ตั้งรับ ปรับตัว มองบวก วิถี HR เชิงรุก ‘SPBT’

ตั้งรับ ปรับตัว มองบวก วิถี HR เชิงรุก ‘SPBT’

"ถ้าเทียบกับวิกฤติอื่น ๆที่ผ่านมา การระบาดของโควิด-19 มีความยากในงานเตรียม เพราะมันกระทบทุกมิติและทั่วโลก แต่ทุกวิกฤติสำคัญอยู่ที่การตั้งรับ และปรับให้ได้ ทั้งยังขึ้นอยู่กับทัศนคติที่ต้องคิดว่าเราต้องผ่านมันไปให้ได้"

 ซึ่งอาจหมายถึงการทำงานหนักมากกว่าปกติ ต้องอัพเดทข่าว ต้อง Alert ต้องมี Sense of Urgency ที่ค่อนข้างเยอะด้วย


“เพียงจิต ศรีประสาธน์” ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ SPBT บอกว่าในฐานะที่ทำงานด้าน HR มากว่า 20 ปี ก็ไม่เคยเผชิญกับปัญหาในเรื่องโรคระบาด สำหรับแนวทางรับมือของเธอก็คือ นำแผน BCP (Business Continuity Plan) ที่เคยใช้กับวิกฤติที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนมาปรับใช้ แน่นอนรายละเอียดต่าง ๆย่อมต้องแตกต่างกันไป


ที่ผ่านมาเพียงจิตเป็น HR ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) แต่ก็บ้างที่ไปอยู่ในวงการยาและค้าปลีก แต่หลักๆ ก็คือเครื่องดื่ม อยู่ในธุรกิจขายนม ขายน้ำอัดลม เธอมาร่วมงานกับเป๊บซี่ โค ในส่วนของสแน็ค แต่เมื่อสองปีที่ผ่านมามีการเจวี (Joint Venture) ระหว่างซันโทรี่กับเป๊ปซี่ เธอก็ขึ้นมาเป็น HR เบอร์หนึ่ง ต้องทำหน้าที่เซ็ทอัพใหม่ทุกอย่าง


"หัวใจสำคัญของงาน HR ก็คือ การดูแลพนักงาน ให้เสมือนว่าเขาเป็นเหมือนคนภายในครอบครัว ทำอย่างไรจะให้เขารู้สึกอบอุ่นและไม่อยากไปไหน ยอมรับว่าพอมีการทำเซอร์เวย์เอนเกทเมนท์ภายหลังที่ทำเจวีในปีแรก ใจของเราก็ตุ๊ม ๆต่อม ๆ แต่ปรากฏว่าได้คะแนนถึง 88% เมื่อปีที่แล้วตอนปลายปีเราก็ทำเซอร์เวย์อีก ก็ลุ้นมากกลัวว่าคะแนนจะต่ำ ปรากฏว่าผลออกมาอยู่ที่ 91% และอัตราการลาออกของบริษัทก็ค่อนข้างต่ำมาก เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 6.3% ซึ่งในวงการธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มโดยปกติจะอยู่ที่ 14-18% นั่นหมายถึงพนักงานมีความสุข และตัวเลขมันก็สัมพันธ์กันระหว่างพนักงานมีความสุขก็เลยทำให้อัตราการลาออกต่ำด้วย"


อย่างไรก็ดี แม้ว่าในยามปกติบริษัทจะดูแลพนักงานป็นอย่างดีแล้ว แต่ในยามที่เกิดวิกฤติบริษัทก็ยิ่งต้องดูแลพนักงานให้มากกว่าและดียิ่งกว่าเวลาปกติ


เพียงจิตเล่าย้อนไปถึงช่วงต้นปีที่เพิ่งเกิดการระบาดของโควิด-19 ว่า ทันทีที่เกิดเหตุการณ์ บริษัทก็เริ่มตั้งคณะกรรมการหรือ Crisis Management นำโดยซีอีโอ (มร.โอเมอร์ มาลิค) และมีผู้บริหารของงานทุกฟังก์ชั่น มาร่วมประชุม มีการมอนิเตอร์เหตุการณ์และข้อมูลอยู่ตลอดเวลา จากนั้นก็ประกาศให้พนักงานทุกคนทำงานที่บ้าน (Work from Home)
ซึ่งในช่วงที่ประกาศให้พนักงานในส่วนกลางทำงานที่บ้าน ทาง HR ก็ยังได้ทำฮอตไลน์ สายด่วนเพื่อให้พนักงานพูดคุย โทรปรึกษาหารือกับ HR และก็มีสายด่วนคุณหมอเพื่อให้พนักงานสอบถามทั้งเรื่องปัญหาสุขภาพกายและใจ เพราะคนทำงานที่บ้านก็อาจรู้สึกสับสนและเครียด รวมถึงมีช่องทางออนไลน์ทั้งที่เป็นกรุ๊ปไลน์ ,SMS และอีเมลเพื่อสื่อสารข่าวสารต่างๆ รวมถึงนโยบายของบริษัทที่ต้องการแจ้งให้พนักงานรู้ว่า ยังคงต้องทำานที่บ้านหรือบริษัทพร้อมจะให้มาทำงานที่สำนักงานเมื่อไหร่ ฯลฯ


สำหรับในส่วนของโรงงานผลิตนั้นต่างออกไป เพราะไม่ได้ปิดทำการ จึงต้องมุ่งเน้นเรื่องความสะอาด รวมถึงตั้งกฏเพื่อให้ปฏิบัติตามอย่างเข้มข้น เรียกว่าต้องตรวจอุณหภูมิวัดไข้กันตั้งแต่ป้อมรปภ.ที่อยู่ตรงประตูหน้าโรงงาน และยังมีแผน BCP เพื่อเตรียมความพร้อมทั้งหมดว่าถ้ามีอะไรเกิดขึ้น เช่นถ้ามีพนักงานคนใดคนหนึ่งเกิดติดโรคขึ้นมาจะต้องทำอย่างไร หรือถ้าซัพพลายเออร์ไม่สามารถส่งวัตถุดิบได้ จะต้องทำอย่างไร


"หลักการของเราก็คือ ต้องให้ความใส่ใจ มีการสื่อสารเชิงรุก เพื่อสร้างความมั่นใจให้พนักงาน เราลงทุนเพิ่มอีก 3 ล้านกว่าบาทเพิ่มสวัสดิการต่างๆให้พวกเขา เช่นซื้อประกันหรือทำทุกอย่างที่จะทำให้พนักงานมั่นใจว่าบริษัทดูแลใส่ใจ"


โดยสรุปก็คือ เพียงจิตคอนเฟิร์มว่า ต้้งแต่เกิดเหตุการณ์โรคระบาดจนถึงเวลานี้ ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ อยู่รอดปลอดภัย พนักงานทุกคนไม่ว่าจะอยู่ส่วนกลาง อยู่โรงงานผลิต หรืออยู่ที่ศูนย์กระจายสินค้าและไม่ว่าจะเป็นพนักงานประจำหรือชั่วคราว รวมถึงคนในครอบครัวของพวกเขาซึ่งมีจำนวนกว่า 5 พันคนยังคงแข็งแรง ไม่มีใครที่ติดโรคแม้แต่คนเดียว


อย่างไรก็ดี “การ์ดต้องไม่ตก” เนื่องจากบริษัทผ่อนคลายโดยประกาศนโนบายให้พนักงานกลับมาทำงานที่ออฟฟิศตั้งแต่เดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา แต่มีการกำหนด “บัญญัติ 20 ประการ” ถึงแม้จะกลับมาทำงานแล้วแต่พนักงานทุกคน ทุกระดับก็ต้องปฏิบัติตามกฏทั้ง 20 ข้อนี้ โดยไม่มีใครได้รับการยกเว้นทั้งสิ้น


เมื่อถามถึงนโยบายการทำงานที่บ้านว่ามีแนวโน้มเป็นอย่างไร เพียงจิตบอกว่าแม้ที่่ผ่านมาก็เห็นชัดว่าพนักงานการทำงานที่บ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างผลลัพธ์ที่ดี อาจเป็นเพราะพอตื่นขึ้นมาก็ไม่ต้องเสียเวลาแต่งตัว ฝ่าการจราจรที่ติดขัด บางคนมีเวลาไปวิ่งรอบหมู่บ้าน แล้วมาอาบน้ำ ทานข้าว ทำให้มีอารมณ์ที่ปลอดโปร่งพร้อมทำงาน เช็คได้ว่าทุกแปดโมงเช้าทุกคนก็พร้อมอยู่หน้าจอแล้วแถมบางทีตอนเย็นเลิกงานแล้วบางคนก็ยังออนไลน์อยู่ แต่ถึงอย่างนั้นบริษัทจำเป็นต้องทำการศึกษาอย่างจริงจัง อนาคตเป็นเรื่องที่ไม่แน่ว่าจะเกิดวิกฤติอะไรขึ้นอีก แต่ถ้าบริษัทต้องปรับตัวไปในทิศทางนี้ คือให้พนักงานสามารถทำงานที่บ้านได้ก็ต้องศึกษาให้ดี


“เวลานี้ยังไม่กล้าพูดว่าเราจะทำแบบไหน กำลังศึกษาอยู่ ในเบื้องต้นก็เป็นเรื่องที่บริษัทต้องสนับสนุนให้พนักงานทำงานที่บ้านได้อย่างมีความสุขมาก ๆ ซึ่งก็ต้องรวบรวมความต้องการของพวกเขาก่อน”


ในทางกลับกันวิกฤตินี้ที่ทำให้การทำงานที่บ้านกลายเป็นวาระสำคัญ เธอมองว่าโลกยุคนี้พนักงานต้องมีทักษะ Entrepreneurship ที่โดดเด่น ซึ่งเป็นสิ่งที่ ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจมุ่งเน้นและปลูกฝังให้กับพนักงานเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่กลยุทธ์ด้าน HR จากนี้มุ่งปลูกฝังพัฒนาศักยภาพพนักงานให้มี 3 ทักษะที่จะสามารถตอบโจทย์โลกที่ท้าทายได้ดี ก็คือ Growth, Agility และ Change Mindset ซึ่งเธอบอกว่าการปลูกฝังจะสำเร็จแค่ไหน เพียงไรขึ้นอยู่ที่ในเบื้องต้นพนักงานต้องมีใจรักองค์กร ต้องการเห็นองค์กรเติบโต


"ในช่วงที่เกิดวิกฤติ เราก็ไม่ได้หยุดที่จะพัฒนาพนักงาน เรามีคอร์สการเรียน14,000 โปรแกรม ซึ่งซันโทรี่ ยูนิเวอร์ซิตี้กับ Linkedin ร่วมกันพัฒนาขึ้นมา เพื่อให้พนักงานเราทั่วโลกได้เข้าไปเรียนบนออนไลน์ ซึ่งเรามองว่ามันมีประสิทธิภาพมาก เรียกว่าการเทรนนิ่งในออฟฟิศแบบออฟไลน์เราแทบจะเลิกเลย แต่เพราะบางคลาสก็ไม่สามารถเป็นออนไลน์ได้"