กระตุ้นบริโภค มาตรการที่ยังไม่พอ

กระตุ้นบริโภค มาตรการที่ยังไม่พอ

ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจไทยชะลอตัวอย่างรุนแรง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เพิ่งออกมา ทั้งโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรคนจน และคนละครึ่ง อาจยังไม่เพียงพอ รัฐบาลจะต้องมีมาตรการด้านการคลังเพิ่มเติม ควบคู่กับใช้งบที่มีอยู่อย่างจำกัดให้คุ้มค่ามากที่สุด

การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกอย่างรุนแรง ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลไทยออกมาตรการเยียวยาผลกระทบและฟื้นฟูผลกระทบหลายมาตรการ และล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการกระตุ้นการบริโภค วงเงิน 50,922 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นการบริโภคในไตรมาส 4 ปี 2563 แบ่งเป็น 2 โครงการ คือ 1.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรวม 13.9 ล้านคน 2.โครงการคนละครึ่ง ในลักษณะการร่วมจ่ายระหว่างประชาชนที่เข้าร่วมโครงการและรัฐบาล ครอบคลุม 10 ล้านคน

การออกมาตรการกระตุ้นการบริโภคดังกล่าวถือเป็นความพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังจากที่ผ่านมามีมาตรการจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้มีอาชีพอิสระ เกษตรกรและกลุ่มเปราะบาง รวมทั้งการออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว ซึ่งรัฐบาลคาดหวังว่ามาตรการกระตุ้นการบริโภคครั้งนี้จะทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 60,000 ล้านบาท และกระทรวงการคลังประเมินว่าจะช่วยผลักดันผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) 0.25%

ถึงแม้รัฐบาลจะมีความคาดหวังต่อมาตรการกระตุ้นการบริโภคพอสมควร รวมทั้งรัฐบาลมีประสบการณ์ในการเปิดลงทะเบียนและการจ่ายเงินผ่านแอพพลิเคชั่น ซึ่งทำให้ประเมินว่าจะมีประชาชนเข้าร่วมโครงการเต็มจำนวนตามรัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้ แต่อาจจะไม่เพียงพอในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้มีการแสดงความเห็นถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่อาจต้องเพิ่มมาตรการด้านการคลังให้มากขึ้นเพื่อเพิ่มแรงกระตุ้นการบริโภคขึ้นมาอีก เช่น มาตรการด้านภาษีที่มีลักษณะคล้ายกับโครงการชิมช้อปใช้

มาตรการกระตุ้นการบริโภคที่ออกมาครอบคลุมกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 13.9 ล้านคน ซึ่งกลุ่มนี้ปกติจะได้รับเงินอุดหนุนสำหรับการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นอยู่แล้ว แต่คราวนี้รัฐบาลจ่ายเงินอุดหนุนนี้เพิ่มขึ้น ในขณะที่โครงการคนละครึ่งที่กำลังจะเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนวันที่ 16 ก.ย.2563 จะเป็นการช่วยเหลือประชาชนอีกกลุ่มให้มีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นจึงเหลือมาตรการสำหรับประชาชนในระดับที่มีเงินได้เสียภาษีที่รัฐควรเร่งเข้ามาช่วยเหลือ

การที่เศรษฐกิจชะลอตัวอย่างรุนแรงจึงจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยประเมินควบคู่กับงบประมาณที่มีอยู่ และจะต้องใช้งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดให้คุ้มค่ามากที่สุด เพราะการระบาดของโรคโควิด-19 ยังเป็นปัจจัยที่ไม่แน่นอน และยังมีความเสี่ยงในการระบาดรอบที่ 2 ในประเทศไทย ซึ่งถ้าถึงระดับที่ต้องล็อกดาวน์อีกจะทำให้กระทบเศรษฐกิจรุนแรงมาก มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังจากนี้จึงต้องยิงให้ตรงเป้าหมายที่สุด