กฟผ.ผนึกตลท.คัดแพลตฟอร์มรองรับระบบขายส่งไฟฟ้า

กฟผ.ผนึกตลท.คัดแพลตฟอร์มรองรับระบบขายส่งไฟฟ้า

กฟผ.จับมือ ตลท.ศึกษาพัฒนาแพลตฟอร์มซื้อขายไฟฟ้าในระดับขายส่ง ยกประสิทธิภาพบริหารจัดการไฟฟ้า เสริมขีดแข่งขันในธุรกิจฯ หนุนสู่ฮับซื้อขายไฟฟ้าของอาเซียน คาดเสนอรูปแบบดีสุดใน 1ปี ให้กระทรวงพลังงานพิจารณา

นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เปิดเผยภายหลังการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการศึกษาการพัฒนาความพร้อมเพื่อรองรับตลาดซื้อขายไฟฟ้าในระดับขายส่ง ฉบับที่ 2 ระหว่าง กฟผ.และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) วานนี้ (29ก.ย.) ว่า การลงนามดังกล่าว จะส่งผลให้ กฟผ. และ ตลท. ร่วมกันจัดทำแพลตฟอร์มการซื้อขายไฟฟ้าระดับการขายส่งขึ้นมาในรูปแบบที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย คาดว่า จะใช้เวลาศึกษาภายใต้กรอบMOU ครั้งนี้อีกประมาณ 1 ปี และจะนำผลที่ได้ รายงานต่อกระทรวงพลังงานพิจารณาเพื่อนำไปพัฒนาและปรับใช้ต่อไป

โดยหากกระทรวงพลังงานเห็นชอบอาจมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) หรือคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ไปคัดเลือกพื้นที่นำร่องในประเทศไทย เพื่อทดลองใช้ระบบแพลตฟอร์มดังกล่าวได้ ซึ่งแฟลตฟอร์มการซื้อขายไฟฟ้าระดับขายส่งนี้จะช่วยให้ประสิทธิภาพไฟฟ้าของไทยดีขึ้น ต่อยอดให้ไทยเป็นศูนย์กลาง(ฮับ)การซื้อขายไฟฟ้าในอาเซียน และเกิดการซื้อผลิตภัณฑ์ใหม่ๆในตลาดหลักทรัพย์ฯ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาพรวมประเทศ

สำหรับการศึกษารูปแบบตลาดซื้อขายไฟฟ้าระดับขายส่งในต่างประเทศ พบว่า มีหลากหลายรูปแบบ โดยหลักการส่วนใหญ่จะแบ่งเป็น 1. ตลาดซื้อขายไฟฟ้า ซึ่งอาจมีผู้ใช้บริการหลายราย 2.ศูนย์ควบคุมระบบส่งจ่ายไฟฟ้า ที่อาจมี 1-2 ศูนย์ และ 3.มีการเชื่อมโยงระหว่างตลาดซื้อขายไฟฟ้าและศูนย์ควบคุมฯดังกล่าว โดยการทำการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันหลายแบบ เช่น แบบวันต่อวัน หรือแบบซื้อขายล่วงหน้าระหว่างเป็นสัปดาห์ได้ ขึ้นกับความเหมาะสมของแต่ละประเทศ

นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลท. กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ ทาง ตลท.จะได้ถ่ายทอดความรู้ด้านการซื้อขายหลักทรัพย์ การส่งมอบ การชำระราคาหลักทรัพย์ และประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจการซื้อขายหลักทรัพย์ร่วมกับผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้อง (Intermediaries) ซึ่งจะเป็นการศึกษาพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการดำเนินงานของตลาดซื้อขายไฟฟ้าในเชิงลึกในแต่ละด้าน อาทิ แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมไฟฟ้าในอนาคต ระเบียบการซื้อขายในตลาดซื้อขายไฟฟ้าที่สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย บทบาทและความสำคัญของตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยน (Exchange Market) และตลาดการเงิน (Financial Market) ในกิจการไฟฟ้าในอนาคต การแข่งขันในตลาดทุนเพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับการแข่งขันในตลาดซื้อขายไฟฟ้า เพื่อนำข้อมูลจากการศึกษามาใช้ประกอบการจัดตั้งตลาดซื้อขายไฟฟ้าในอนาคต รวมถึงการเสนอให้มีการศึกษาการเปิดเสรีกิจการไฟฟ้าในระดับขายปลีกเพิ่มเติม เพื่อหาข้อดี ข้อเสีย ของอุตสาหกรรมไฟฟ้าทั้งในรูปแบบเดิม และรูปแบบการแข่งขันเสรีเต็มรูปแบบทั้งด้านผู้ซื้อและผู้ขาย เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภคอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 4 ก.ย.2562 กฟผ.และ ตลท.ได้มีการการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการศึกษาการพัฒนาความพร้อมเพื่อรองรับตลาดซื้อขายไฟฟ้าในระดับขายส่ง (Wholesale Electricity Market) ที่ ฉบับที่ 1 โดยผลการศึกษาในครั้งนั้น กฟผ. เล็งเห็นถึงโอกาสในการจัดตั้งตลาดซื้อขายไฟฟ้าซึ่งมีรูปแบบคล้ายตลาดซื้อขายไฟฟ้าในยุโรปโดยในระยะแรก กฟผ. มีแผนจัดตั้งตลาดซื้อขายพลังงานไฟฟ้า ประกอบด้วย ตลาดซื้อขายไฟฟ้าล่วงหน้าหนึ่งวัน (Day-Ahead Market) และตลาดซื้อขายไฟฟ้าระหว่างวัน (Intraday Market) ซึ่ง กฟผ. จะเป็นผู้จัดทำกฎระเบียบการซื้อขายไฟฟ้า

 

ขณะที่ ตลท.จะเป็นผู้ให้คำปรึกษาในการพัฒนาระบบซื้อขาย เมื่อตลาดซื้อขายพลังงานไฟฟ้าทั้งสองมีเสถียรภาพและสภาพคล่องแล้ว อาจพิจารณาให้มีการซื้อขายในตลาดซื้อขายกำลังการผลิตไฟฟ้า (Capacity Market) สำหรับจัดหากำลังการผลิตล่วงหน้า และพัฒนาต่อเป็นสินค้าในตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) ในอนาคตด้วย

 

อีกทั้ง การพัฒนาตลาดซื้อขายไฟฟ้ายังต้องปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ โครงสร้างกิจการไฟฟ้า รวมถึงการกำหนดนโยบายร่วมกันในการพัฒนาตลาดซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียนในรูปแบบที่เหมาะสมเพื่อเดินหน้าสู่การเป็นศูนย์กลางการซื้อขายพลังงานไฟฟ้าทั้งในระดับประเทศและภูมิภาคอาเซียน