อาร์ทิฟิเชี่ยลฯ เปิดแผนโต ‘สมาร์ทเซ็นเซอร์’ ตรวจเครื่องดื่ม 10 วินาที

อาร์ทิฟิเชี่ยลฯ เปิดแผนโต ‘สมาร์ทเซ็นเซอร์’ ตรวจเครื่องดื่ม 10 วินาที

“อาร์ทิฟิเชี่ยล เอนีทิงก์” สตาร์ทอัพสายฟู้ด นำความเชี่ยวชาญด้านคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) พัฒนา “เครื่องมือตรวจสอบคุณภาพวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแบบพกพาด้วย เทคนิค EIS” เพื่อเป็นผู้ช่วยตรวจสารปนเปื้อนได้ภายในเวลา 10 วินาที

รู้หรือไม่เครื่องดื่มที่เราซื้อกันอยู่ทุกวันนี้ ต้องผ่านการทดสอบสารปนเปื้อนในแล็บที่กินเวลานานหลายชั่วโมง ซึ่งเสียทั้งเวลา และกระบวนการทำงาน หากมีเครื่องมือที่จะช่วยตรวจสารปนเปื้อน หรือรสชาติความเหมาะสมของเครื่องดื่มได้ตามที่เราต้องการก็จะเป็นการดีไม่น้อย “อาร์ทิฟิเชี่ยล เอนีทิงก์” สตาร์ทอัพสายฟู้ดเทคในโครงการสเปซ-เอฟ จึงนำความเชี่ยวชาญที่มีมาพัฒนาเป็นเครื่องมืออัจฉริยะเพื่อเป็นผู้ช่วยในการตรวจคุณภาพวัตถุดิบได้อย่างหลากหลายด้วยเทคนิค EIS ได้อย่างรวดเร็ว ภายในเวลาเพียงแค่ 10 วินาที

ด่านสกัดสารตกค้าง

ผศ.ดร.ณัทเดชาธร พวงเงินมาก ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีนวัตกรรม บริษัท อาร์ทิฟิเชี่ยล เอนีทิงก์ จำกัด (Artificial Anything) อธิบายว่า เทคนิค EIS (Electromagnetic Image Spectroscopic) คิดค้นและพัฒนาโดยกลุ่มนักวิจัยและวิศวกรไทยที่ได้จดสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว เป็นการพัฒนาต่อยอดจากงานวิจัยการตรวจสอบการปนเปื้อนของโลหะหนักในอุตสาหกรรมน้ำเสียในเบื้องต้น ไปสู่การตรวจสอบการหาปริมาณดัชนีความเข้มข้นของความหวานในของเหลว

160121301770

แนวคิดคือการนำกระบวนการตรวจสอบทางแล็บ มาดัดแปลงเป็นเครื่องมือขนาดเล็ก มีความแม่นยำสูง นำมาใช้ในการตรวจสอบในงานผลิตต่างๆ เพื่อลดระยะเวลาในการตรวจสอบในห้องแล็บ ลดความเสี่ยงในการได้วัตถุดิบไม่ได้มาตรฐาน ลดการใช้ผู้เชี่ยวชาญชิมรสชาติ และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการส่งตรวจ ส่วนการใช้งานนั้นถูกออกแบบให้ใช้ได้ง่ายเพื่อบุคลากรที่ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ จึงไม่มีความซับซ้อนในการใช้งาน เพียงแค่กดปุ่ม และตัวเครื่องจะแสดงผลว่า ผ่าน หรือ ไม่ผ่านเกณฑ์ ตามข้อมูลวัตถุดิบที่ทางทีมงานสร้างฐานข้อมูลหรือ library ร่วมกับลูกค้า

“ยกตัวอย่างเช่น ผลไม้ หรือ เครื่องดื่มมีค่ามาตรฐานความหวานความเปรี้ยวตรงตามที่เราต้องการหรือไม่ หรือในบางกรณีที่มีวัตถุดิบหลายพันลิตร การมีผู้ชิมไม่กี่คนก็ไม่พอ หากจะมีคนเยอะขึ้นต้องใช้เวลาและเสียค่าใช้จ่าย ใช้การชิม 1-2 นาทีโดยประมาณ แต่หากใช้ชุดตรวจนี้ซึ่งใช้เวลาเพียง 10 วินาทีก็จะรู้ผล”

160121306542

ในอนาคตหากโรงงานจะขยายไลน์การผลิต ไม่จำเป็นต้องนำผู้เชี่ยวชาญตามไปด้วย แค่ใช้เครื่องนี้ก็เพียงพอ เนื่องจากเครื่องสามารถอัพเกรดเปลี่ยนจากการตรวจผลไม้ไปสู่กาแฟ เพียงแค่โหลดไลบรารี่ก็สามารถวัดได้โดยไม่จำเป็นต้องซื้อเครื่องใหม่

ทีมงานยังพัฒนาโปรดักต์ให้มีต้นทุนต่ำ มีขนาดเล็กพกพาสะดวก ขณะที่ประสิทธิภาพแม่นยำกว่าเซ็นเซอร์อุตสาหกรรมที่มีอยู่ในท้องตลาด ซึ่งเป็นเซ็นเซอร์แสง เนื่องด้วยเทคนิค EIS ใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าตรวจสอบวัตถุดิบ ทำให้ไม่มีปัญหาการกระเจิงของแสง อีกทั้งฐานข้อมูลที่เกิดจากการวัดยังช่วยเพิ่มความแม่นยำขึ้นตามจำนวนตัวอย่างที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน (machine learning)

วางโมเดลเช่าง่ายรายเดือน

ผศ.ดร.ณัทเดชาธร กล่าวต่อไปว่า บริษัทฯ ได้ร่วมมือกับโรงงานผลิตน้ำผลไม้แห่งหนึ่ง ในการตรวจสอบวัตถุดิบที่ได้มาจากแหล่งปลูกต่างๆ ซึ่งเสี่ยงมีสารปนเปื้อนในน้ำผลไม้อาจก่อให้เกิดความเสียหายทางด้านรายได้และความน่าเชื่อถือ อีกทั้งขณะนี้กำลังพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมให้สามารถใช้ได้กับการวัดไบโอดีเซล คาเฟอีนและแอลกอฮอล์ เพื่อที่จะแก้ปัญหาสารปนเปื้อนโดยไม่จำเป็นต้องส่งตรวจในแล็บ

160121309177

“ส่วนแผนธุรกิจที่วางไว้คือ โมเดลการสร้างรายได้แบบซับสคริปชั่น (subscription) หรือการเป็นสมาชิก ซึ่งสร้างรายได้แบบต่อเนื่องเป็นวงรอบรายเดือน เป็นหนึ่งในโมเดลธุรกิจที่มาแรง คือไม่ต้องซื้อเครื่อง ค่าเช่าอยู่ที่ 800 ดอลลาร์ หรือประมาณ 30,000 บาทต่อเดือน การใช้งานเพียงไม่กี่ครั้งก็สามารถคืนทุนได้ ส่วนช่องทางจัดจำหน่าย เราวางแผนที่จะจัดจำหน่ายโดยตรงกับทางโรงงาน ฟาร์มเกษตร ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของผลิตภัณฑ์ และเจาะกลุ่มลูกค้าผ่านตามงาน convention expo”

ส่วนแผนการตลาดเป็นรูปแบบ B2B โดยที่จะเน้นสร้างความสัมพันธ์ระยะยาวกับกลุ่มโรงงานผลิต ในเบื้องต้นจะเป็นการทดสอบตัวผลิตภัณฑ์ เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่ค่อนข้างใหม่ จึงต้องการผู้ใช้งานที่หลากหลายเพื่อที่จะสามารถแก้ปัญหาตรงจุดของอุตสาหกรรมนั้นๆ

160121310834

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันได้มีการต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์แล้ว โดยทางบริษัทฯ ได้เล็งเห็นถึงความเป็นไปได้ในการนำนวัตกรรมที่มีไปใช้ในงานอุตสาหกรรมหลากประเภท อาทิ อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม เกษตรกรรม (precision farming) เช่น การปลูกผักไฮโดรโปนิก และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อตรวจวัดคุณภาพน้ำในการเลี้ยงปลา ซึ่งมีศักยภาพที่จะพัฒนาไปเป็นโมเดลธุรกิจแบบ software as a service ได้ในอนาคต