ไขธุรกรรม ‘ขายซอร์ต’ เลือกหุ้นราคาเกินพื้นฐานทำกำไร

ไขธุรกรรม ‘ขายซอร์ต’   เลือกหุ้นราคาเกินพื้นฐานทำกำไร

วันที่ 1 ต.ค. 2563 นี้ตลาดหุ้นไทยจะมีการกลับมาใช้เกณฑ์เดิมทั้ง การขายชอร์ต (Short sell)  รวมถึงกลับไปใช้เกณฑ์ Ceiling และ Floor ที่ระดับเพิ่มขึ้นและลดลง 30% ภายในวันทำให้มีหลายความกังวลว่าเป็นปัจจัยที่เข้ามากดดันตลาดหุ้นเป็นขาลงมากกว่าเดิมหรือไม

ยอมรับว่าในช่วงที่มีการปรับเกณฑ์ดังกล่าวส่งผลทำให้ตลาดหุ้นไทย มียอดขายชอร์ต ลดลงทันตาเห็น เกือบ 7 เดือน 2563 เฉลี่ยประมาณ 10,000 กว่าล้านบาท จากเดือน เม.ย. อยู่ที่ 19,068 ล้านบาท เดือนส.ค.ล่าสุดอยู่ที่ 11,188.67 ล้านบาท ขณะที่ยอดขายซอร์ต 3 เดือนแรกของปี ม.ค.-มี.ค. มีเม็ดเงินระดับเฉลี่ย 70,000 ล้านบาท

จากม.ค. อยู่ที่ 82,268 ล้านบาท ก.พ. 72,147 ล้านบาท และ มี.ค. 65,728 ล้านบาท และเมื่อย้อนตัวเลขไปในปี 2562 ธุรกรรมขายซอร์ต พุ่งทะยานถึง 65,8807 ล้านบาท เมื่อเทียบกับ 8 เดือนปี 2563 มียอดขายซอร์ตอยู่ที่ 285,707 ล้านบาท

ตัวเลขดังกล่าวสามารถมองได้ว่ามาตรการปรับเกณฑ์ดังกล่าวก่อนหน้านี้มีผลทำให้นักลงทุนนำหุ้นมาทำการขายขาลงได้ยาก แม้ว่าช่วงเวลาดังกล่าวจะมีจำนวนนักลงทุนในตลาดหุ้นเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะสัดส่วนนักลงทุนรายย่อยอยู่ที่เกือบ 50 % จากต้นปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 34 %

รวมทั้งตัวแปรหลายด้านที่มีผล ทั้งหุ้นที่นำมาทำธุรกรรมยืม (SBL) มีปริมาณน้อยลง ซึ่งหุ้นในส่วนนี้ส่วนใหญ่จะอยู่ในมือเจ้าของ นักลงทุนรายใหญ่ สถาบันหรือกองทุนต่างประเทศ ที่มีหุ้นในมือจำนวนมากสามารถนำมา SBL และรับดอกเบี้ย

ช่วงเวลาดังกล่าวตลาดหุ้นลงมาเยอะจนกดราคาหุ้นรายตัวปรับตัวลงแรง ทำให้คงไม่มีใครอยากจะทำให้หุ้นที่ตัวเองถืออยู่ราคาลดลงไปมากกว่าเดิม แม้จะได้ดอกเบี้ยจากการให้ยืมหุ้นแต่ก็ไม่คุ้มก็ตาม จึงทำให้ในช่วงที่ดัชนีลงไปรุนแรงต้นปีเป็นการขายหุ้นที่ถือจริงๆ

ขณะเดียวกันยังมีประเด็น ภาวะตลาดหุ้นในปัจจุบัน ที่อยู่ระหว่างการเฝ้ารอดูปัจจัยบวกและลบที่จะมีผลในอนาคต จึงทำให้คาดการณ์ตลาดหุ้นได้ค่อนข้างยาก หากเป็นปัจจัยลบแน่นอนว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด -19 เพิ่มสูงให้หลายประเทศ ทำให้เกิดล็อกดาวน์รอบ 2 บั่นทอนกำลังซื้อยอดขายทุกธุรกิจมีผลต่อกำไรตามมา

รวมทั้งส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจของแต่ละประเทศชะลอตัวจนเข้าข่ายถดถอย ซึ่งตัวเลขจีดีพีรอบใหม่ที่แบงก์ชาติคาดการณ์ปีนี้ ติดลบ 7.8 % และปี 2564 กลับมาเติบโตเหลือ 3 % อยู่ในภาวะไม่น่าไว้วางใจหากเกิดระบาดรอบ 2 ในไทย

ทางกลับกันความคืบหน้าวัคซีนที่มีมากขึ้นในหลายประเทศ ทำให้เกิดความหวังว่าจะสามารถใช้กับมนุษย์ได้จริงต้นปี 2564 ซึ่งหากเป็นจริงย่อมกลายเป็นข่าวบวกให้กับตลาดหุ้น และหุ้นจะรับข่าวล่วงหน้าเสมอ ทำให้โอกาสหุ้นขาลงเพื่อทำการขายซอร์ตจะลดลงตามไปด้วย

อย่างไรก็ตามปัจจุบันปัจจัยบวกดังกล่าวยังเป็นเพียงความหวัง แต่ปัจจัยทางเศรษฐกิจที่เห็นอยู่และเตรียมจะปรากฏคือตัวเลขไตรมาส 3 ปี 2563 ซึ่งยังเป็นช่วงหลายๆ ธุรกิจเผชิญปัญหาสภาพคล่อง การลดคน แรงงานตกงานสูง

ดังนั้นหากจะหาหุ้นลงทุนในช่วงขาลง ด้วยการทำ การซอร์ต คงโฟกัสที่หุ้นทุกตัวไม่ได้แต่สามารถเน้นหุ้นที่ราคาขึ้นมาแรงจนเกินพื้นฐาน ซึ่งต้องพิจารณา ว่าหุ้นที่ขึ้นมาแรงในช่วงที่ผ่านมามีการเติบโตในอีก 2 ปี ข้างหน้ารองรับหรือไม่

เมื่อเทียบกับ อัตรากำไรต่อหุ้น (EPS) ของทั้งตลาด อยู่ที่ 50-60 บาท ระดับอัตราราคาปิดต่อหุ้น (PE) สูงมากกว่า 50-60 เท่า แต่อนาคตธุรกิจไม่ได้ตอบรับกับความต้องการบริโภคหรืออุปโภคของตลาด กลายเป็นหุ้นที่ถูกซอร์ตได้ง่ายเช่นกัน ซึ่งจะเห็นแล้วว่า การขายซอร์ตไม่ได้น่ากลัวจนทำให้หุ้นไทยปรับตัวลงไปแรง