กพร.ปช. วางแผนพัฒนากำลังคนรับอุตสาหกรรม S-curve

กพร.ปช. วางแผนพัฒนากำลังคนรับอุตสาหกรรม  S-curve

กพร.ปช. เร่งวางแผนพัฒนากำลังคนรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-curve ปี พ.ศ. 2564 - 2565 สร้างความร่วมมือรัฐ เอกชน ตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ

วันนี้ (1 ต.ค. 63) พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ (กพร.ปช.) ครั้งที่ 1/2563 ณ ห้องประชุม 109 ชั้น 1 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล มี นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ปลัดกระทรวงแรงงาน อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และคณะอนุกรรมการจากทุกภาคส่วนร่วมประชุม โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเสนอ 2 วาระสำคัญให้ที่ประชุมพิจารณา ได้แก่ แนวทางการจัดทำแผนพัฒนากำลังคนรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-curve ปี พ.ศ. 2564 - 2565 ของหน่วยงานที่มีภารกิจด้านการจัดการศึกษาและการฝึกอบรมของ ส่วนราชการ และแนวทางการพัฒนาอาชีพคนพิการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 และกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ


นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ (กพร.ปช.) มีหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและแนวทางในการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพของกำลังแรงงานให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐ ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประสานแผนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างระบบการศึกษากับระบบการพัฒนากำลังแรงงาน ประสานนโยบายแผนการพัฒนาฝีมือแรงงาน และแผนการฝึกอาชีพของ ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อความเป็นเอกภาพในการพัฒนาแรงงาน ขจัดปัญหาความซ้ำซ้อนและความสิ้นเปลือง รวมถึงติดตามและประเมินผลการดำเนินงานการพัฒนาแรงงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ตลอดจนเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคเกี่ยวกับการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพ โดยมีคณะอนุกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพจังหวัด (กพร.ปจ.) เป็นกลไกระดับจังหวัดในการขับเคลื่อนติดตามและดำเนินงานตามแผนการพัฒนากำลังแรงงานในพื้นที่จังหวัด ที่ผ่านมาระหว่างปี 2561– 2563 สามารถพัฒนากำลังแรงงานได้ทั้งสิ้น จำนวน 19,962,348 คน ประกอบด้วย การสร้างความพร้อมให้แก่แรงงานใหม่ จำนวน 73,519 คน การยกระดับทักษะแรงงานที่อยู่ในตลาดแรงงานให้ได้มาตรฐานฝีมือ จำนวน 19,075,183 คน และการให้โอกาสกลุ่มเปราะบางทางสังคมเข้ารับการพัฒนาทักษะฝีมือ เพื่อสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพอิสระหรือการเป็นผู้ประกอบการใหม่ จำนวน 813,646 คน



โดยการประชุมในวันนี้ กพร. ได้เสนอแนวทางการจัดทำแผนพัฒนากำลังคนรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-curve ปี พ.ศ. 2564 - 2565 ของหน่วยงานที่มีภารกิจด้านการจัดการศึกษาและการฝึกอบรมของส่วนราชการ โดยอาศัยความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนให้สามารถผลิตและพัฒนากำลังคนรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพและตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพอย่างเป็นรูปธรรม และแนวทางการพัฒนาอาชีพคนพิการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 และกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

“นอกจากการเสนอแนวทางดังกล่าวแล้ว ในวันนี้ กพร.จะเสนอให้มีการปรับปรุงองค์ประกอบและหน้าที่ของคณะกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ (กพร.ปช.) และปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ (กพร.ปช.) โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนากำลังแรงงานของประเทศจากทุกภาคส่วน ร่วมกันวางแผนพัฒนากำลังคน แรงงานไทยสามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ เศรษฐกิจและสังคมไทยสามารถเดินหน้าต่อไปได้ในชีวิตวิถีใหม่ ขับเคลื่อนแผนการพัฒนากำลังคนให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป” อธิบดี กพร. กล่าวทิ้งท้าย