วิธี Pap smear (เก็บหรือป้ายเซลล์จากปากมดลูกไปป้ายบนแผ่นสไลด์ ย้อมสีและอ่านผล)เพื่อตรวจมะเร็งปากมดลูก อายุ 30-65 ปี ตรวจทุก 3 ปี หยุดตรวจหลังอายุ 65 ปี ถ้าทำ Pap smear ปกติสามครั้งติดต่อกัน

การตรวจเลือดในอุจจาระ คัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ และลำไส้ตรง อายุ 50 ปีขึ้นไป ตรวจทุก 1 ปี

การตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบี-HBsAg ลดความเสี่ยงมะเร็งตับ ตรวจครั้งเดียวสำหรับคนที่เกิดก่อน ปี 2535