หุ้น‘ท่องเที่ยว’เป้าชอร์ตเซล ‘เอเซียพลัส’ คัด ‘8 หุ้นปลอดภัย’ไร้แรงเทขาย 

หุ้น‘ท่องเที่ยว’เป้าชอร์ตเซล ‘เอเซียพลัส’ คัด ‘8 หุ้นปลอดภัย’ไร้แรงเทขาย 

“หุ้นไทย” รูดหนักกว่า 20 จุด จากสารพัดปัจจัยลบ ทั้งดีเบตเลือกตั้งสหรัฐ กองทุนปรับพอร์ต กังวลแรงขายชอร์ต ขณะ “ต่างชาติ” ขายสุทธิกว่า 4 พันล้าน “ภากร” ลั่นไม่กังวลการกลับมาใช้เกณฑ์ชอร์ตเซลปกติ เหตุความผันผวนตลาดลดลง

 ด้าน “ทรีนีตี้” แนะจับตากลุ่มท่องเที่ยว เป้าหมายถูกขายชอร์ต ขณะ “เอเซียพลัส” คัด 8 หุ้นปลอดภัยจากแรงขาย

ตลาดหุ้นไทยวานนี้(30ก.ย.) ปรับลดลงรุนแรงจากหลายปัจจัยทั้งการดีเบตเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่ตลาดกังวลว่าจะเกิดความวุ่นวาย รวมไปถึง สัญญาณการปรับพอร์ตของนักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างประเทศ ที่สำคัญตลาดยังกังวลเกี่ยวกับการกลับมาใช้เกณฑ์ชอร์ตเซลปกติและการปรับใช้เพดานการซื้อขายสูงสุด(ซิลลิ่ง) และต่ำสุด(ฟลอร์) ที่ 30% เหมือนเดิม

ก่อนหน้านี้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) กำหนดให้การขายชอร์ตเซลทำได้เฉพาะในราคาที่สูงกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย(Uptick)และปรับเกณฑ์ซิลลิ่งและฟลอร์เหลือ 15% 

ส่วนตลาดหุ้นไทยวานนี้ปิดที่ 1,237.04 จุด ลดลง 20.30 จุด คิดเป็น 1.61% มูลค่าการซื้อขายรวม 48,983 ล้านบาท  โดยนักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 11 อีก 4,013 ล้านบาท ส่วนนักลงทุนสถาบันขายสุทธิ 636 ล้านบาท  พอร์ตบริษัทหลักทรัพย์ ขายสุทธิ 372 ล้านบาท นักลงทุนรายบุคคลในประเทศ ซื้อสุทธิ 5,022 ล้านบาท 

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลท. กล่าวว่า ไม่ได้กังวลกับการกลับมาใช้เกณฑ์ชอร์ตเซลปกติ เพราะตลาดหุ้นไทยในปัจจุบันมีความผันผวนลดลง แตกต่างจากช่วงเดือนมี.ค.และเม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งขณะนั้นตลาดมีความผันผวนสูง เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ยังมีความรุนแรง

"เราได้ติดตามศึกษาข้อมูล และปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการซื้อขายอย่างต่อเนื่อง เพื่อพิจารณาปรับเกณฑ์ ดูแลการซื้อขายในอนาคต ให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ ซึ่งในระยะสั้นยังไม่มีความจำเป็นที่ต้องปรับเปลี่ยนเกณฑ์การกำกับดูแล การซื้อขายที่มีอยู่ในปัจจุบัน”

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า ไม่ได้กังวลนักกับการกลับมาใช้เกณฑ์ชอร์ตเซลปกติ เพราะดัชนีหุ้นไทยปรับลดลงมาพอสมควรแล้ว ถือว่าต่ำกว่าตลาดหุ้นต่างประเทศค่อนข้างมาก ประกอบกับดัชนีรับรู้ปัจจัยลบไปมากแล้ว ทั้งเรื่องผลดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน ปัจจัยการเมืองที่ไม่ได้ร้อนแรงเหมือนช่วงกลางเดือนก.ย.ที่ผ่านมา ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงจากนี้ไปก็ไม่ได้มีมากนัก 

นายณัฐชาต เมฆมาสิน รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ทรีนีตี้ กล่าวว่า การชอร์ตเซลโดยปกติแล้วไม่น่ากังวลนักถ้ามูลค่าหุ้นไม่ได้สูงมาก แต่ปัจจุบันมูลค่าหุ้นไทยยังค่อนข้างแพง เพียงแต่การชอร์ตอาจไม่เกิดกับทั้งตลาด คงเจาะเป็นรายตัว ซึ่งเป้าการชอร์ตคงเป็นหุ้นที่มีมูลค่าสูงและแนวโน้มกำไรยังไม่สดใส

กลุ่มที่น่าจะโดนขายชอร์ตมากสุด คือ กลุ่มท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม หรือกลุ่มสนามบิน กลุ่มเหล่านี้ราคาหุ้นสะท้อนกำไรใน 2-3 ปีข้างหน้าแล้ว กลุ่มถัดมาคือ กลุ่มที่เชื่อมโยงกับการบริโภคในประเทศ เช่น ค้าปลีก สื่อสาร

ด้านฝ่ายวิเคราะห์ บล.เอเซียพลัส ระบุว่า การเปิดให้ชอร์ตเซลได้ตามปกติ น่าจะทำให้มูลค่าการขายชอร์ตเพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่า และทำให้ตลาดมีความผันผวนมากขึ้น โดยฝ่ายวิจัยทำการค้นหาว่ามีหุ้นอะไรที่ถูกกดดันจากประเด็นดังกล่าว โดยเลือกเฉพาะหุ้นที่มูลค่าแพง และมีการถูกชอร์ตเซลเป็นปริมาณมากในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา โดยผ่านเงื่อนไขต่างๆ ได้แก่ 1.เดือน ก.ย. มีปริมาณการชอร์ตเซลมากกว่า 100 ล้านบาท 2. เดือน ก.ย. มีจำนวนหุ้น ชอร์ตเซล มากกว่า 1% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด และ 3. มีอัพไซด์เหลือน้อย และเป็นหุ้นที่ฝ่ายวิจัยฯ ยังไม่แนะนำซื้อในช่วงนี้

จากเงื่อนไขดังกล่าว ได้ผลลัพธ์ของหุ้นที่น่าจะถูกกดดันจากประเด็นชอร์ตเซล 7 บริษัท ได้แก่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) บมจ.โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ (HMPRO) บมจ.คอมเซเว่น (COM7) บมจ.เคซีอี อิเลคโทรนิคส์ (KCE) บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (DELTA) และบมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC)

ในทางกลับกัน ฝ่ายวิจัยฯ ทำการค้นหาว่ามีหุ้นอะไรที่ไม่ถูกกระทบจากประเด็นดังกล่าว โดยเลือกเฉพาะหุ้นเล็กพื้นฐานแข็งแกร่งที่ไม่มีการชอร์ตเซลตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา และผ่านเงื่อนไขต่างๆ คือ 1. ไม่มีการชอร์ตเซลมาตลอด เดือน ก.ย. 2563 2. เป็นหุ้นนอก SET50 และไม่ถูกกดดันจากการปรับพอร์ตของสถาบันฯ เพื่อเตรียมจองซื้อหุ้นไอพีโอขนาดใหญ่ และ 3. เป็นหุ้นที่แนะนำ “ซื้อ” หรือ แนะนำเก็งกำไรในช่วงนี้

โดยมีหุ้นที่น่าจะปลอดภัยจากประเด็นชอร์ตเซลและน่าลงทุน 8 บริษัท คือ บมจ.เอเซียเสริมกิจลีสซิ่ง (ASK) บมจ.เอ็ม.ซี.เอส.สตีล (MCS) บมจ.โนเบิล ดีเวลอปเมนท์ (NOBLE) บมจ.ศรีตรังโกลฟส์ (STGT) บมจ.อินฟราเซท (INSET) บมจ.ไดนาสตี้เซรามิค (DCC) บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ (NWR) และบมจ.เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ (WORK)