"สุพัฒนพงษ์"ดันมาตรการภาษีกระตุ้นบริโภคชงศบศ.7 ต.ค.นี้

"สุพัฒนพงษ์"ดันมาตรการภาษีกระตุ้นบริโภคชงศบศ.7 ต.ค.นี้

“สุพัฒนพงษ์”เผยประชุมศบศ.7 ต.ค. แย้มเพิ่มมาตรการดึงเงินกลุ่มผู้มีรายได้สูงกระตุ้นเศรษฐกิจ ชี้หลังโควิด-19 คลี่คลายเตรียมนโยบาย “ติดเทอร์โบประเทศไทย” อัดฉีดมาตรการสั้น-ยาว คาดเห็นศก.ฟื้นใน2ปี

ประเทศไทยไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากภายในประเทศมานานจนแทบจะเรียกได้ว่าปลอดเชื้อโรคนี้แม้ในทางโรคระบาดจะมีแนวโน้มที่ดี แต่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศขณะนี้อยู่ในอาการโคม่า ในทุกภาคส่วนทีมเศรษฐกิจรัฐบาลจึงมีมาตรการเพื่อพยุงสถานการณ์เศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมาตรการดูแลตลาดทุนของประเทศด้วย 

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงแผนดูแลเศรษฐกิจประเทศในภาวะโควิด-19 ว่าในส่วนของมาตรการตลาดทุนนั้นคงจะต้องมีมาตรการไว้รองรับเช่นกันโดยเร็วๆนี้จะหารือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)เกี่ยวกับการตั้งกองทุนบางลักษณะที่จะออกมารองรับในช่วงที่ตลาดหุ้นไทยมีความไม่แน่นอนและมีความผันผวนสูง

สำหรับมาตรการการช่วยเหลือเอกชนและเอสเอ็มอีที่มีภาระหนี้ที่มีการพักชำระไปก่อนหน้านี้วงเงินรวมกว่า 7 ล้านล้านรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงานมั่นใจว่าหนี้ส่วนนี้จะสามารถแก้ไขได้และไม่เป็นปัญหากับระบบเศรษฐกิจเนื่องจากสถาบันการเงินและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ได้มีการเตรียมความพร้อมไว้แล้ว เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ ก่อนหน้านี้มีมาตรการสำหรับการตั้งสำรอง การเตรียมสินเชื่อไว้รองรับ การขยายระยะเวลาพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้บางรายที่มีความจำเป็น ขณะที่บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ก็ได้มีการค้ำประกันสินเชื่อไปแล้วกว่า 5.7 หมื่นล้านบาท ส่วนธนาคารออมสินก็มีการรวบรวมสินเชื่อที่จะออกเพิ่มตามมาตรการ 13 ส.ค.ที่จะมีเม็ดเงินในการปล่อยสินเชื่ออีกประมาณ 2.5 - 3.5 หมื่นล้านบาท

ด้านนายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า ส่วนตัวไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลจะมีการพยุงตลาดทุนด้วยการจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นขึ้นมา เพราะมองว่ามีวิธีอื่นที่ดีกว่า เช่น การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่นักลงทุนเพื่อซื้อหุ้น เหมือนกับ กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) หรือกองทุนรวมเพื่อการออม(SSF) และวิธีดังกล่าวก็ไม่เป็นภาระกับภาครัฐบาล เพราะ แหล่งเงินทุนที่จะนำมาจัดตั้งกองทุนนั้นจะมาจากแหล่งใด การบริหารจัดการกองทุนจะเป็นอย่างไร จะซื้อช่วงไหน ซื้อหุ้นอะไรซึ่งอาจจะโดนครหาได้ และจะขายหุ้นช่วงไหน วิธีการขายที่จะไม่มีผลกระทบต่อตลาด

เฟทโก้แย้งตั้งกองทุนพยุงหุ้น

“หากภาวะตลาดหุ้นร่วงแรงนั้น มีหลายวิธีที่จะใช้เพื่อลดความผันผวน เช่นปรับเกณฑ์ซิลลิ่งฟลอร์ชอร์ตเซล และเซอร์กิจเบรคเกอร์ การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ประชาชนในการเข้าไปซื้อหุ้น ซึ่งดีกว่าการจัดตั้งกองทุนขึ้นมา ซึ่งต้องใช้เงินทุนที่สูง เพราะ วอลุ่มซื้อขายปัจจุบันของตลาดทุนไทยขึ้นมาเฉลี่ยกว่า 6 หมื่นล้านบาทต่อวัน และยังมีวิธีการและขั้นตอนที่ยุ่งยากในการบริหารจัดการ”

นอกจากนี้ ตลาดหุ้นปัจจุบันไม่อยู่ในจุดที่แพนิกเหมือนกับในช่วงเดือนมี.ค.ที่ดัชนีปรับตัวลดลงวันละ 100 จุด ติดต่อกันหลายวัน เพราะ ตลาดรับรู้ข่าวร้ายไปหมดแล้ว ตอนนี้รอปัจจัยบวกใหม่ที่จะเข้ามาหนุน เช่น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การฟื้นตัวของกำไรบริษัทจดทะเบียน

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวอีกว่า ในการประชุมคณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) ในวันที่ 7 ต.ค.นี้จะมีการพิจารณามาตรการกระตุ้นการบริโภคในประเทศต่อเนื่องเพิ่มเติมจากมาตรการที่ได้ออกไปก่อนหน้านี้ โดยมาตรการในครั้งนี้จะเป็นมาตรการทางภาษีโดยมีเป้าหมายเป็นกลุ่มผู้เสียภาษี และผู้มีรายได้สูงในกลุ่มคนชั้นกลางระดับบน ให้มาร่วมจ่ายกับรัฐในลักษณะ Co-pay เช่นกันแต่จำนวนเงินที่รัฐจะสมทบให้อาจจะเป็นในรูปแบบการคืนภาษีให้หรือใช้เงินกู้ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯบางส่วน

ส่วนมาตรการทางภาษีในส่วนของการที่จะสนับสนุนการซื้อสินค้าคงทน เช่น รถยนต์นั้นกำลังพิจารณาอยู่ หากมีควาามจำเป็นก็ต้องมาพิจารณาอีกครั้งแต่ปัจจุบันสัญญาณต่างๆทางเศรษฐกิจมีการปรับตัวดีขึ้นการส่งออกในกลุ่มรถยนต์และชิ้นส่วนก็เริ่มกลับมาทำได้ดีขึ้นจึงยังไม่มีความจำเป็นต้องออกมาตรการเพิ่มในส่วนเร่งด่วน 

ดึงตลาดบนใช้จ่ายกระตุ้นศก.

“รูปแบบเดียวมาตรการที่จะช่วยคนกลุ่มที่มีเงิน มีกำลังซื้อออกมาใช้จ่าย อาจจะเป็นในรูปแบบคล้ายๆกับช็อปช่วยชาติ หรือชิมช็อปใช้หรือไม่ก็อาจจะคล้ายกัน แต่ขอให้อย่าไปยึดติดกับชื่อ ขอให้ดูว่ามาตรการที่จะออกมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มกำลังซื้อได้”

นอกจากนั้นตนยังมีแนวคิดที่จะผลักดันให้กรุงเทพเป็นสำนักงานใหญ่ของบริษัทชั้นนำจากต่างประเทศ หรือเป็นการส่งเสริมนโยบาย International headquarter ในกรุงเทพ โดยอาศัยความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน รถไฟฟ้า ค่าเช่าสำนักงาน และค่าครองชีพที่แข่งขันกับเมืองหลวงของประเทศอื่นๆได้ โดยนโยบายนี้จะผลักดันควบคู่กับนโยบายเรื่องการส่งเสริมให้ชาวต่างชาติเข้ามาซื้ออสังหาริทรัพย์ในประเทศไทยเพื่อการลงทุนหรือพำนักระยะยาว 

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวอีกว่า แนวทางการทำงานของตนและทีมงานเศรษฐกิจในขณะนี้นโยบายทางเศรษฐกิจจะใช้วิธีออกมาตรการสำหรับระยะสั้นคือเป็นมาตรการที่ใช้ในช่วงเวลา  3 เดือนจากนั้นจะมีการวัดและประเมินผล หากมาตรการใดต้องมีการปรับปรุงก็จะมีการปรับ มาตรการใดดีและต้องมีการขยายระยะเวลาออกไปก็จะมีการขยายออกไป เช่น มาตรการเราเที่ยวด้วยกันก็มีการปรับมาตรการมาเป็นระยะ และจะขยายมาตรการไปจนถึงสิ้นปีเนื่องจากคนยังใช้สิทธิ์ไม่เต็มจำนวนและยังมีวงเงินสำหรับมาตรการเหลืออยู่ 

สำหรับการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยของธนาคารโลกที่ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะติดลบมากที่สุดในอาเซียนนั้นตนไม่เชื่อว่าจะเป็นอย่างนั้นเพราะตอนนี้ตัวชี้วัดเศรษฐกิจต่างๆเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆทั้งเรื่องการบริโภคที่สะท้อนผ่านดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค การท่องเที่ยวในประเทศ และการส่งออกซึ่งมองว่าการส่งออกจะดีขึ้นจนถึงปีหน้าเนื่องจากสหรัฐมีการเลือกตั้ง

โดยจากนี้จะมีการกระตุุ้นการบริโภคในประเทศที่อัตราเข้าพักในโรงแรมต่างๆดีขึ้นโดยเฉลี่ยมาอยู่ที่ 30% จากเดิมที่อยู่ 0.3% ขณะที่เศรษฐกิจจีนยังดียังพอไปได้ซึ่งทั้งสองประเทศนี้เป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ของไทยก็คาดว่าสัญญาณที่ดีขึ้นในเรื่องเศรษฐกิจส่วนนี้จะส่งผลไปถึงเศรษฐกิจไทยในปี 2564 

เชื่อเศรษฐกิจไทยฟื้นใน2ปี

นอกจากนี้ส่วนที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยก็คือการลงทุนซึ่งส่วนนี้ตนมองว่าถึงเวลาแล้วที่ภาคเอกชนจะต้องเลิกกลัวคือต้องเชื่อว่าโควิด-19 จะมีวันสิ้นสุดลง และจะเห็นภาพนี้ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆเมื่อมีข้อมูลเรื่องวัคซีนและการรักษาโรคมากขึ้น จะเกิดจุดตัดระหว่างความกลัวกับความเชื่อมั่นแล้วเศรษฐกิจของเราจะไปได้ดีขึ้น โดยขณะนี้เอกชนจำนวนหนึ่งก็ไม่ได้ชะลอการลงทุนเพราะนักลงทุนรู้ว่าต้นทุนในการลงทุนขณะนี้ต่ำลงอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 3 - 4% ส่วนราคาวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างลดลง 10 - 20%ก็เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการลงทุนเพื่อรองรับในช่วงที่เศรษฐกิจกลับไปสู่ภาวะปกติ 

“ผมไม่โทษธนาคารโลกที่มองเศรษฐกิจไทยแบบนั้น เพราะเขาประเมินจากว่าเราพึ่งพาการท่องเที่ยวและส่งออกสูง แต่ผมมีความเชื่อมั่นตลอดว่าประเทศไทยไปได้ มีความเข้มแข็ง และเราคุมการระบาดของโควิดได้ดี มาตรการต่างๆของภาครัฐก็ออกมาเป็นระยะๆก็ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจดีขึ้น"

ทั้งนี้ พบว่าบางสำนักทางเศรษฐกิจปรับมุมมองเศรษฐกิจไทยติดลบน้อยลง เช่น กสิกรไทย ปรับเหลือติดลบ 7.2% จากเดิมที่มองว่าจะติดลบมากกว่า 8% เรื่องนี้เหมือนหนังต้องดูฉากสุดท้าย ภาพฉากสุดท้ายของตนคือจะเห็นเศรษฐกิจไทยฟื้นกลับมาปกติได้เหมือนช่วงก่อนเกิดโควิดได้ภายในปี 2565 หรือในอีก 2 ปีข้างหน้า โดยภาครัฐนั้นเตรียมความพร้อมไว้แล้วหากมีความแน่นอนเรื่องวัคซีน เม็ดเงินที่เหลืออยู่ที่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ก็สามารถที่จะทำมาตรการลงไปสู่ระบบเศรษฐกิจได้เลย เป็นการติดเทอร์โบเศรษฐกิจประเทศไทยให้กลับมาอีกครั้ง