MICRO

MICRO

MICRO ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถบรรทุกมือสอง

บริษัท ไมโครลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ MICRO ให้บริการมากว่า 25 ปี โดยประกอบธุรกิจหลักในการให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถบรรทุกมือสอง เช่น รถบรรทุก 6 ล้อ 10 ล้อ และ 12 ล้อ เป็นต้น และให้บริการสินเชื่อรูปแบบอื่นๆ เช่น สินเชื่อเพิ่มสภาพคล่อง และสินเชื่อรีไฟแนนซ์ (Refinance) ตลอดจนให้บริการอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจเช่าซื้อซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัท เช่น การประสานงานเพื่อต่ออายุประกันภัยและ พรบ. เป็นต้น โดยการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ครั้งนี้เพื่อใช้ชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินและใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ ทั้งนี้ฝ่ายวิจัยประเมินมูลค่าเหมาะสมปี 2564 ที่ 3.46 บาทต่อหุ้น

ประเด็นสำคัญในการลงทุน

  • MICRO ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถบรรทุกมือสอง: ในช่วงปี 2560-2562 บริษัทมีรายได้รวมเท่ากับ 227 ลบ. 259 ลบ. และ 330 ลบ. ตามลำดับ คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) เท่ากับ 21% ต่อปี ขณะที่ช่วง 6M63 บริษัทมีรายได้รวมเท่ากับ 202 ล้านบาท เติบโต 37%YoY เติบโตจากรายได้ดอกเบี้ยรับจากสัญญาเช่าซื้อ ที่เป็นสัดส่วนรายได้หลักกว่า 84% มีการเติบโตเติบโตต่อเนื่องตามพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อของบริษัท จากการรักษาฐานลูกค้าเดิม ประกอบกับขยายฐานลูกค้าใหม่ โดยมี NIM เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 14% ส่วนกำไรสุทธิในงวดปี 2560-2562 เท่ากับ 61 ลบ. 90 ลบ. และ 111 ลบ. ตามลำดับ คิดเป็นอัตราการเติบโต เฉลี่ย (CAGR) 36% ส่วนงวด 6M63 มีกำไรสุทธิเท่ากับ 5 ลบ. +52%YoY
  • อุตสาหกรรมสินเชื่อเช่าซื้อรถบรรทุกมือสองเติบโตต่อเนื่อง: ช่วงปี 2559-2562 มีการเติบโตของจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ CAGR เฉลี่ย 2% ต่อปี ทั้งนี้ จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่แบ่งเป็น 2 ประเภท 1) รถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ป้ายแดง หดตัวเฉลี่ยราว 1% ต่อปี และ 2) รถบรรทุกมือสองเติบโตเฉลี่ย 5% ต่อปี โดยสัดส่วนรถบรรทุกมือสองต่อรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่รวมปรับตัวเพิ่มขึ้น จากเดิมเฉลี่ยอยู่ในช่วง 41%-45% เพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 50% ในงวด 6M63 นอกจากนี้ ปัจจุบัน MICRO มีส่วนแบ่งตลาดเพียง 5% และอีกราว 30% ครองส่วนแบ่งตลาดโดยบริษัท THANI และ ASK ดังนั้น จึงเหลือส่วนแบ่งตลาดผู้ประกอบการท้องถิ่นอีกกว่า 60% ซึ่ง บริษัทสามารถเข้าไปแข่งขันได้ ประกอบกับ DE Ratio ของบริษัทอยู่ที่ระดับ 1 เท่าซึ่งต่ำกว่า THANI และ ASK ซึ่งมี DE Ratio สูงถึง 6 เท่า ดังนั้น MICRO จึงมีข้อได้เปรียบในแง่ของการระดมทุนจากสถาบันการเงินเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต
  • คาดการณ์กำไรปี 2563-2564 เติบโตเฉลี่ย (CAGR) 30%ต่อปี หลังได้เงินทุนใหม่จาก IPO : คาดรายได้ดอกเบี้ยปี 2563 อยู่ที่ 364 ลบ. เติบโต 29%YoY โดยคาดว่าจะมี Loan growth ราว 29%YoY สู่ 2.49 พันล้านบาท เนื่องจากคาดว่าบริษัทจะเร่งปล่อยสินเชื่อรถบรรทุกมือสองเพิ่มขึ้นหลังได้รับเงิน IPO และคาดว่าต้นทุนทางการเงินจะลดลงหลังเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ด้านอัตราค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเทียบกับรายได้รวมลดลงจาก 46% สู่ 40% เพราะรายได้จากดอกเบี้ยและรายได้จากค่าธรรมเนียมเติบโตตามการขยายสินเชื่อ แต่ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายบุคลากรซึ่งเป็นต้นทุนคงที่ เมื่อพิจารณาเป็นตัวเงินเพิ่มขึ้นจาก 130 ลบ.สู่ 146 ลบ. ขณะที่อัตราส่วนหนี้สงสัยจะสูญและผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อลูกหนี้เช่าซื้อจะเพิ่มขึ้นจาก 3% สู่ 2.0% หรือเมื่อพิจารณาเป็นตัวเงินเพิ่มขึ้นจาก 30 ลบ.สู่ 54 ลบ. เนื่องจากมีการใช้มาตรฐานบัญชี TFRS9 ทั้งนี้เราคาดการณ์กำไรปี 2563 อยู่ที่ 142 ลบ. เติบโต 28 %YoY และคาดการณ์รายได้และกำไรปี 2564 ที่ 447 ลบ.(สมมติฐาน Loan Growth 17% สู่ 2.93 พันล้านบาท) และ 186 ลบ. เติบโต 23% และ 31% ตามลำดับ
  • การประเมินมูลค่า : ฝ่ายวิจัยประเมินมูลค่าด้วยวิธี P/E Ratio โดยอิง Prospective PE ที่ 17.3 เท่าซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 1 ปีของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจใกล้เคียงกับ ได้แก่ ASK MTC SAWAD และ THANI ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และประเมินกำไรสุทธิต่อหุ้นปี 2564 ที่ราว 20 บาทต่อหุ้น ได้ราคาเหมาะสมปี 2564 ที่ 3.46 บาทต่อหุ้น และคาดหวังอัตราเงินปันผลที่ 2.3% ต่อปี

ปัจจัยเสี่ยง

  1. อัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น
  2. การขยายตัวของภาคขนส่งชะลอตัว
  3. การระบาดรอบ 2 ของ COVID-19
  4. ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้จากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ

    5. การขายหลักประกันได้ต่ำกว่ามูลหนี้