เตรียมพร้อมนับ 1 กับเศรษฐกิจขาขึ้น

เตรียมพร้อมนับ 1 กับเศรษฐกิจขาขึ้น

เมื่อวัคซีนโควิด-19 เริ่มมีการทดลองกับคนแล้ว แม้มีข้อกังขาอยู่ แต่ทำให้นักลงทุนบางส่วนเริ่มวางแผนการลงทุน ประกอบกับแต่ละประเทศใช้นโยบาย Easing กระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ นำไปสู่ภาวะเปลี่ยนผ่านจากเศรษฐกิจหดตัวสู่เศรษฐกิจฟื้นตัว

ถึงแม้ที่ผ่านมาตัวเลขเศรษฐกิจทั่วโลกในไตรมาส 2 ปีนี้ออกมาหดตัวอย่างมาก เนื่องด้วยการออกมาตรการปิดเมืองหรือปิดประเทศ (Lockdown) เพื่อลดการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 แต่ในด้านบริษัทจดทะเบียนกลับมีทั้งกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ เช่น กลุ่มธนาคาร ที่ความเสี่ยงหนี้ NPL มากขึ้น และกลุ่มพลังงาน ที่ความต้องการใช้เชื้อเพลิงลดลงทั่วโลก เป็นต้น

และในทางตรงข้ามก็มีกลุ่มธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์จากการ Lockdown เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มนวัตกรรมทางการแพทย์ เช่น กลุ่ม Digital Healthcare หรือ Biotechnology กลุ่ม E-commerce กลุ่มบริษัทที่ให้บริการ Cloud Computing รวมไปถึงกลุ่มเทคโนโลยีด้านการศึกษา ที่มีรายได้เติบโตอย่างก้าวกระโดดและมีกำไรเติบโตสวนทางกับเศรษฐกิจ

แต่ “งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา” เฉกเช่นเดียวกับการระบาดของไวรัสย่อมมีจุดจบในอนาคต ปัจจัยสำคัญ คือ วัคซีนป้องกันโรคที่จะเป็นสิ่งที่กำหนดว่าการระบาดจะบรรเทาลงเมื่อใด และกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นเมื่อไร โดยปัจจุบันมีวัคซีนจากบริษัทสัญชาติรัสเซีย 1 แห่ง และบริษัทสัญชาติจีนอีก 4 แห่งที่ได้อนุมัติให้ใช้วัคซีนในกลุ่มคนจำกัดได้แล้ว

ถึงแม้จะมีข้อกังวลจากนักวิทยาศาสตร์ว่าเป็นการเร่งรัดให้ใช้เร็วเกินไป และอาจเกิดความเสี่ยงต่อผู้รับการฉีดวัคซีนได้ แต่ก็เพียงพอทำให้นักลงทุนบางส่วนเริ่มวางแผนการลงทุนในกรณีที่ประชากรโลกมีโอกาสจะเข้าถึงวัคซีนได้ภายในปี 2021 โดยศึกษา วางแผน และกำหนดกลยุทธ์การลงทุนให้เหมาะสมกับช่วงเปลี่ยนผ่านจากภาวะเศรษฐกิจหดตัวจากไวรัสระบาดสู่ภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวเมื่อมีวัคซีน

ลักษณะของภาวะเศรษฐกิจหดตัวนั้นจะมีระดับอัตราเงินเฟ้อต่ำสะท้อนการบริโภค การจ้างงาน และการลงทุนที่ซบเซา หากเป็นเช่นนี้แต่ละประเทศจะใช้นโยบายการเงินและการคลังแบบผ่อนคลายหรือที่เรียกว่า Easing เพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว ไม่ว่าจะเป็นการลดดอกเบี้ยให้อยู่ระดับต่ำเพื่อลดต้นทุนการกู้ยืม การอัดฉีดสภาพคล่องสู่ระบบธนาคาร (QE) หรือการให้เงินอุดหนุนแก่ประชาชนโดยตรงเพื่อกระตุ้นการบริโภค

เมื่อนโยบายส่งผลจนทำให้การบริโภค การจ้างงาน และการลงทุนเพิ่มขึ้น จะเป็นตัวผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อค่อยๆ เพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันเมื่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจะเกิดการกู้ยืมทั้งเพื่อการบริโภคและการลงทุนมากขึ้น และผลักดันให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวที่อ้างอิงด้วยดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี เพิ่มขึ้นจากความต้องการกู้ยืมที่มากขึ้น

เพราะฉะนั้นภาวะที่อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยระยะยาวกำลังเพิ่มขึ้นจากการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นภาวะเปลี่ยนผ่านจากเศรษฐกิจหดตัวสู่เศรษฐกิจฟื้นตัว เรียกว่า Reflation

สำหรับการลงทุนในช่วง Reflation หากนักลงทุนต้องการแสวงหาผลตอบแทนจากการลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินที่สูงที่สุด โดยสถิติย้อนหลังพบว่า ผลตอบแทนเฉลี่ยแต่ละเดือน “ตลาดหุ้น” จะให้ผลตอบแทนเป็นบวก แต่หากแบ่งลักษณะของหุ้นในแต่ละกลุ่มจะพบว่า หุ้นมูลค่า (Value Stock) จะให้ผลตอบแทนสูงกว่าตลาด หากใช้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มาอ้างอิง เช่น กลุ่มธนาคาร และกลุ่มพลังงาน เป็นต้น ซึ่งเป็นกลุ่มที่จะมีกำไรเติบโตตามวัฏจักรเศรษฐกิจ หรือหากเราแบ่งเป็นกลุ่มตลาดหุ้นในแต่ละภูมิภาค พบว่าตลาดหุ้นในประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ที่ปัจจุบันนำโดยตลาดหุ้นจีน ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยดีกว่าตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้ว (Developed Market) ทั้งหมดนี้สามารถสรุปได้ว่า ในภาวะ Reflation ตลาดหุ้นยังมีความน่าสนใจ ซึ่งน่าจะเกิดภาวะนี้ในอีก 1–2 ปีข้างหน้าที่เป็นช่วงที่วัคซีนมีโอกาสได้ใช้จริง และช่วยให้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจกลับมาดีขึ้นอีกครั้ง และเป็นจังหวะที่กลุ่มหุ้นดั้งเดิมอาจกลับมามีความน่าสนใจและเริ่มทยอยลงทุนได้

อย่างไรก็ดี กลุ่มธุรกิจที่ได้อานิสงส์จากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ข้างต้น หากเราพิจารณาจัดไว้อยู่ในกลุ่มหุ้นเติบโต (Growth Stock) พบว่ายังสามารถให้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับตลาดได้ เพราะฉะนั้น กลุ่ม Growth Stock ยังสามารถลงทุนได้ แต่สำหรับนักลงทุนที่มีสัดส่วนการลงทุนในกลุ่มนี้ทั้งหมด 100% อยู่ อาจทยอยปรับสัดส่วนจาก Growth Stock สู่ Value Stock เพื่อเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุน ซึ่งถือว่าน่าสนใจไม่ใช่น้อย

ฉะนั้น ถึงแม้ว่าวันที่จะมีวัคซีนให้ใช้จริงจะยังไม่แน่นอน แต่ไม่ช้าก็เร็วเราจะมีโอกาสผลิตและสามารถใช้วัคซีนได้สำเร็จ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจนำพาเศรษฐกิจฟื้นตัว หรือเข้าสู่ภาวะ Reflation ได้ แต่หากนักลงทุนต้องการเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดหุ้น ซึ่งที่ผ่านมาได้ผลตอบแทนจากกลุ่ม Growth Stock โดยเฉพาะกลุ่ม Megatrends หลังจากนี้อาจเป็นช่วงเวลาที่ต้องเริ่มศึกษากลุ่มหุ้น Value Stock เช่น กลุ่มธนาคาร กลุ่มพลังงาน หรือกลุ่มท่องเที่ยว ที่ยังมีฐานะการเงินมั่นคงและอยู่รอดจากสถานการณ์ที่ผ่านมา เพื่อเตรียมพร้อมปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์และสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนเพิ่มเติมได้ในอนาคต

หากท่านใดมีข้อข้องใจเกี่ยวกับการวางแผนการเงินของตนเอง สามารถส่งคำถามของท่านมาได้ที่ [email protected] I บทความโดย ศิวกร ทองหล่อ AFPTTM Wealth Manager