ธปท.ตั้งทีมงานศึกษา ไลเซ่นส์‘แบงก์ดิจิทัล’

ธปท.ตั้งทีมงานศึกษา ไลเซ่นส์‘แบงก์ดิจิทัล’

“แบงก์ชาติ” ลุยศึกษารูปแบบ “ธนาคารดิจิทัล” หลังต่างชาติเริ่มเปิดให้ใบอนุญาตทำธุรกิจ จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ขณะแบงก์พาณิชย์หันมาทำธุรกรรมบนดิจิทัลมากขึ้น เผยการศึกษาต้องรอบคอบว่า ตอบโจทย์-เอื้อคนไทยเข้าถึงบริการทางการเงินหรือไม่

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เตรียมเปิดให้ใบอนุญาต (ไลเซ่นส์) ธนาคารดิจิทัล หรือ Virtual Banking ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์รูปแบบใหม่ไร้สาขา โดยปัจจุบัน ธปท. ได้ตั้งทีมงานศึกษาเรื่องดังกล่าวว่า การเปิดให้บริการรูปแบบดังกล่าวในประเทศไทยควรมีรูปแบบอย่างไร ซึ่งในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ยุโรป สิงคโปร์ หรือ มาเลเซีย เริ่มเปิดไลเซ่นส์ธนาคารในรูปแบบดังกล่าวบ้างแล้ว

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า การให้บริการในรูปแบบ ธนาคารดิจิทัล ในไทยมีโอกาสเกิดขึ้นได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจุบัน การให้บริการของธนาคารพาณิชย์ต่างๆ สาขาก็เริ่มลดลง และหันไปตอบโจทย์ลูกค้าผ่านโมบายแบงกิ้ง และอินเทอร์เน็ตแบงกิ้งมากขึ้น ดังนั้นธปท.จึงต้องศึกษาแนวทางดังกล่าวให้ชัดเจน และต้องศึกษาด้วยว่าการให้บริการ ผ่านธนาคารดิจิทัลตอบโจทย์ในบริบทของไทยหรือไม่ 

ขณะเดียวกัน ต้องดูว่าตอบโจทย์การเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากน้อยแค่ไหน เพราะการให้บริการผ่านธนาคารดิจิทัล คงไม่ใช่เพื่อคนเมืองเท่านั้น แต่การให้บริการต้องตอบโจทย์คนในชนบท ในต่างจังหวัดด้วย ซึ่งธปท.ต้องพิจารณาให้รอบด้าน ครบวงจร เช่น การพิสูจน์ตัวตน หรือเควายซี ในการให้บริการทางการเงินว่ามีความปลอดภัยหรือไม่

“วันนี้มีทั้งผู้ให้บริการที่จะเปิดให้บริการรูปแบบนี้ทั้งในและต่างประเทศเข้ามาคุยกับเราเยอะ แต่ธปท.ก็มีทีมที่ศึกษาเรื่องนี้อยู่แล้ว โดยเฉพาะศึกษาจากเคสในต่างประเทศ แต่วันนี้ก็มีทั้งเคสที่ใช่และไม่ใช่ ดังนั้นเราพยายามหาอยู่ว่าแบบไหนตอบโจทย์"

นายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) BBL กล่าวว่า การให้บริการของระบบธนาคารในปัจจุบัน ถือว่าปรับเปลี่ยนไปสู่ช่องทางดิจิทัลมากขึ้น เห็นได้จากการให้บริการผ่านสาขา ตู้เอทีเอ็มต่างๆ ที่มีการใช้ลดลง และมุ่งไปสู่การทำธุรกรรมผ่านดิจิทัลมากขึ้น ทำให้การเกิดธนาคารดิจิทัลได้ในอนาคต ขณะนี้เริ่มมีการรับรู้ที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นหากธนาคารดิจิทัลเกิดขึ้นในอนาคตก็อาจไม่ใช่เรื่องแปลก แต่การเกิดขึ้นจะเหมือนรูปแบบที่มีการให้ไลเซ่นส์ในต่างประเทศได้หรือไม่อันนั้น ทางการคงต้องพิจารณาในอนาคต

การเกิดบริการทางการเงินใหม่ๆ ก็มีหลายมิติที่ต้องพิจารณา ทั้งการเข้าถึงบริการทางการเงินที่เป็นเรื่องท้าทายในอนาคต รวมถึงมิติการแข่งขันที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งในด้านการปรับตัวของธนาคาร ปัจจุบันธนาคารกรุงเทพ ก็เริ่มมีการปรับตัวไปสู่ดิจิทัลมากขึ้น

นายชาลี อัศวธีรธรรม รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Data ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ธนาคารดิจิทัลแบบไม่มีสาขานั้น เป็นสิ่งที่น่าสนใจ หากมีขอบเขตการประกอบธุรกิจที่เอื้อให้ธนาคารดิจิทัลสามารถนำเสนอประสบการณ์ทางการเงินแบบดิจิทัลได้อย่างเต็มรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น full digitized process หรือการเปิดกว้างในการนำเสนอนวัตกรรมการเงินบนเทคโนโลยีต่อผู้บริโภค บนกรอบของเกณฑ์ที่มีความยืดหยุ่นและทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเทคโนโลยี