ปลัดคลังนัดผู้บริหารถกแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ

ปลัดคลังนัดผู้บริหารถกแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ

ปลัดคลังนัดหารือผู้บริหารระดับสูงถกแผนกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นและระยะกลาง เน้นดูแลตรงรายภาคธุรกิจที่ยังเดือดร้อน พร้อมมอบสศค.ศึกษานำ”ชิมช้อปใช้”กระตุ้นคนรวยใช้จ่าย ขณะที่ระบุ ขณะนี้พบสัญญาณเศรษฐกิจชี้ทิศทางเริ่มฟื้นตัว

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลังคนใหม่เปิดเผยว่า ในวันที่ 2 ต.ค.นี้ ตนได้เชิญผู้บริหารระดับสูงกระทรวงการคลังทั้งหมดมาร่วมประชุม เพื่อมอบนโยบายและให้แต่ละหน่วยงานรายงานแผนดำเนินงานที่จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการดูแลเศรษฐกิจในระยะสั้นและปานกลางอย่างไร เพื่อเตรียมสรุปรายงานต่อระดับนโยบายต่อไป

“แต่ละส่วนจะต้องรายงานถึงแผนที่จะดำเนินการแบบใหม่ที่ไม่ใช่แผนงานปกติ เพื่อให้มีส่วนในการดูแลเศรษฐกิจในระยะสั้นและปานกลางด้วย”

เขากล่าวว่า ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินว่า ในกลางปีหน้า เศรษฐกิจจะมีการฟื้นตัว ถือว่า เป็นทิศทางที่ดี ซึ่งในส่วนของกระทรวงการคลังนั้น ขณะนี้ เราก็เริ่มเห็นสัญญาณที่ดีของเศรษฐกิจจากเครื่องชี้หลายตัว รวมถึง การจัดเก็บรายได้ที่เริ่มดีขึ้นในระยะ 2 เดือนที่ผ่านมา

“ขณะนี้ เครื่องชี้เศรษฐกิจมีทิศทางที่ดี เช่น ยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็ติดลบน้อยลง หากไม่มีเหตุอะไรมาแทรกซ้อน การดูแลเศรษฐกิจภายในประเทศก็จะทำได้ดีมากขึ้น”

สำหรับมาตรการในการดูแลเศรษฐกิจของกระทรวงการคลังนั้น เขากล่าวว่า ในภาพใหญ่นั้น รัฐบาลสามารถดูแลได้อย่างถูกทางแล้ว ดังนั้น ในส่วนกระทรวงการคลัง เราจะเข้ามาดูในรายภาคธุรกิจที่ยังมีความเดือดร้อน โดยจะต้องวิเคราะห์ให้เห็นภาพว่า กลุ่มใดยังเป็นกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อน

“ยกตัวอย่าง ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ระบุว่า ได้รับความเดือดร้อน เราก็มองว่า มีเพียงบางกลุ่มเท่านั้น เช่น บ้านในพื้นราบยังขายได้ดี เพราะราคาไม่แพงนัก ดังนั้น เราก็จะเข้าไปดูในรายละเอียดของแต่ละกลุ่มเลย เพื่อให้การแก้ไขปัญหาหรือการช่วยเหลือตรงจุดที่สุด”

ทั้งนี้ เบื้องต้น ตนได้มอบนโยบายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)เข้าไปพิจารณารายละเอียดของแต่ละกลุ่มว่า มีกลุ่มใดที่ยังตกหล่น

สำหรับมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายคนรวยผ่านโครงการชิมช้อปใช้นั้น เราต้องพิจารณาว่า ถ้าใช้มาตรการนี้แล้ว จะกระตุ้นให้มีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น(Add on)ได้จริงหรือไม่ ไม่ใช่ไปช่วยเหลือในรายการสินค้าที่เขาใช้จ่ายเป็นประจำอยู่แล้ว ดังนั้น ก็ต้องพิจารณาให้ดี

ทั้งนี้ ในแง่ความคุ้มค่าต่อการดำเนินนโยบายนั้น เราจะต้องพิจารณาถึงฐานะการคลังของประเทศประกอบด้วย หากคุ้มค่าที่จะดำเนินการก็สามารถทำได้