ธปท.ชี้เงินสดก.ค.พุ่ง‘ทุบสถิติ’

ธปท.ชี้เงินสดก.ค.พุ่ง‘ทุบสถิติ’

“แบงก์ชาติ” เผยยอดเงินสดหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเดือนก.ค.พุ่งทุบสถิติใหม่ โดยเฉพาะแบงก์ 100  และ 500 บาท ยอดเบิกจ่ายสูงสุด ชี้ผลจากมีวันหยุดยาวต่อเนื่อง ทั้งยังอยู่ช่วงปลายเดือนส่งผลปริมาณความต้องการใช้เพิ่ม

 ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดสถิติธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ โดยเดือนก.ค. ที่ผ่านมา มีเงินสดที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจทั้งสิ้น 2.06 ล้านล้านบาท เป็นระดับสูงสุดในประวัติการณ์ โดยปริมาณธนบัตรที่เพิ่มขึ้นในเดือนนี้เป็นชนิดราคา 500 บาท  มูลค่า 1.86 แสนล้านบาท และชนิดราคา 100 บาท มูลค่า 1.73 แสนล้านบาท ชนิดราคา 50 บาท มูลค่า 2.76 หมื่นล้านบาท และชนิดราคา 20 บาท มูลค่า 4.5 หมื่นล้านบาท

นายสมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายออกบัตรธนาคาร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า สาเหตุที่ปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจช่วงเดือนก.ค.25634 เพิ่มขึ้นทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์​ เนื่องจากความต้องการเงินสดที่เพิ่มขึ้นจากวันหยุดยาวต่อเนื่อง (25-28 ก.ค.) และอยู่ในช่วงปลายเดือน ซึ่งโดยปกติแล้ว เป็นช่วงที่มีความต้องการเงินสดสูงกว่าช่วงอื่นๆ ทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องการสำรองเงินสดเพื่อเตรียมพร้อมในการจ่ายตามความต้องการของประชาชน

นอกจากนี้ราคาทองคำที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก ในช่วงปลายเดือน ก.ค. ทำให้ร้านค้าทองคำมีความต้องการเงินสดสำรอง สำหรับลูกค้าที่นำทองคำมาขายในช่วงเวลาดังกล่าว อย่างไรก็ตามมูลค่าธนบัตรหมุนเวียนกลับเข้าสู่ในระดับปกติแล้วในเดือน ส.ค.2563 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ หากดูการใช้จ่ายเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ พบว่า เงินสดส่วนใหญ่ถูกเบิกถอนออกไปในพื้นที่ภาคกลาง คิดเป็นประมาณ 50 % ของทั้งประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยในภูมิภาคดังกล่าว มีขนาดของเศรษฐกิจที่ใหญ่ จึงเป็นผลให้มีความต้องการเงินสดสูงกว่าในภูมิภาคอื่น

“แนวโน้มการใช้จ่ายเงินสดในช่วงที่เหลือของปีนี้ เชื่อว่าหากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ทั่วโลกยังไม่คลี่คลาย ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังอยู่ในภาวะซบเซา คาดการณ์ว่า ในระยะข้างหน้าการเบิกจ่ายธนบัตรมีแนวโน้มลดน้อยลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อความต้องการเงินสดลดลง มาจากพฤติกรรมการชำระเงินของประชาชนที่หันมาใช้ e-Payment มากขึ้น ในช่วงโควิด-19 ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้าง หรือ structural change ในปริมาณความต้องการเงินสด”

ทั้งนี้หากดูปริมาณการใช้ธนบัตรในปัจจุบัน พบว่าแม้ปริมาณธนบัตรยังเติบโต แต่อัตราการโตเริ่มมีแนวโน้มลดลง ล่าสุดปริมาณการเติบโตธนบัตรเติบโตลดลง โดยอยู่เพียง 2-3% เท่านั้น หากเทียบกับช่วงที่ผ่านมา ที่ปริมาณการเติบโตของธนบัตรอยู่ที่ราว 6-7% ต่อปี

โดยสาเหตุที่ธนบัตร ยังเติบโตได้ ส่วนหนึ่งมาจาก การพิมพ์ธนบัตรใหม่เพื่อมาทดแทนธนบัตรเก่าที่เสื่อมสภาพ โดยเฉพาะธนบัตรชนิดราคา 100 บาท และ 20 บาท ที่มีการใช้จ่ายจูง และมีการเสื่อมสภาพเร็ว ทำให้การพิมพ์ธนบัตรยังอยู่ระดับสูง แต่หากดูทิศทางปริมาณการใช้ธนบัตรในอนาคต เชื่อว่ามีโอกาสที่จะเห็นการใช้ธนบัตรลดลงได้ จากการเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชน ที่เริ่มหันไปทำธุรกรรมทางการเงินผ่านดิจิทัลมากขึ้น