เครื่องปรับอากาศชูนวัตกรรมสุขภาพชิงลูกค้า-ฝ่าโควิด

เครื่องปรับอากาศชูนวัตกรรมสุขภาพชิงลูกค้า-ฝ่าโควิด

วิกฤติการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายมิติสร้างผลกระทบและก่อให้เกิดโอกาสใหม่ โดยหลายๆ สินค้าและบริการตีโจทย์การชีวิตวิถีใหม่ ที่ผู้คนให้ความสำคัญต่อสุขอนามัย ความปลอดภัยต่อสุขภาพมากขึ้นเป็นแนวทางพัฒนานวัตกรรม

ภายใต้ภาวะการณ์ที่ไม่มีใครฟันธงได้ว่าการระบาดและผลกระทบรุนแรงของ “โควิด” จะสิ้นสุดลงเมื่อไร อย่างไร การปรับกลยุทธ์ แผนธุรกิจ สินค้าและบริการตอบรับสถานการณ์ให้ได้มากที่สุดย่อมได้เปรียบ  

พัลลภ เตชะสุวรรณ์ กรรมการผู้จัดการ เทรน (ประเทศไทย) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายระบบปรับอากาศภายใต้แบรนด์ “เทรน” กล่าวว่า มาตรการ "ล็อกดาวน์" และผู้คนหยุดเดินทางเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดส่งผลกระทบทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมท่องเที่ยว หนึ่งในกลไกสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทย มีสัดส่วน 18% ของจีดีพี ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติช่วง 6 เดือนแรกที่ผ่านมา ลดลงถึง 66% 

ข้อจำกัดในการเดินทาง และยังส่งผลให้นักท่องเที่ยวเพิ่มความระมัดระวังในการเดินทาง เข้มงวดในการเข้าพักที่โรงแรม การใช้บริการในพื้นที่สาธารณะมากขึ้นทั้งโรงแรม ศูนย์การค้า มากขึ้น

ทั้งนี้ เทรนมุ่งพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมระบบฟอกอากาศ ปรับปรุงคุณภาพอากาศภายในอาคารให้สะอาดและปลอดภัยต่อสุขภาพ ภายใต้แนวคิด “Now Normal Indoor Air Quality” เพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของกลุ่มลูกค้าระบบปรับอากาศเชิงพาณิชย์ หรือ บีทูบี (Business to Business) อาทิ  โรงแรม ศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงเครื่องปรับอากาศทั่วไป หรือ บีทูซี (Business to Consumer) 

ปัจจุบัน เทรนมีสัดส่วนบีทูบี 50% ในจำนวนนี้เป็นลูกค้ากลุ่มธุรกิจโรงแรมประมาณ 50% โรงงานอุตสาหกรรม 20-30% ที่เหลือเป็นโรงพยาบาลและโรงเรียน ขณะที่สัดส่วนบีทูซี 50%  โดยทั้ง 2 กลุ่มมุ่งขยายฐานลูกค้าในอุตสาหกรรมที่ยังมีการเติบโตที่ดี ได้แก่ โรงพยาบาล และฮอสพิทาลิตี้  

 “ช่วงโควิด ลูกค้ามีความกังวลเกี่ยวกับราคาระดับหนึ่ง ทำให้เราปรับแผนธุรกิจ ราคา และยอดขาย ให้มีความเหมาะสม ซึ่งเทคโนโลยีใหม่ทำให้ต้นทุนต่ำลงด้วย นำสู่การทำราคาและโปรโมชั่น ราว 50%  ขณะที่ยอดขายจากเดิมตั้งเป้าหมายยอดขายเกือบ 4,000 ล้านบาท ในปีนี้ปรับตัวเลขใหม่เหลือราว 3,000 ล้านบาท"

 อย่างไรก็ตาม มองว่าสถานการณ์จะปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องซึ่งเทรนมั่นใจศักยภาพประเทศไทยและการเติบโตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีแผนลงทุนขยายกำลังผลิตและผลักดันไทยเป็นฐานการส่งออกภูมิภาครวมทั้งอินเดีย จากปัจจุบันการผลิตในไทยมีการส่งออกประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่ฐานผลิตเครื่องปรับอากาศขนาดใหญ่ของเทรนอยู่ในจีน มีโรงงาน 2 แห่ง  ส่วนไทยมีโรงงานผลิตเครื่องปรับอากาศขนาดเล็กและชิ้นส่วน ซึ่งแผนลงทุนดังกล่าวจะมีความชัดเจนในปี 2564

สำหรับตลาดเครื่องปรับอากาศในเมืองไทยมีมูลค่าราว 30,000 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 2-3% ต่อปี เทรน มีส่วนแบ่งตลาด 40-50%  สูงสุดในกลุ่มเครื่องปรับอากาศขนาดใหญ่ ขณะที่เครื่องปรับอากาศทั่วไป มีมาร์เก็ตแชร์ไม่ถึง 10% 

ขณะที่ผู้ประกอบการเครื่องปรับอากาศค่ายจีน เกาหลี ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ที่ให้ความสำคัญทั้งด้านดีไซน์ รวมถึงโมเดลการทำตลาดกระตุ้นการใช้จ่ายที่เน้น “คุ้มค่า” ตามสถานการร์ระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น โดย ไฮเออร์ เตรียมเปิดเฟส 2 โครงการ “Smart Sharing AC” โปรโมชั่นเหมาจ่าย เดือนละ 800 บาท ซึ่งแคมเปญ “Smart Sharing AC” ครั้งนี้ ยังคงคอนเซปต์ธุรกิจการแบ่งปันหรือ Sharing Economy ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคให้สามารถเข้าถึงการใช้งานเครื่องปรับอากาศที่สะดวกและคุ้มค่ามากขึ้น ด้วยจุดเด่นด้านการควบคุม สามารถสั่งการเปิด-ปิด และควบคุมฟังก์ชั่นต่างๆ ผ่านสมาร์ทโฟน และรับกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของเครื่องปรับอากาศไฮเออร์เมื่อชำระครบ 24 เดือนตามเงื่อนไขสัญญา

ทางด้าน แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) เปิดตัวเครื่องปรับอากาศเชิงพาณิชย์รุ่นใหม่แบบแขวนใต้ฝ้า ชูจุดเด่นดีไซน์รูปทรงกลมที่มาพร้อมหน้ากากสีขาวแบบพรีเมียม มีความสามารถในการถ่ายเทอากาศที่เพิ่มขึ้น ทำให้ทำความเย็นได้เร็วขึ้นกว่าเดิม 30%  ถูกออกแบบให้สามารถติดตั้งได้ง่ายและรวดเร็ว เหมาะสำหรับการใช้งานในร้านอาหาร คาเฟ่ ร้านค้า และสถานประกอบการขนาดเล็กต่างๆ