"กลยุทธ์การลงทุน"รายสัปดาห์ (28 ก.ย.63)

"กลยุทธ์การลงทุน"รายสัปดาห์ (28 ก.ย.63)

28 ก.ย. - 2 ต.ค. มีช่วงฟื้นได้บ้าง แต่หุ้นใหญ่ยังถูกกดดันในช่วงสั้น

สรุปภาวะตลาดและมุมมองสัปดาห์นี้: ในสัปดาห์ที่แล้ว ตลาดหุ้นไทยปรับตัวแย่เกินคาด โดยดัชนี SET ยังคงลงต่อเนื่องจาก i) มีความกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการติดเชื้อ COVID-19 ระลอกใหม่ และผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ii) ภาวะตลาดที่เป็นลบจากหุ้นขนาดใหญ่ก่อนวันที่ 1 ตุลาคม ซึ่ง SET จะกลับมาใช้เกณฑ์ short-sell ปกติ ซึ่งอาจจะทำให้มีการทำธุรกรรม short-sell มากขึ้น และทำให้ตลาดผันผวนมากขึ้น ปัจจัยลบต่าง ๆ ดังกล่าวหักล้างกับสถานการณ์ทางการเมืองไทยที่คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น โดยมีความเสี่ยงลดลงที่จะเกิดความรุนแรงจากการเผชิญหน้ากัน สำหรับในสัปดาห์นี้ เราคาดว่าดัชนี SET ก็อาจจะยังคง underperform ต่อไปเนื่องจาก i) ตลาดโลกยังคงผันผวนเนื่องจากเป็นช่วงที่มีการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจมหภาคเดือนกันยายน อย่างเช่น final PMIs ของจีน ยุโรป และดัชนีการผลิต ISM ของสหรัฐ ii) สถานการณ์ COVID-19 ยังคงอ่อนไหวในยุโรป ซึ่งจำนวนผู้ติดเชื้อยังคงเร่งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง iii) ราคาหุ้นขนาดใหญ่ส่วนใหญ่จะยังคงถูกกดดันในช่วงก่อนวันที่ 1 ตุลาคม จากการที่นักลงทุนรอดูผลจากการที่ SET กลับมาใช้เกณฑ์ short-sell ตามปกติก่อน

ในสัปดาห์ที่แล้ว ดัชนี SET ร่วงลงไปต่ำกว่า downside ในกรณีฐานของเราที่ 1,260 จุด ซึ่งอิงจากค่าเฉลี่ย 10 ปีย้อนหลังของส่วนต่างผลตอบแทนของกำไรในอีก12 เดือนข้างหน้า (12-month forward earnings yield gap) ที่ 4.1% ทั้งนี้ ในขณะที่เราคาดว่าปัจจัยระยะสั้นน่าจะทำให้ตลาดผันผวนและมี
downside มากขึ้น แต่เราก็มองว่าความหวังของนักลงทุนเกี่ยวกับการพัฒนาวัคซีนป้องกัน COVID-19 และการเก็งว่าสภาคองเกรสของสหรัฐจะผ่านมาตรการช่วยเหลือรอบสองในเร็ว ๆ นี้ น่าจะช่วยจำกัด downside ในกรณีเลวร้ายที่สุดของดัชนี SET เอาไว้ที่ประมาณ 1,220 จุด ซึ่งอิงจาก yield gap ที่อนุรักษ์
นิยมมากขึ้นที่ 4.5% ดังนั้น เราจึงแนะนำให้นักลงทุนปรับพอร์ตโดยลงทุนในหุ้นเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกรณีที่ดัชนี SET ขยับเข้าใกล้ downside ในกรณีเลวร้ายที่เรากล่าวถึงข้างต้น

ธีมการลงทุน ปัจจัย และกระแสข่าวสำคัญที่จะมีผลกับตลาดในสัปดาห์นี้:

(0/-) การรายงานตัวเลข PMIs ทั่วโลก และข้อมูลการจ้างงานของสหรัฐเดือนกันยายน ในสัปดาห์นี้จะมีข้อมูลมหภาคโลกออกมาหลายตัว ได้แก่ ดัชนีการ PMI ภาคการผลิต NBS ของจีน (30 กันยายน) ดัชนี PMI ภาคการผลิตอย่างเป็นทางการของยุโรป (1 ตุลาคม) และดัชนีการผลิต ISM ของสหรัฐ (1 ตุลาคม) ซึ่งจะเป็นเป็นดัชนีภาคการผลิตรายเดือนที่ออกมาก่อนเพื่อน จากนั้นก็จะมีการประกาศตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐ (2 ตุลาคม) ซึ่งจะเป็นสิ่งที่บ่งชี้ถึงแนวโน้มการฟื้นตัวของตลาดแรงงานสหรัฐหลังจากที่มาตรการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐลดลงไป

(0/+) รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่น ๆในการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) ในวันนี้ คาดว่าจะมีการหารือรายละเอียดของแผนการออกวีซาพิเศษสำหรับนักท่องเที่ยว Special Tourist Visa หรือ STV) และก็อาจจะมีการหารือกันถึงมาตรการกระตุ้นการบริโภคเพิ่มเติมเกี่ยวกับแผนของรัฐบาลที่จะอุดหนุนการใช้จ่ายรายละ 3,000 บาท ซึ่งครม. รับทราบไปแล้วในสัปดาห์ที่แล้ว แต่ยังไม่ได้อนุมัติ

ธีมหุ้นที่เราสนใจ:

เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกชะลอลง และในระยะสั้นหุ้นขนาดใหญ่ยังคงถูกกดดันจากเกณฑ์การทำธุรกรรม short-sell เราจึงแนะนำให้นันกลงทุนเน้นหุ้นขนาดกลางในกลุ่มท่องเที่ยว เทคโนโลยีและหุ้นที่เกี่ยวข้องกับ 5G จากการเปิดตัว iPhone รุ่นใหม่ในเดือนตุลาคม โดยในหุ้นกลุ่มดังกล่าว... เราชอบ MINT* CENTEL* HANA* และ COM7*.