เปิดมุมมอง วิชาการ : ภาพสะท้อน เกมการเมือง "เพื่อไทย"

 เปิดมุมมอง วิชาการ  :  ภาพสะท้อน เกมการเมือง "เพื่อไทย"

การลาออกของแกนนำพรรคเพื่อไทย สะท้อนให้เห็นถึงการปรับกระบวนนำภายใน ที่ส่งผลถึง การเมืองปัจจุบัน

      ปรากฎการณ์ “รีแบรนด์ดิ้ง” พรรคเพื่อไทย แกนนำฝ่ายค้าน ในสถานการณ์ปัจจุบัน ถูกมองให้เป็นกระแส ของการปรับ และขยับขั้วอำนาจของ “รัฐบาล”ที่มี พี่ใหญ่ “บิ๊กป้อม”พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เป็นผู้กำกับงานอยู่เบื้องหลัง
      ความชัดในตอนนี้ ยังไม่ถึงขั้น “ชัดแจ้ง” ว่า ผลอะไรจะเกิดขึ้นในการเมืองไทยบ้าง แต่ที่มีกระแส จำพวกโยนหินถามทาง ทั้งการรวมขั้วกับ รัฐบาล พรรคพลังประชารัฐ หรือ การสลับบทให้ “คนตัวจริง” ของพรรคขึ้นมามีบทบาทนำ แทน “รัฐบาลทหาร” 
       ต่อความเคลื่อนไหวที่พรรคเพื่อไทยมีตอนนี้ ถูกจับตามองอย่างตาไม่กระพริบ เพราะมีความเชื่อว่า การปรับภาพลักษณ์และการปรับพลพรรค นั้นจะมีผลต่อการเมืองไทยไม่มาก ก็น้อย
       ต่อความเห็นทางวิชาการ จาก รศ.ดร. สิริพรรณ นกสวน สวัสดี หัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย มองเรื่องนี้ว่า เป็นเรื่องปกติที่พรรคเพื่อไทยต้องปรับ เมื่อถึงจุดที่คะแนนนิยม “ลดลง” 
       “เมื่อพรรคเพื่อไทยไม่ได้เป็นรัฐบาล ทำให้ความสามารถต่อการส่งมอบนโยบายไปสู่พื้นที่ลดลง อีกทั้งในการเลือกตั้งที่ผ่านมาพบว่าคนไม่ได้เลือกนโยบาย แต่เลือกตรงจุดยืนทางการเมือง อย่างคนรุ่นใหม่ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก ชัดเจนต่ออุดมการณ์ทางการเมืองแบบประชาธิปไตยตะวันตก อย่างไรก็ดีบทบาทผู้นำในพรรคไม่ชัดเจน ปล่อยให้ก๊วนในพรรคแข่งขันกันเอง จนแตกแยก เอาไม่อยู่ ดังนั้นเมื่อถึงจุดที่ต้อง ก็ต้องปรับ และการปรับครั้งนี้ ต้องยอมรับว่าเป็นจุดหักแหการเมืองด้วยเช่นกัน” 
       รศ.ดร.สิริพรรณ ให้ความเห็นด้วยว่า กับภาพการทำงานในสภาฯ ที่ผ่านมา เมื่อแกนนำผู้กำกับไม่ได้รับเลือก ทำให้การอภิปราย การทำงานในฐานะเป็นฝ่ายค้านมีความประณีประนอมมากเกินไป ดังนั้นการปรับครั้งนี้ของพรรคเพื่อไทยส่วนตัวยังหวังว่า จะทำให้จุดยืนทางการเมืองชัดเจน และขอมองสวนกระแสที่เชื่อว่าพรรคเพื่อไทยปรับครั้งนี้ เพื่อไปรวม ไปร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ ว่า เพื่อไทยปรับเพื่อกระชับอำนาจ และมีจุดยืนที่ชัดเจนต่อเนื่อง คือ ไมเ่อารัฐบาลทหาร แต่หากความคาดหวังนั้นผิด และเขาไปรวมกับพรรคพลังประชารัฐจริง คงไปไม่ถึงรัฐบาลแห่งชาติ ที่ แกนนำตัวจริง “นายทักษิณ ชินวัตร”เข้ามามีบทบาทนำสูงสุด
 
 
          ขณะที่ ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ให้มุมมองด้วยว่า เมื่อ พรรคเพื่อไทย ต้องการอัพเกรดให้เป็นพรรคที่แข็งแกร่ง ในเชิงกลไกอำนาจรัฐ จำเป็นต้องขยับ เพราะขณะนี้การเมืองระดับท้องถิ่นและแกนนำในส่วนกลางไม่มีใครรอไหว หากปล่อยให้ พรรคพลังประชารัฐ ได้เปรียบในเชิงกลไกอำนาจรัฐ การเลือกตั้งครั้งหน้า ในเกมระดับชาติ อาจจะแพ้หมด เพราะมีตัวอย่างจากการเลือกตั้งซ่อม ในหลายพื้นที่ ที่เห็นภาพว่าหัวคะแนนที่เชียร์​ มวลชนที่สนับสนุน คนเก่าๆนั้นเปลี่ยนฝั่ง

       "กับการวิเคราะห์ของสื่อมวลชนหลายค่าย ที่ประเมินว่าการปรับรอบนี้ของพรรคเพื่อไทย และมี คุณหญิง พจมาณ ณ ป้อมเพ็ชร ภรรยาของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เจ้าของพรรคตัวจริงมีส่วนนั้น สะท้อนให้เห็นว่า เป็นความคิดที่เขาอาจจะเตรียมการให้เกิดขึ้น แต่เพื่อความแน่ใจว่าสังคมจะเอาด้วย จึงโยนหินถามทาง หากสังคมเอาด้วย การเดินหน้าต้องทำต่อ แต่หากไม่มีใครเอาด้วย ก็ต้องเปลี่ยนแปลง แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือการทำให้พรรคแกร่งขึ้น และต้องรีบทำไม่เช่นนั้น พรรคพลังประชารัฐที่ได้เปรียบเรื่องกลไกรัฐ พรรคก้าวไกลที่ได้เปรียบเรื่องกระแสคนรุ่นใหม่ จะทำให้พรรคเพื่อไทยไม่ได้คัมแบ็ค”
       ดร.สติธร กล่าวด้วยว่า หากการโยนหิน เรื่องรวมกันสำเร็จ แน่นอนว่า “พรรคพลังประชารัฐ” ต้องถอย เพราะดีกรีระดับเพื่อไทย หากจะไปรวมคงไม่ยอมเป็น พรรคอันดับรองแน่นอน เพราะดีกรีของคนเพื่อไทย โปรไฟล์เหนือกว่าคนของพรรคพลังประชารัฐ และหากมองผู้คุม อย่าง พล.อ.ประวิตร เชื่อว่าจะคุยกับคนเพื่อไทยได้ง่ายกว่าพรรคพลังประชารัฐที่ จัดการยาก มีหลายก๊วน และหากเป็นเช่นนั้นจริง สิ่งที่จะเป็นภาพเชิงประจักษ์คือ รัฐบาลชุดปัจจุบันนั้น อยู่ครบเทอม
 
        เมื่อมองเกมยาวของรัฐบาล “นักวิชาการสถาบันพระปกเกล้า”ประเมินด้วยว่า มีเงื่อนไขเพิ่ม หาก พรรคเพื่อไทยมารวม คือ การเปลี่ยนตัว “นายกฯ” คือ “พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เพราะเชื่อว่า พรรคเพื่อไทย คงไม่เปลี่ยนท่าทีต่อต้านนายกฯ เผด็จการ เป็นการเชิดชู นายกฯ ที่ตัวเองด่ามาตลอด 6 ปี แน่นอน
        ส่วนเกมรอบนี้ จะดึงไปถึงรัฐบาลแห่งชาติ ได้หรือไม่นั้น “ดร.สติธร” มองว่า “ไปไม่ถึง คำว่าแห่งชาติ ตราบใดที่ดึงก้าวไกลมาร่วมไม่ได้ ต้องเปลี่ยนใช้คำอื่น เช่น รัฐบาลผสมขนาดใหญ่ 300 เสียง เหมือนที่ครั้งหนึ่งพรรคเพื่อไทยเคยเป็น”
         สำหรับบทสรุปของ “เพื่อไทย” จะเป็นอย่างไรหลังจากนี้ สังคมต้องจับตามอง ห้ามพลาด.