TNH - ถือ

TNH - ถือ

คาดกำไรปี 64 พลิกฟื้นแต่ราคาหุ้นสะท้อนไปมาก

ประเด็นสำคัญในการลงทุน

  • งวด 4Q63 กำไรสุทธิ พลิกเติบโตจากจุดต่ำสุดรายไตรมาสใน 3Q63 : งวดไตรมาส 4Q63 สิ้นสุด31 ก.ค. 63 มีกำไรสุทธิ 55 ล้านบาท พลิกเติบโต 54%QoQ เนื่องจากอัตรากำไรขั้นต้นปรับดีขึ้นสู่ 23% จาก 19% ใน 3Q63 และการควบคุมค่าใช้จ่ายขายและบริหารที่ทำได้ดี อีกทั้งการที่บริษัทยังไม่ได้กู้เงินทำให้ไม่มีค่าใช้จ่ายทางการเงิน  ส่งผลให้อัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 12% เพิ่มขึ้นจาก 8.5% ใน 3Q63 อย่างไรก็ดี กำไรสุทธิลดลง 49%YoY เนื่องจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ที่แพร่ระบาดทำให้จำนวนผู้ป่วยที่มาใช้บริการที่โรงพยาบาลลดลง ส่งผลให้รายได้จากการรักษาพยาบาลลดลง 22%YoY  ขณะที่อัตราค่าเช่าที่ดินเป็นอัตราใหม่หลังต่ออายุสัญญาเช่าที่ดิน ทั้งนี้ผลการดำเนินงานประจำปี 63 สิ้นสุด 31 ก.ค. 63 มีกำไรสุทธิ 256 ล้านบาท ลดลง 19%YoY ต่ำกว่าประมาณการของเรา 9% อัตรากำไรขั้นต้นเท่ากับ 24% ลดลงจาก 26.7% และอัตรากำไรสุทธิเท่ากับ 12.8% จาก 14.7% ในงวดปี 62
  • แผนก่อสร้างโรงพยาบาลไทยนครินทร์ 2 เลื่อนไปปี 2564 เป็นผลดีต่อสภาพคล่องและกระแสเงินสด : ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และภาพรวมเศรษฐกิจชะลอตัวทำให้บริษัทมีนโยบายใช้แหล่งเงินสดภายในกิจการเป็นลำดับแรก และทบทวนใหม่เกี่ยวกับแบบก่อสร้างซึ่งอาจจะทยอยทำทีละเฟสย่อยเพื่อลดภาระในการกู้เงินและลดความเสี่ยงทางการเงิน ทำให้ยังไม่มีความจำเป็นในการกู้เงินเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันบริษัทยังไม่ได้ใช้วงเงินกู้จำนวน 3,000 ล้านบาทแต่อย่างใด  รวมทั้งยังไม่มีภาระหนี้สินทั้งในระยะสั้นและระยะยาว (Gearing Ratio เท่ากับศูนย์) จึงไม่มีภาระต้นทุนทางการเงินและไม่น่ากังวลหากจะเริ่มกู้เงินในอนาคต   เราคาดว่าโครงการโรงพยาบาลไทยนครินทร์ 2 ที่จะเริ่มก่อสร้างในปีงบการเงิน 2564  ในเบื้องต้นยังสามารถใช้กระแสเงินสดจากการดำเนินงานได้ก่อนซึ่งปกติบริษัทมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานเฉลี่ยปีละราว 300-400 ล้านบาท (งวดปี 2562 เท่ากับ 406 ล้านบาท งวดปี 2563 เท่ากับ 312 ล้านบาท)
  • ปรับประมาณการกำไรปี 64 ลดลง 9% : เราประเมินว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังคงมีผลกระทบต่อการดำเนินงานในงวดปี 64 อยู่บ้างแต่ไม่กระทบมากเท่าปี 63  แม้ว่าจำนวนผู้ป่วยที่มาใช้บริการรักษาพยาบาลยังไม่ปรับขึ้นมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่มีรายได้จากศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและศูนย์ตาครบวงจรที่คาดว่าจะเปิดบริการราวเดือนธ.ค. 63 มาชดเชยได้บ้าง  ปัจจุบันก่อสร้างเสร็จแล้วและอยู่ระหว่างขออนุญาตเปิดบริการอย่างเป็นทางการ  ทำให้ประมาณการรายได้จากการรักษาพยาบาลลดลงเล็กน้อย 2% จากเดิม 2,249 ล้านบาทเหลือ  2,194 ล้านบาทแต่ยังเติบโต 9%YoY  เราปรับลดสมมติฐานอัตรากำไรขั้นต้นจากเดิม 27% เหลือ 25.3%  และคงประมาณการค่าใช้จ่ายขายและบริหารเท่าเดิมที่ 217 ล้านบาทเนื่องจากค่าใช้จ่ายที่ลดลงตามแผนควบคุมค่าใช้จ่ายถูกชดเชยด้วยอัตราค่าเช่าที่ดินตามสัญญาใหม่เต็มปีเทียบกับปีที่ผ่านมา (จ่ายอัตราค่าเช่าใหม่ 10 เดือน)  และลดประมาณการค่าใช้จ่ายทางการเงินเหลือ 1.85 ล้านบาทจากเดิม  7.4 ล้านบาท (ลดสมมติฐานเงินกู้ยืมระยะยาวเหลือ 50 ล้านบาทจากเดิม 200 ล้านบาท)  ส่งผลให้ประมาณการกำไรสุทธิใหม่ลดลง 9% เหลือ 302 ล้านบาทแต่ยังเห็นการเติบโต 18% จากฐานที่ต่ำในปี 2563  โดยรวมแล้วผลการดำเนินงานเติบโตเฉลี่ย (CAGR) 7% ต่อปีในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาระหว่างปี 62 -64
  • ปรับลดคำแนะนำจาก “ซื้อ” เป็น “ถือ” ราคาหุ้นสะท้อนราคาเหมาะสมใหม่สำหรับปี 64 ไปแล้ว : เรามีมุมมองบวกต่อการดำเนินงานธุรกิจที่สร้างกระแสเงินสดสม่ำเสมอ ในการประเมินราคาเหมาะสมเรายังคงใช้สมมติฐาน Prospect PER เท่าเดิมที่ระดับ 19 เท่าซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลในตลาด SET ที่ซื้อขายที่ระดับ 36 เท่าโดยประมาณการกำไรต่อหุ้นปี 64 ใหม่เท่ากับ 1.68 บาท คำนวณได้ราคาเหมาะสมเท่ากับ 32 บาท  ทั้งนี้บริษัทประกาศจ่ายเงินปันผลสำหรับงวดการดำเนินงานปี 63 ซึ่งสิ้นสุด 31 ก.ค. 63 ในอัตรา 0.45 บาทต่อหุ้น คิดเป็น yield  3%  (XD 27 พ.ย. วันจ่าย 16 ธ.ค.)

ปัจจัยเสี่ยง

      1) จำนวนผู้ป่วยลดลง จากก่อนกสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

      2) การก่อสร้างรพ.ไทยนครินทร์ 2 มีความล่าช้าจากแผนจากการทบทวนโครงการใหม่ทั้งหมด

      3) คู่แข่งเพิ่มขึ้นในพื้นที่ใกล้เคียง