‘รัฐสภา-รัฐบาล’ มาด้วยกันพังด้วยกัน

‘รัฐสภา-รัฐบาล’ มาด้วยกันพังด้วยกัน

รัฐบาลทำงานไม่เข้าเป้า รัฐสภาอย่าเป็นที่พึ่งให้ประชาชนไม่ได้ อำนาจนอกระบบจ้องตาเป็นมันรอวันสุกงอม

แม้สภาผู้แทนราษฎร จะปิดสมัยประชุม แต่มีความเคลื่อนไหวที่ต้องจับตา คือ การประชุมเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ.. ของคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนรับหลักการ ที่ตั้งขึ้นเพื่อเหตุผลสำคัญ​ คือ “ยื้อเวลา” ให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และตั้งหมวดว่าด้วยสภาร่างรัฐธรรมนูญ เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ในวาระแรก คือ รับหลักการ มีเวลาต่อท่อหายใจให้กับ “รัฐบาล”

 ในความเป็นจริงอย่างที่สุด ฝ่ายค้าน มองออก ตั้งแต่นาทีแรกที่เสนอให้ รัฐสภาา ตั้งกมธ. คณะนี้ คือ รัฐบาลไม่จริงใจที่ไม่ต้องการ แก้กลไกการสืบทอดอำนาจของ “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ปี 2560  และสิ่งที่พรรคฝ่ายค้านเสนอแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอให้แก้รัฐธรรมนูญ ทั้งฉบับ ผ่าน “ส.ส.ร.”หรือแก้ไขรายมาตราย่อยๆ นั้นคือ ความพยายามโละกลไกที่ เป็นนั่งร้าน ค้ำรัฐบาลปัจจุบัน

ดังนั้นสิ่งที่ฝ่ายค้านไม่ร่วมหัวจมท้าย ตั้งคนของตนเอง นั่ง “กมธ.พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ก่อนรับหลักการ” จึงเป็นการไม่ยอมร่วมสมคบคิด เพื่อต่อเวลาให้ “พล.อ.ประยุทธ์​ จันทร์โอชา” นายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้บริหาร ซึ่งเสมือนเป็นการยื่นคำขาดว่า “ถึงเวลาที่คุณต้องไป” ทำให้ผลลัพธ์การทำงานของกมธ.ฯ ชุดนี้ จึงไม่มีทางออกอื่น เมื่อทำงานครบกำหนดเวลา คือ นำเสนอผลการหารือ และเข้าสู่กระบวนการลงมติ อย่างเปิดเผยใน “รัฐสภา” เป็นรายบุคคล

ตามที่มีสัญญาณจาก “พล.อ.ประยุทธ์”คือ รับหลักการแห่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งมีเนื้อหาสอดคล้องกับ พรรคฝ่ายค้าน ดังนั้นจึงไม่ต้องลุ้นให้ยาก ว่า ส.ว.​จะลงมติ ครบ 84 เสียง ตามเงื่อนไขที่ของการรับหลักการ อย่างไรให้ “ผ่าน”

นอกจากนั้นแล้วในภาระงานของฝ่ายนิติบัญญัติ ช่วงพักสมัยประชุม 1 เดือนเศษ เป็นเวลาให้ทบทวนการทำงานที่ผ่านมา

ล่าสุด “ชวน หลีกภัย” ประมุขนิติบัญญัติ”บอกผ่านเวทีสัมมนา ของกมธ. ศึกษาการจัดทำงบประมาณและติดตามการบริหารงบประมาณ  ในหัวข้อ "บทบาทของฝ่ายนิติบัญญัติกับภารกิจสนับสนุนกลไกภาครัฐในการขับเคลื่อนประเทศ” ในสาระสำคัญที่บอกได้ว่า การทำงานของ “ส.ส.” ต้องปรับ เพื่อให้สมกับคำว่าเป็น “สภาระดับชาติ”  เพราะสมัยประชุมที่ผ่านมา ยอมรับว่า งานที่โดดเด่นของส.ส.​คือ การตั้งกระทู้ และการหารือ เพื่อนำปัญหาในท้องที่ , พื้นถิ่น นำเสนอผ่านเวทีสภาฯ ทั้งนี้งานบางเรื่อง เป็นความรับผิดชอบของ “ท้องถิ่น”

ประธานสภาเอ่ยปากหลายครั้งในช่วงสมัยประชุมสภาฯ​ที่ยังไม่ปิดว่า บทบาทของ สภาผู้แทนราษฎร พึงพิจารณางานที่สำคัญอย่างแท้จริง เพื่อไม่ให้งานทุกเรื่อง ต้องกองในสภาฯ และทำให้กระทู้ หรือเรื่องสำคัญบางเรื่อง ต้องถูกตั้งถามและแก้ปัญหา เมื่อผ่านพ้นฤดูที่ต้องแก้ปัญหา เช่นคำว่า กระทู้น้ำแล้ง ไปถาม-ตอบ ช่วงที่มีน้ำท่วม 

เกมการเมืองในสภาฯ กับการสร้างผลงานของ ส.ส. ในช่วงเปิดสมัยประชุม เดือนพฤศจิกายน นี้ อาจได้เห็นรูปแบบโฉมใหม่ ไปพร้อมกับการปรับกระบวนทัศน์การทำงานของ “ฝ่ายบริหาร” ที่ผูกคำว่า “วาระดำรงตำแหน่ง” ไว้กับเส้นบางๆ ที่เรียกว่า “การแก้ไขรัฐธรรมนูญ”

อาจเรียกได้ว่าเป็นการพยายามกู้ศรัทธาอีกครั้ง ท่ามกลางอำนาจนอกระบบที่กำลังรอล้มกระดานอย่างใจจดใจจ่อ