โควิดฉุดการใช้ 'น้ำมัน-ไฟฟ้า' ช่วง 7 เดือนแรกลดระนาว

โควิดฉุดการใช้ 'น้ำมัน-ไฟฟ้า' ช่วง 7 เดือนแรกลดระนาว

โควิด-19 ฉุดการใช้น้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล และไฟฟ้า ช่วง 7 เดือนแรกของปี 2563 ลดลงระนาว แต่ยังมีปัจจัยบวกจากสถานการณ์คลี่คลาย มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หนุนการใช้น้ำมัน-ไฟฟ้า กลับเพิ่มขึ้นอีกครั้ง

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน ทำให้ภาครัฐต้องประกาศมาตรการล็อกดาวน์ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดไม่ให้ลุกลามมากขึ้นไปอีก เมื่อประชาชนไม่สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ ซึ่งส่งผลต่อการใช้พลังงานในด้านต่างๆ

ล่าสุดสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ได้เผยแพร่สถานการณ์การใช้น้ำมันและไฟฟ้า ช่วง 7 เดือนแรกของปี 2563 (มกราคม-กรกฎาคม 2563) ที่มีการระบุว่า การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินลดลง 4.9% เทียบกับช่วงเดียวของปีก่อน โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ขณะที่การใช้น้ำมันดีเซลลดลง 4.5% ปัจจัยหลักมาจากการใช้เพื่อขนส่งผลผลิตทางการเกษตรลดลงจากสถานการณ์ภัยแล้งในช่วงต้นปี 2563 

แต่เมื่อเข้าสู่เดือนกรกฎาคม 2563 มีปัจจัยหลายด้านที่เข้ามาหนุนให้ผู้คนใช้น้ำมันมากขึ้น ทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลาย ประกอบกับมาตรการคลายล็อกดาวน์ด้านต่างๆ รวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวและการประกาศวันหยุดยาวต่อเนื่อง ส่งผลให้การใช้น้ำมันในกลุ่มเบนซินเฉลี่ยอยู่ที่ 34.65 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่เฉลี่ยอยู่ที่ 2.85 ล้านลิตรต่อวัน 

ขณะที่การใช้ไฟฟ้าในระบบ 3 การไฟฟ้านั้น ก่อนหน้านี้ลดลง 2.7% เป็นผลมาจากการการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั้งในและนอกประเทศ แต่ช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 สถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย มาพร้อมมาตรการกระตุ้นการ่ทองเที่ยว ภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจมีแนวโน้มสูงขึ้นตามลำดับ จึงทำให้เห็นการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น 

ทั้งนี้หากลงในรายละเอียดของสถานการณ์การใช้น้ำมันและไฟฟ้าทั้งหมด 3 ประเภท ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2563 สรุปได้ดังนี้

1.การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน ลดลง 4.9%

- การใช้แก๊สโซฮอล 95 มีสัดส่วน 47% ของน้ำมันกลุ่มเบนซินทั้งหมด การใช้เพิ่มขึ้น 4.5% โดยมีราคาเฉลี่ย 21.97 บาทต่อลิตร ซึ่งแตกต่างกับแก๊สโซฮอล 91 อยู่ 28 สตางค์ต่อลิตร ส่งผลให้ผู้ใช้ส่วนใหญ่เลือกใช้แก๊สโซฮอล 95 เนื่องจากมีค่าออกเทนสูงกว่า

- การใช้แก๊สโซฮอล E20 มีสัดส่วน 20% ของกลุ่มเบนซินทั้งหมด การใช้ลดลง 3.7% ราคาขายปลีกเฉลี่ยอยู่ที่ 19.72 บาทต่อลิตร 

2.การใช้น้ำมันดีเซล ลดลง 4.5%

- การใช้ B10 เพิ่มขึ้น อยู่ที่ระดับ 12.47 ล้านลิตรต่อวัน คิดเป็นสัดส่วน 19% ของกลุ่มดีเซลทั้งหมด โดยราคาขายปลีกเฉลี่ยอยู่ที่ 19.95 บาทต่อลิตร 

- การใช้ B20 เพิ่มสูงขึ้น อยู่ที่ระดับ 4.60 ล้านลิตรต่อวัน จากมาตรการจูงใจด้านราคา โดยมีราคาขายปลีกอยู่ที่ 19.47 บาทต่อลิตร 

3.การใช้ไฟฟ้า ลดลง 3.8%

- การใช้ในสาขาอุตสาหกรรม มีสัดส่วน 43% ของการใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศ การใช้ลดลง 6.9% จากการลดกำลังการผลิตสินค้าตามความต้องการใช้ที่ลดลง

- การใช้ในสาขาธุรกิจลดลง 11.4% ทั้งนี้ การใช้ไฟฟ้าในโรงแรมเริ่มขยับตัวสูงขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2563 สอดคล้องกับอัตราการเข้าพักในที่พักทั่วประเทศปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 12.3%

- การใช้ในครัวเรือนเพิ่มขึ้น 8.7% จากสภาพอากาศที่ร้อน ส่งผลให้มีการใช้เครื่องปรับอากาศมากขึ้น และประชาชนส่วนหนึ่งทำงานที่บ้าน อีกทั้งมาตรการช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้าที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระตุ้นให้ผู้ใช้ไฟฟ้ามีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น