รีโนเวท รถเมล์เก่าเป็นรถไฟฟ้า ส่งทดลองวิ่งสาย 543ก

รีโนเวท รถเมล์เก่าเป็นรถไฟฟ้า ส่งทดลองวิ่งสาย 543ก

สวทช.พัฒนาขีดความสามารถผู้ประกอบการไทยออกแบบและผลิตรถโดยสารไฟฟ้า หนุนรีโนเวทรถเมล์ปลดระวางให้เป็น “อี-บัส” ต้นทุน 7 ล้านบาทต่ำกว่าราคานำเข้า 50% ขสมก.ทดลองวิ่งบริการสาย 543ก อู่บางเขน-ท่าน้ำนนท์

(29 กันยายน 2563) ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ - ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี เยี่ยมชมผลงานวิจัย “การพัฒนาต้นแบบรถโดยสารไฟฟ้า โครงการพัฒนารถโดยสารไฟฟ้าจากรถโดยสารประจำทางใช้แล้วของ ขสมก. (City transit E-buses)” ซึ่งเป็นผลงานวิจัยและพัฒนาของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เครือข่ายพันธมิตรที่ครอบคลุมหน่วยงานภาครัฐ ทั้งหน่วยงานวิจัย สถาบันการศึกษา ทดสอบ หน่วยงานกำกับดูแลมาตรฐาน การจดทะเบียน การใช้งาน นโยบายส่งเสริม และเอกชนผู้ร่วมพัฒนา 

160138081299

ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาโครงการพัฒนารถโดยสารไฟฟ้าจากรถโดยสารประจำทางใช้แล้วขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทยในการออกแบบและผลิตรถโดยสารไฟฟ้า ที่สามารถจดทะเบียนเพื่อใช้งานกับกรมการขนส่งทางบก ได้อย่างถูกต้อง และพร้อมสำหรับการผลิตในระดับอุตสาหกรรม จำนวน 4 รายการ 

โครงการพัฒนารถโดยสารไฟฟ้าจากรถโดยสารประจำทางใช้แล้วของ ขสมก. (City transit E-buses) ดำเนินการในลักษณะ ภาคีเครือข่าย (Consortium) การพัฒนาอุตสาหกรรมรถโดยสารไฟฟ้าไทย ร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และสถาบันวิจัย มีเป้าหมายในการยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทยให้สามารถผลิตรถโดยสารไฟฟ้าที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะเป็นรถโดยสารประจำทาง และเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับรถโดยสารประจำทางเก่าที่ปลดอายุการใช้งานแล้ว โดยได้รับรถโดยสารประจำทางที่ปลดอายุการใช้งานแล้วจำนวน 4 คัน ที่จะส่งมอบให้ผู้ประกอบการไทยที่ได้รับคัดเลือกจำนวน 4 ราย นำไปปรับปรุงให้เป็นรถโดยสารไฟฟ้า โดยจะได้รับการให้คำปรึกษาทางเทคโนโลยีผ่านกลไกการสนับสนุนที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP: ไอแทป) สวทช.

นอกจากนี้ ภาคีเครือข่ายฯ ได้สนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาสนามทดสอบน้ำท่วมขัง ร่วมกับ มจพ. วิทยาเขตปราจีนบุรี เพื่อประเมินประสิทธิภาพของรถในขณะขับขี่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในการใช้รถโดยสารไฟฟ้า และอยู่ระหว่างการจัดทำบทวิเคราะห์ความคุ้มค่าในการพัฒนารถโดยสารไฟฟ้า จากรถโดยสารประจำทางใช้แล้ว ขสมก. โดย สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อนนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป 

160138083338

ทั้งนี้ สวทช. โดยทีมวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ได้พัฒนาตู้อัดประจุไฟฟ้าจำนวน 2 ตู้ติดตั้งที่เขตการเดินรถที่ 1 ของ ขสมก. เพื่อให้รถทั้ง 4 คัน ได้ทำการอัดประจุขณะทดลองวิ่งเป็นรถโดยสารประจำทางสาย 543ก (อู่บางเขน-ท่าน้ำนนท์) เป็นระยะเวลา 6 สัปดาห์ นอกจากนั้น ทีมวิจัยจาก สวทช. ยังร่วมให้คำปรึกษาและแก้ปัญหาการออกแบบ และประกอบรถโดยสารไฟฟ้าแก่ผู้ประกอบการ และทีมวิจัยอยู่ระหว่างดำเนินการ นำรถทั้ง 4 คันไปทดสอบสมรรถนะ และวิเคราะห์คุณลักษณะ สมรรถภาพตามข้อกำหนดคุณลักษณะทางวิศวกรรม เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการนำไปใช้งาน และสามารถจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกอย่างถูกต้องต่อไป


คุณลักษณะขั้นต่ำที่รถโดยสารทั้ง 4 คัน มีคือ ระยะเวลาในการประจุไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 2 - 3 ชั่วโมง ระยะทางที่วิ่งได้ต่อการประจุไฟฟ้าเฉลี่ย 160 - 250 กิโลเมตรต่อการประจุไฟฟ้า และความเร็วสูงสุดต่อเนื่อง 80 - 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม รถโดยสารไฟฟ้าทั้ง 4 บริษัทนี้ ต้นทุนในการเปลี่ยนจากรถโดยสารประจำทางใช้แล้ว ขสมก. เป็นรถโดยสารไฟฟ้าเฉลี่ยคันละ 7 ล้านบาท ในขณะที่การนำเข้ารถโดยสารไฟฟ้าจากต่างประเทศอยู่คันละ 12 - 14 ล้านบาท โดยจะมีคุณลักษณะเด่นของรถโดยสารไฟฟ้าที่ได้รับการพัฒนาจากทั้ง 4 บริษัทดังนี้


1. รถโดยสารไฟฟ้าขนาด 12 เมตร จากบริษัท พานทอง กลการ จำกัด พัฒนาโดยใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ 60% มีองค์ความรู้ ระบบควบคุมการทำงานของรถโดยสารไฟฟ้า (Vehicle Control Unit, VCU) และระบบจัดการการประจุไฟฟ้า (On-board charger) จากทีมผู้พัฒนาในประเทศไทย ทำให้สามารถออกแบบระบบที่สามารถปรับแต่ง และปรับปรุงให้ใช้งานในสภาวะที่หลากหลายได้


2. รถโดยสารไฟฟ้าขนาด 12 เมตร จากบริษัท โชคนำชัย-ไฮเทคเพลสซิ่ง จำกัด พัฒนาโดยใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ 40% ใช้ตัวถังอลูมิเนียม มีความพิเศษอยู่ที่โครงสร้างน้ำหนักเบาแข็งแกร่ง ทำมาจาก Aluminum เกรดสูง ทนการกัดกร่อนได้เป็นอย่างดี ทำให้ตัวรถมีน้ำหนักเบา ประหยัดพลังงาน และทำการผลิตในแบบการผลิตแบบอุตสาหกรรมยานยนต์ที่สามารถรองรับการผลิตแบบ Mass production ได้

160138085329
3. รถโดยสารไฟฟ้าขนาด 12 เมตร จากบริษัท รถไฟฟ้า ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) พัฒนาโดยใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ 40% พัฒนาบนความร่วมมือกับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าทั้งจากภายในและต่างประเทศ มีความพร้อมในการรับประกันรถจากความร่วมมือกับผู้ผลิตชิ้นส่วน จะเห็นได้จากระยะเวลาในการรับประกัน โดยเฉพาะชุดแบตเตอรี่ที่ให้มากถึง 5 ปี หรือ 200,000 กิโลเมตร อีกทั้งยังมีการออกแบบระบบการขับเคลื่อนให้สามารถขับขี่ได้ 3 โหมด ได้แก่ 1.โหมดประหยัดพลังงาน (Eco mode) 2.โหมดธรรมดา (Standard Mode) 3.โหมดสปอร์ต (Sport Mode) และรองรับการประจุไฟฟ้าทั้งแบบเร็วและแบบธรรมดา


4. รถโดยสารไฟฟ้าขนาด 12 เมตร จากบริษัท สบายมอเตอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด (SMT) พัฒนาโดยใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ 50% ชุดอุปกรณ์ขับเคลื่อนไฟฟ้า ที่เคยทำงานร่วมกันบนรถโดยสารไฟฟ้ามาแล้ว ด้วยการทดสอบใช้งานบนสภาวะการขับขี่จริง ระยะทางกว่า 25,000 กิโลเมตร สร้างความเชื่อมั่นและแสดงถึงความเข้ากันได้ในการทำงานร่วมกันของอุปกรณ์ ทั้งในเชิงประสิทธิภาพการทำงานและความปลอดภัย

160138087818


ทั้งนี้ ในปี 2563 ผู้ประกอบการไทยทั้ง 4 ราย พร้อมแล้วที่จะผลิตรถโดยสารไฟฟ้า ในการให้บริการประชาชนทั้งในรูปแบบรถโดยสารประจำทาง หรือไม่ประจำทาง เพื่อให้คนไทยได้ร่วมกันภาคภูมิใจในความสามารถของคนไทย ควบคู่ไปกับการสร้างรายได้ให้กับคนในประเทศ