ครม.อนุมัติงบลงทุนปี 64 ให้ 'รัฐวิสาหกิจ' 44 แห่ง ทะลุ 1.5 ล้านล้านบาท

ครม.อนุมัติงบลงทุนปี 64 ให้ 'รัฐวิสาหกิจ' 44 แห่ง ทะลุ 1.5 ล้านล้านบาท

ครม.อนุมัติกรอบ-งบลงทุน 'รัฐวิสาหกิจ' ปี 64 ทะลุ 1.5 ล้านล้านบาท คาดทำกำไรสุทธิราว 73,503 ล้านบาท

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังจากการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2563 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบกรอบและงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ประจำปีงบประมาณ 2564 จำนวน 44 แห่ง ภายใต้ 15 กระทรวง โดยปัจจุบันมีรัฐวิสาหกิจทั้งหมด 52 แห่ง แต่ 8 แห่ง เป็นรัฐวิสาหกิจที่เป็นลักษณะบริษัทมหาชน จึงไม่ได้อยู่ในกรอบเงินลงทุนที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติในวันนี้

สำหรับ 44 รัฐวิสาหกิจ จะประกอบด้วย วงเงินดำเนินการ จำนวน 1.51 ล้านล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน จำนวน 2.91 แสนล้านบาท โดยวงเงินเบิกจ่ายใช้ในการดำเนินโครงการทั้งหมด 16 โครงการ เช่น

  • โครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก Smart Park
  • โครงการระบบขนส่งมวลชน จังหวัดภูเก็ต ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต ห้าแยกฉลอง ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย
  • โครงการเพิ่มความสามารถในการจ่ายไฟด้วยสายเคเบิลใต้น้ำให้เกาะต่างๆ ที่มีไฟฟ้าใช้แล้ว ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

และยังมีโครงการอื่นๆ อีกด้วย เป็นเพียงแต่ตัวอย่างโครงการหลักๆ เท่านั้น โดยกำหนดเป้าหมายให้รัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายเงินลงทุนจะต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของกรอบวงเงินอนุมัติให้เบิกจ่ายลงทุน

ทั้งนี้มีการประมาณการงบทำการปี 2564 ของรัฐวิสาหกิจ 44 แห่ง คาดว่าจะมีกำไรสุทธิประมาณ 7.3 หมื่นล้านบาท ในส่วนของระยะยาว ประมาณการแนวโน้มการดำเนินการของรัฐวิสาหกิจในช่วง 3 ปี ตั้งแต่ปี 2565-2567 คาดว่าจะมีการลงทุนเฉลี่ยนประมาณปีละ 3.8 แสนล้านบาท จะกำไนสุทธิเฉลี่ยปีละ 1.06 แสนล้านบาท

เมื่อรวมงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจทั้ง 52 แห่ง แต่ไม่รวมงบที่อาจมีเพิ่มเติมระหว่างปี คาดการณ์ว่าปี 2564 จะมีวงเงินดำเนินการอยู่ที่ 1.55 ล้านล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน 4.32 แสนล้านบาท เท่ากับว่าปีนี้รัฐวิสาหกิจจะมีเงินอัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจากรัฐวิสาหกิจ 52 แห่ง ราว 4 แสนกว่าล้านบาท

นอกจากนี้ ครม.ยังได้เห็นชอบการลงทุนโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม Smart Park ตำบลห้วยโป่ง อำเภอเมือง จังหวัดระยอง โครงการนี้มีพื้นที่รวม 1,383 ไร่ ห่างจากท่าเรือมาบตาพุด 7 กิโลเมตร สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา 17 กิโลเมตร ท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ 29 กิโลเมตร ท่าเรือแหลมฉบัง 53 กิโลเมตร และห่างจากสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ 150 กิโลเมตร มูลค่าโครงการประมาณ 2,370 ล้านบาท เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาลที่สนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)

สำหรับการใช้ประโยชน์ที่จัดสรรไว้ดังนี้ โครงการนี้มีพื้นที่รวม 1,383 ไร่ แบ่งเป็น พื้นที่อุตสาหกรรม 621 ไร่ พื้นที่พาณิชยกรรม 150 ไร่ พื้นที่สาธารณูปโภค เช่น พื้นที่จอดรถส่วนกลาง ผลิตน้ำประปา การจัดทำระบบบำบัดน้ำเสีย สถานีไฟฟ้าย่อย และถนน 373 ไร่ รวมถึงพื้นที่สีเขียวและจัดสรรไว้เป็นแนวกันชนอีก 232 ไร่ โดยเป้าหมายของโครงการนี้มุ่งเน้นให้กลุ่มอุตสาหกรรม หรือ New S-curve ที่รัฐบาลให้การสนับสนุน

สำหรับวงเงินลงทุน 2.48 พันล้านบาท คาดว่าจะใช้ระยะเวลาก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ประมาณ 3 ปี และคาดว่าพื้นที่จะถูกเช่าหมดภายใน 4 ปีหลังจากก่อสร้างเสร็จ ผลของการคำนวณความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ระยะเวลาคืนทุนคาดว่าจะเป็น 14 ปี ถ้าคำนวณค่าปัจจุบันสุทธิจะเท่ากับประมาณ 585 ล้านบาท

โดยประโยชน์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับประชาชน โดยเฉพาะเรื่องการจ้างงาน ในช่วงระยะการก่อสร้างจะเกิดการจ้างงานประมาณ 200 คน นำไปสู่เงินหมุนเวียนในชุมชนประมาณ 23 ล้านบาทต่อปี แต่เมื่อโครงการดำเนินการแล้วเสร็จก็จะเกิดการจ้างงานประมาณ 7,500 คน และนำไปสู่เงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจในพื้นที่ที่ประมาณ 1.3 พันล้านบาทต่อปี