สศค.ชี้ไตรมาสสามเศรษฐกิจกระเตื้อง

สศค.ชี้ไตรมาสสามเศรษฐกิจกระเตื้อง

สศค.ระบุ เครื่องชี้เศรษฐกิจเริ่มส่งสัญญาณดีขึ้นนับตั้งแต่เดือนก.ค.ถึงส.ค.สะท้อนเศรษฐกิจไตรมาสจะขยายตัวได้ดีกว่าไตรมาสสองที่ติดลบ 12.2% พร้อมลุ้นรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย ชี้จะเป็นปัจจัยบวกสำคัญต่อทิศทางเศรษฐกิจไทย

นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)แถลงภาวะเศรษฐกิจประจำเดือนส.ค.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจเกือบทุกตัวเดือนดังกล่าว สะท้อนว่า เศรษฐกิจยังคงชะลอตัว แต่มีทิศทางที่ดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า นั่นหมายความว่า เศรษฐกิจไทยเริ่มปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่เดือนก.ค.และส.ค.ซึ่งจะส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสสามน่าจะขยายตัวดีขึ้นจากไตรมาสสองที่ขยายตัวติดลบ12.2%

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจปลายปีนั้น สศค.มองว่า ขณะนี้ การส่งออกก็เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น หากรัฐบาลผ่อนคลายให้ต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศได้ ก็น่าจะเป็นสัญญาณที่ดีต่อเศรษฐกิจไทย ทั้งนี้ ก่อนเกิดเหตุการณ์โควิด-19 จำนวนนักท่องเที่ยวเข้าไทยแล้วประมาณ 6.7 ล้านคน

ทั้งนี้ เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า โดยการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ปรับตัวดีขึ้น โดยขยายตัว -3.8% จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัว -11.6% สอดคล้องกับการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน ที่สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งที่ปรับตัวดีขึ้น โดยขยายตัว 14.8% จากเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล และหดตัวในอัตราชะลอลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 35.5% เช่นเดียวกันกับปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่หดตัวในอัตราชะลอลงที่-2.5%ต่อปี

ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากรายได้เกษตรกรที่แท้จริงขยายตัวเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันที่ 9.2% ต่อปี และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกันมาอยู่ที่ระดับ 51.0 หลังจากที่รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถกลับมาดำเนินการได้มากขึ้น ประกอบกับ ผลของมาตรการเยียวยาผลกระทบโควิด-19ในช่วงก่อนหน้า ช่วยให้มีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น

ด้านเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนและปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่ปรับตัวดีขึ้น โดยขยายตัว1.5% และ13.1%จากเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล และหดตัวในอัตราที่ชะลอลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -11.5% และ -0.5%ตามลำดับ

ส่วนการลงทุนในหมวดการก่อสร้างทรงตัวจากเดือนก่อน สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ขยายตัว 2.7% ต่อปี ในขณะที่การจัดเก็บภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์กลับมาลดลง-6.9%จากเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล และลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่-14.1%

ด้านเศรษฐกิจภาคการค้าระหว่างประเทศปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ หดตัวในอัตราที่ชะลอลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -7.9% ทั้งนี้ เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้า โดยจำแนกเป็นรายตลาดคู่ค้าหลักของไทย พบว่า ตลาดคู่ค้าหลักของไทยเกือบทุกตลาดปรับตัวดีขึ้น โดยการส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ ขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ที่ 15.2% ต่อปี เช่นเดียวกับการส่งออกไปญี่ปุ่น และอาเซียน 9 ประเทศ หดตัวชะลอลงที่-16.6% และ -13.5% ต่อปีตามลำดับ สะท้อนถึงแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปหลังจากประเทศคู่ค้าได้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทานปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกันมาอยู่ที่ระดับ 84.0 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการผ่อนคลายฯ ทำให้ภาคเอกชนสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ สำหรับภาคเกษตร ที่สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัว1.2%ต่อปี ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตในหมวดปศุสัตว์อาทิ ไก่เนื้อ ไข่ไก่ เป็นต้น

ขณะที่ สถานการณ์ของโควิด-19 ที่มีการระบาดทั่วทุกภูมิภาคของโลก ส่งผลให้ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยต่อเนื่องเป็นที่ 5 นับตั้งแต่เดือนเม.ย.ที่ผ่านมา แต่การท่องเที่ยวภายในประเทศปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยหดตัวในอัตราชะลอลงที่-32.4%ต่อปีจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัว -90%

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ -0.5% ต่อปี และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.3% ต่อปี ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2563 อยู่ที่ 47.0% ต่อจีดีพี ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง ส่วนเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนส.ค.2563อยู่ในระดับสูงที่ 254.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ